สธ.พบผู้ป่วยโควิดสูงขึ้นช่วงหน้าหนาว แนะฉีดเข็มกระตุ้น-หมอยงแนะ 7 วิธีเอาตัวรอดจากโควิดสายพันธุ์ใหม่

by ThaiQuote, 24 พฤศจิกายน 2565

สธ.พบผู้ป่วยโควิดสูงขึ้นช่วงหน้าหนาว สั่งรพ.ขยายวันให้บริการวัคซีน ย้ำฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกัน ด้านนพ.ยง แนะแนวทางเอาตัวรอดจากโควิด-19 หลังเชื้อกลายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายขึ้น

 

 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มมีอากาศหนาว ส่งผลต่อการแพร่เชื้อโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ที่เริ่มมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และได้แพร่กระจายไปหลายประเทศ

"สายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งใช้จับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน การพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบ่งชี้ว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาด แต่ยังไม่มีรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเดิม โดยในประเทศไทยมีรายงานพบสายพันธุ์ BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานสัดส่วนของผู้ติดเชื้อ BA.2.75 ในประเทศเพิ่มขึ้นมากจากเดือนที่แล้ว เพิ่มจาก 23.2% เป็น 43.9% อย่างไรก็ตาม สามารถใช้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่รักษาได้ และวัคซีนที่มีอยู่รวมถึงแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibodies; LAAB) ยังสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ได้" นพ.ธเรศ กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้โรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดสำนักปลัดฯ และกรมการแพทย์ ขยายวันที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงวัคซีน รวมทั้งสถาบันบำราศนราดูรสังกัดกรมควบคุมโรคที่เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของชายอายุ 38 ปี ติดโควิดนอนเสียชีวิตในคอนโด เมื่อวันที่ 23 พ.ย.65 จากข้อมูลการสอบสวนโรคเบื้องต้น โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร พบว่า ชายคนดังกล่าวได้รับวัคซีน 3 เข็ม ได้รับเข็มสุดท้ายในเดือน ม.ค.65 นานมากกว่า 10 เดือน ขณะนี้รอผลการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งจะทราบผลเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการป่วยตายจากโควิดมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่รายงานในแต่ละวัน และกลุ่มนี้หากรับวัคซีนครบแล้วเข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนขึ้นไป ให้เข้ารับวัควีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอจะสามารถป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิตได้ โดยสามารถเข้ารับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

หมอ ยง แนะวิธีเอาตัวรอดจากโควิด-19

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ว่า เชื้อไวรัสโควิค-19 ติดต่อได้ง่ายขึ้น โดยช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้พัฒนาตัวเองเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายโรคได้ง่าย แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าสายพันธุ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามาโดยตลอด

 

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

"สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายก็จะเข้ามาแทนที่ ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง เกิดจากมีภูมิต้านทาน จากวัคซีนหรือการติดเชื้อ ร่างกายของคนทั้งหมดรู้จักเชื้อไวรัสตัวนี้ และเมื่อเกิดการติดเชื้อ ทำให้อาการลดลง ยกเว้นผู้ที่มีร่างกายเปราะบาง" นพ.ยง ระบุ
การหลีกหนีให้หลุดรอดจากการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ ต่อไปจะทำได้ยากยิ่งขึ้น หลังมีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตสู่ภาวะปกติ ดังนั้นแนวทางการปฏิบัติที่จะทำได้ในขณะนี้ ได้แก่

1. ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่า ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย ความสะอาด กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

2. สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ด้วยการรับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และใครได้รับเข็มสุดท้าย หรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 6 เดือน อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นอย่างยิ่ง หรือใครคิดว่าเสี่ยงต่อการติดโรคได้ง่าย ก็สมควรที่จะได้รับวัคซีนในการป้องกัน เช่น บุคลากรด่านหน้า

3. หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด คนหมู่มาก ถ้าจำเป็นต้องไปก็ต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการป้องกันตนเอง คนปกติแข็งแรงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK เช่น จะไปโรงเรียน

4. เมื่อมีอาการต้องสงสัยโรคทางเดินหายใจ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย เช่น ตรวจ ATK ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และป้องกันการกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น

5. เมื่อติดเชื้อหรือป่วย ควรดูแล รับการรักษาอย่างเหมาะสม เก็บตัวอย่างน้อย 5 วัน ป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น หลังจากนั้นถึงแม้จะออกสู่สังคมก็ควรป้องกันของโรคต่ออีก 5 วัน

6. อาการที่ยังคงอยู่หลังโควิด-19 (ลองโควิด) จะเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกๆ และส่วนใหญ่จะหายไป ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกี่ยวกับความรู้สึก โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปตื่นกลัวอย่างที่มีการให้ข่าวกัน ประชากรส่วนใหญ่ขณะนี้มีการติดเชื้อไปแล้วหรือป่วยไปแล้วประมาณ 70% ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็ดำรงชีวิตได้อย่างปกติไม่ได้มีปัญหาอะไร

7. ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไปในภาวะปัจจุบัน ไม่ควรให้โควิด-19 มาเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสีเขียวของอินโดนีเซียเป็นเรื่องจริงจัง
https://www.thaiquote.org/content/248807

วัสดุใหม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรของแผงเซลล์แสงอาทิตย์อินทรีย์
https://www.thaiquote.org/content/248799

ครม.ออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบสินค้าชำรุดภายใน 2 ปี
https://www.thaiquote.org/content/248789