“รวงผึ้ง” พรรณไม้ประจำพระองค์ รัชการที่ 10

by ThaiQuote, 16 มีนาคม 2566

ด้วยมีดอกสีเหลือง อันเป็นสีประจำวันประราชสมภพ และออกดอกตรงกับช่วงเดือนพระราชสมภพของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรากูล รัชการที่ 10

 

ต้นรวงผึ้ง

ชื่ออื่น ๆ : ดอกน้ำผึ้ง (เหนือ) น้ำผึ้ง (กรุงเทพ) กะสิน,กาสิน (สกลนคร,นครพนม)

ชื่อสามัญ : Yellow star

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schoutenia glomerata King subsp. paregrina (Craib) Roekm.

วงศ์ : Malvaceae

ลักษณะ

เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 5-15 เมตร แตกกิ่งต่ำหรือค่อนข้างสูง มีเรือนยอดเป็นพุ่มกลม-รี ค่อนข้างแน่น ไม่แผ่กว้างมากนัก เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีพุ่มใบเขียวเข้มตลอดปี ใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 4-8 เซนติเมตร มีจุดสังเกตอย่างง่ายๆ ให้ดูที่ผิวใบด้านล่างมีขนสีขาวเงินหนาแน่น และมีเส้นใบออกจากโคนใบ 3 เส้น ดอกมีสีเหลืองสดคล้ายรูปดาว 5 แฉก ดอกบานกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อดอกแบบกระจุกค่อนข้างแน่น ตามกิ่งที่ยังมีใบ และมีกลิ่นหอม ผลมีขนาดเล็ก มีระบบรากลึก ไม่แผ่กว้างในระดับตื้น

ถิ่นอาศัย

เป็นพืชพื้นเมืองของที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และลุ่มน้ำโตนเลสาบในประเทศกัมพูชา มักพบขึ้นตามริมน้ำในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง หรือในป่าบุ่งป่าทาม (ป่าที่ราบริมแม่น้ำที่มีระดับน้ำท่วมถึง) ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 เมตร

ปัจจุบันเป็นพืชที่หายากมาก มีสถานะภาพใกล้จะสูญพันธุ์ในธรรมชาติอย่างยิ่ง เนื่องจากป่าบุ่งป่าทามได้ถูกทำลายไปจนเกือบหมด ต้นตามธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่พบตามหย่อมป่าที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ใกล้ริมแม่น้ำน่านในเขต จ.นครสวรรค์ และที่ริมแม่น้ำสงคราม ในเขต อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และอ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เท่านั้น

ต้นรวงผึ้งที่เราเห็นส่วนใหญ่จะเป็นไม้ปลูกอยู่ตามวัดหรือบ้านเรือนในภาคกลางและภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่

การปลูก-การดูแล

ต้นรวงผึ้ง ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยเมล็ด ส่วนใหญ่ผลจะแก่ในช่วงฤดูที่น้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะงอกเป็นต้นกล้าอยู่ตามพื้นดินใกล้ต้นแม่

สำหรับต้นที่ขายอยู่ตามท้องตลาดเกือบทั้งหมดขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ซึ่งใช้ฮอร์โมนทาที่รอยควั่นพอกด้วยขุยมะพร้าวช่วยเร่งการแตกราก ซึ่งกิ่งกระโดงที่แตกจากโคนต้นจะมีการเจริญเติบโตได้ดีที่สุด สำหรับต้นที่ปลูกด้วยกิ่งตอนจะให้ดอกเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 5 ปี แต่สำหรับต้นที่เพาะจากเมล็ดอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น โดยเฉพาะการเจริญเติบโตช่วง 5 ปีแรกจะค้อนข้างช้า หากได้รับการดูแลที่ดีอาจให้ดอกชุดแรกในปีีที่ 7-8

ในธรรมชาติ ต้นรวงผึ้งเป็นพืชที่ขอบขึ้นอยู่กลางแจ้งหรือชายป่า บนพื้นที่ความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่มีการนำไปปลูกบนพื้นที่สูงถึง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก็สามารถออกดอกได้ โดยปกติเป็นพืชที่ชอบน้ำและดินที่ชุ่มชื้นเกือบตลอดปี การให้น้ำอยู่เสมอเพื่อรักษาความชื้นในดินไว้ตลอดเวลาจะช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างรวดเร็วไม่หยุดชะงัก ยกเว้นช่วงฤดูฝน ต้นรวงผึ้งที่สูงเกินกว่า 3 เมตรแล้วไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำ เพราะต้นไม้มีระบบรากหากินเองได้ดีแล้ว และการลดให้น้ำในช่วงดังกล่าว ยังเป็นการกระตุ้นการสร้างดอกได้ดีอีกด้วย

ดินร่วนเป็นดินที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกต้นรวงผึ้ง เพราะเป็นดินในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ แต่ก็สามารถเติบโตได้ในดินร่วนปนดินเหนียว หรือดินร่วนปนทราย โดยพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกจะต้องมีชั้นดินลึกมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ดินเก็บรักษาความชุ่มชื้นได้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและไม่ผลัดใบ รวงผึ้งสามารถทนต่อน้ำท่วมขังและดินที่ชื้นแฉะในฤดูฝนได้ดี

การติดดอก-ออกผล

ต้นรวงผึ้ืงแต่ละต้นจะมีดอกบานไม่พร้อมกันในช่วงเดือน กรกฎาคม-ตุลาคม ขึ้นอยู่กับระดับความชื้นในดิน ความสมบูรณ์ของต้นและสภาพอากาศของแต่ละปี บางครั้งอาจพบเห็นต้นรวงผึ้งออกดอกนอกฤดูกาลปรกติก็ได้ การติดผลแก่ ปกติจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

สิ่งที่เป็นเสน่ห์ชวนให้ผู้พบเห็นประทับใจต้นรวงผึ้ง คือ ดอกที่มีสีเหลืองสด ซึ่งจะออกดอกเป็นจำนวนมาก สะพรั่งพร้อมๆกันทั่วทั้งต้น อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆดึงดูดทั้งสายตาและจมูกของคนที่ผ่านไปมา นกกินน้ำหวาน และผึ้งบินตอมดอกเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่มาของชื่อต้นไม้ต้นนี้

ผู้ได้เห็นดอกรวงผึ้งเหมือนถูกสะกด กระตุ้นความอยากนำไปปลูกไว้ชมที่บ้านตนเอง

รวงผึ้ง จึงเป็นต้นไม้ที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการปลูกทั้งในพื้นที่สวนสาธารณะ ตามข้างทาง สถานที่ราชการ วัด หรือตามบ้านเรือนที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

สิงโตทะเลมากกว่า 500 ตัวและนกกว่า 55,000 ตัวเสียชีวิตจากไข้หวัดนกในเปรู
https://www.thaiquote.org/content/249749

เซลล์พืชที่กำลังจะตายเตือนเซลล์ที่แข็งแรงให้ช่วยตัวเองจากโรคร้าย
https://www.thaiquote.org/content/249732

สุนัขในเชอร์โนปิลสามารถสอนนักวิทยาศาสตร์ว่ามนุษย์สามารถใช้ชีวิตภายใต้ 'การทำร้ายสิ่งแวดล้อม' ได้อย่างไร
https://www.thaiquote.org/content/249673