ออมบุญวันละ 1 บาท สร้างชุมชน“ล้อมแรด” ลำปาง เข้มแข็ง ยั่งยืน

by ThaiQuote, 12 มิถุนายน 2566

ตำบลล้อมแรดนำภูมิปัญญาและฝีมือการทอผ้าที่สืบต่อกันมาเป็น 100 ปี และเป็นต้นทุนของชุมชนที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มและการต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ และนำกิจกรรมกองทุนสวัสดิการออมบุญวันละ 1 บาทเพื่อสร้างสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น เป็นหลักประกันชุมชนให้ยั่งยืน

 

จากกลุ่มทอผ้ามาสู่ต้นแบบนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลล้อมแรดเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ตำบลล้อมแรด เป็นแอ่งกระทะที่มีภูเขาล้อมรอบอยู่กลางอำเภอเถิน มีแม่น้ำวังที่ไหลมาจากภูเขาในอำเภอวังเหนือไหลผ่าน ตำบลล้อมแรดอยู่ห่างตัวเมืองลำปางราว 90 กิโลเมตร มีพื้นที่ 43 ตารางกิโลเมตร ล้อมแรดมีประชากร 14,772 คน (จากข้อมูลปี 2560)ชาวบ้านอาชีพเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทำนา ปลูกส้ม และผู้หญิงมีทักษะในการทอผ้า ผ้าทอมือเป็นสินค้าเด่นของล้อมแรด

ในอดีต ล้อมแรดจะเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝ้ายกันมาก ชาวบ้านจะนำฝ้ายที่ปลูกเองมานำมาทอเป็นผ้าไว้ใช้เอง ทุกบ้านจะมีเครื่องมือทอผ้าที่เป็นไม้ เป็นการทอมือที่เรียกว่าทอเขาฝ้าย เนื่องจากล้อมแรดอยู่ทางภาคเหนือและถูกโอบล้อมด้วยภูเขา ในหน้าหนาวจึงมีอากาศหนาวเย็น ชาวบ้านทุกบ้านจะทอผาห่มไว้ใช้เอง ผ้าห่ม “ตั๊กกะโต๋” เป็นชื่อผ้าห่มที่ชาวบ้านเรียกกัน

ยุพิน เถาเปี้ยปลูก ประธานกองทุนสวัสดิการออมบุญวันละ 1 บาทเพื่อสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ตำบลล้อมแรด เล่าว่า “ตั้งแต่เกิดมาที่ล้อมแรด ก็เห็นชาวบ้านปลูกฝ้ายกันทั้งตำบล กรรมวิธีก่อนจะเป็นเส้นฝ้าย มีการเก็บฝ้าย อิดฝ้าย คือแยกเม็ดฝ้ายออกจากปุย ตากฝ้าย ก่อนจะเป็นเส้น แล้วเอามาทอด้วยมือ ใช้เครื่องทอแบบดั้งเดิมมีการทอผ้าเป็นลายของท้องถิ่น”

ภูมิปัญญาและฝีมือการทอผ้าของชาวบ้านล้อมแรดสืบต่อกันมาเป็น 100 ปี และเป็นต้นทุนของชุมชนที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มและการต่อยอดไปสู่ประเด็นอื่นๆ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตในปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลงโดยเฉพาะคนชั้นกลางและเจ้าของกิจการในเมือง กระแสวิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลกระทบในวงกว้างนี้ แม้จะไม่กระทบภาคชนบทอย่างล้อมแรดมากนัก แต่ก็ทำให้เกิดความตระหนักว่าชุมชนควรจะมีภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนของวิกฤติในอนาคตที่อาจกระทบกับชนบท ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้เอง ประกอบกับนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติคือการสนับสนุนให้ชุมชนรวมกลุ่มสร้างรายได้จากอาชีพจากทุนชุมชนที่มีอยู่เดิม จึงเกิดแนวความความคิดในการทำอาชีพในชุมชนโดยกลุ่มแรกคือกลุ่มเย็บผ้า ทอผ้า กลุ่มแม่บ้านทอผ้าจึงเกิดขึ้นในปี 2540 พร้อมกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ

กลุ่มทอผ้าล้อมแรดมีสมาชิกราว 30 คน เป็นแม่บ้านที่ทอผ้าสืบต่อกันมาในแต่และครอบครัว แต่ไม่มีการรวมกลุ่มกันเป็นทางการ กลุ่มแม่บ้านทอผ้าตั้งกลุ่มขึ้นในปี 2540 เริ่มแรกเป็นกลุ่มผ้าแบบทอมือ ไม่ใช่กลุ่มตัดเย็บ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอ มีลวดลายดั้งเดิม “เมื่อก่อนเราทำจก เรียกว่าลายเกร็ดเต่า” ยุพิน บอกจากการรวมกลุ่มแม่บ้านตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น จากกลุ่มอาชีพจึงเกิดแนวความคิดที่จะพัฒนาการรวมกลุ่มที่มีการช่วยเหลือกันมากขึ้น โดยอยู่บนฐานของคุณค่าดั้งเดิมของชุมชนแล้วจึงเกิดกองทุนสวัสดิการขึ้นในหมู่บ้านในปี 2542 ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงแรก ๆ ที่มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขึ้นในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ ในปี 2545 ตำบลล้อมแรดได้ก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา

“เริ่มจากกลุ่มอาชีพ จุดประกายจากเรื่องนี้ ได้เห็นเรื่องการรวมกลุ่มหลาย ๆ กลุ่ม อยากเข้าไปร่วมบ้าง ก็เลยไปสมัครเป็นสมาชิก เป็นเลขาของกองทุน กองทุนนี้เป็นเรื่องของคนยากคนจนไม่มีสตางค์ เข้าถึงสวัสดิการยากเห็นแล้วจึงอยากเข้ามาทำเข้ามาช่วย”ในปี 2542 กองทุนสวัสดิการชุมชนจึงเกิดขึ้น จุดเริ่มแรกคือบ้านดอนไชย “ตอนนั้นคือมองการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นคุณค่าของคนเหนือ เรื่อง สงเคราะห์ เมื่อก่อนคิดเพียงเรื่องการตายแล้วมาช่วยเหลือกัน วัฒนธรรมทางเหนือ เมื่อคนมีคนตาย เขาจะเอาข้าว มา “ฮอม” คือมาช่วยงาน พอมาทำเรื่องสวัสดิการ ก็มองว่าไม่น่าจะแค่เรื่องการมาช่วยงานเรื่องการตายอย่างเดียว ก็พยายามไปแลกเปลี่ยนไปเรียนรู้ อะไรที่มันมากกว่าตาย ก็ต้องมีเรื่องเกิดแก่ เจ็บ ตาย เรียนรู้ ลองทำ ลองผิดลองถูกลองทำไปเรื่อย ๆ”

เมื่อเริ่มตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนโดยมีสมาชิกส่วนใหญ่จากบ้านดอนไชย เธอเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเรื่องใหม่ในยุคเริ่มต้นของการมีกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยในตำบลก็มีกองทุนประเภทอื่นอยู่ด้วย แต่เธอมองเห็นว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนทำหน้าที่ทางสังคมต่างจากกองทุนอื่นในตำบลที่ทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว“ภายหลังมีการตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยห่างเหินก็หันมาร่วมมือ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนมากขึ้น และมีความแตกต่างจากกองทุนอื่นๆ ที่มุ่งให้สมาชิกกู้ยืมเงิน ซึ่งมักจะมีปัญหาและสร้างความแตกแยกให้กับชุมชนอย่างมาก” เธอให้สัมภาษณ์เมื่อ 15 ปีก่อน และเธอยังมองถึงอนาคตอีกว่า "ฉันอยากให้หน่วยงานท้องถิ่น เข้ามาสนับสนุนกองทุนของชาวบ้านมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งด้านงบสนับสนุน และการยอมรับในสถานะภาพขององค์กรชุมชน หรือนำแนวคิดนี้บรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วยเพราะในอดีตแม้จะมีการตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจำนวนหนึ่งไว้แล้ว แต่งบเหล่านั้นก็จะถูกใช้ไปกับการสร้างถนน หนทาง หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ จนหมดสิ้น"

จากจุดนั้นที่เธอคาดหวังต่อมาอีกเพียงไม่กี่ปี กองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลก็เติบโตขึ้นด้วยความพยายามร่วมกันของกลุ่มองค์กรต่างๆในตำบลและชาวบ้านที่เป็นสมาชิก สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนขยายออกไปเรื่อย ๆ จนมีสมาชิกทั้ง 15 หมู่บ้านในตำบล และขยายต่อไปจากนวัตกรรมที่เกิดความริเริ่มขึ้นในปี 2549 พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลกองทุนฯความคิดสร้างสรรค์นำมาสู่นวัตกรรมและมักจะเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ในช่วงแรกเริ่มของการตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลล้อมแรดในปี 2542 กองทุนฯ มีสมาชิก 262 คน คณะกรรมการพยายามขยายฐานสมาชิกและเมื่อสมาชิกก็เพิ่มขึ้นจนถึง 1,462 คน การจัดเก็บข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น“พอคนเยอะก็เริ่มมีปัญหาเก็บข้อมูลยาก เลยคิดถึงเรื่องนี้การเก็บข้อมูลในกระดาษ ตัวหนังสือก็เขียนไม่เหมือนกัน ตัวเลขก็เพี้ยนบ้าง มันยุ่งยาก และเป็นงานหนักของคนทำข้อมูลมาก”

ตำบลล้อมแรดจึงเป็นตำบลแรกของจังหวัดลำปางที่ได้มีการนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการเก็บข้อมูลแบบอิเลคทรอนิกส์โดยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปมาใช้ให้สะดวก รวดเร็ว ง่าย และมีความถูกต้อง โดยจัดเก็บข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชน ตั้งแต่จำนวนสมาชิก รายชื่อสมาชิก สมาชิกเข้าใหม่ สมาชิกที่เสียชีวิต สมาชิกที่ลาออก จำนวนสมาชิกคงเหลือในแต่ละเดือน เงินที่เข้ามาในกองทุนในแต่ละเดือน การจ่ายเงินออกไปในแต่ละเดือน เงินคงเหลือในแต่ละเดือน และสรุปเป็นงบการงบดุลของกองทุน เป็นรายงานฐานะการเงินของกองทุนที่สมาชิกทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในปี 2549 มีโครงการต้นกล้าคุณธรรม เธอเข้าไปช่วยออกความคิดเห็นในการทำหลักสูตรร่วมกับ พอช. ในเรื่องนวัตกรรมการสร้างระบบการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วยโปรแกรมสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทางตำบลล้อมแรดได้คิดค้นและทดลองกับกองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในระบบอิเลคทรอนิกส์และให้สมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งเป็นเรื่องของความโปร่งใสเป็นสำคัญ “วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก เราสามารถเปิดตรวจสอบการสมทบของสมาชิกได้ รับมาเท่าไหร่ จ่ายไปเท่าไหร่ จัดสวัสดิการอะไรบ้าง”

จากนั้นการขยายผลก็เกิดขึ้น โดยทีมสวัสดิการชุมชนของตำบลล้อมแรดได้ขยายความรู้เรื่องดังกล่าว ด้วยการใช้โอกาสที่ได้ลงพื้นที่ไปอธิบายให้ความรู้เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชนในตำบลอื่นๆ ของอำเภอเถิน กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ กลุ่มอาชีพ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) กลุ่มผู้สูงอายุ จากนั้นเมื่อกองทุนฯ ในตำบลต่างๆมีสมาชิกมากขึ้น ทีมของล้อมแรดก็นำเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลด้วยระบบโปรแกรม

คอมพิวเตอร์ไปอบรมให้ความรู้กับกองทุนฯ ของตำบลอื่นๆ ในอำเภอ ทุกตำบล จนเกือบเต็มพื้นที่ของจังหวัดลำปาง“ในเบื้องต้น เป็นโปรแกรมที่เริ่มจากการเรียนรู้ของชาวบ้านแล้วปรับใช้กับพื้นที่ตัวเองให้เหมาะสม แต่ต้องผ่านการอบรมขั้นตอนวิธีการตามที่เราทดลองที่ล้อมแรดได้สำเร็จ แล้วขยายไปเรื่อย ๆ เราไปอบรมทุกที่ จนปัจจุบัน 10 กว่าปีก็ได้เกือบครบทุกตำบลแล้ว”ข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนในแต่ละตำบลเมื่อถูกจัดทำขึ้นจะถูกอัพโหลดขึ้นไปเชื่อมเครือข่ายของจังหวัด และแสดงอยู่ในเว็บไซต์ aombun1baht.com ที่สมาชิกทุกคนเข้าถึงข้อมูลกองทุนสวัสดิการตำบลที่ตัวเองเป็นสมาชิกและยังสามารถเข้าถึงกองทุนสวัสดิการชุมชนในตำบลอื่นๆ ได้อีกด้วยจากนวัตกรรมโปรแกรมการจัดเก็บข้อมูลที่โปร่งใสเข้าถึงได้ ผลที่ได้คือชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่นในกองทุนมากขึ้นและจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเพราะความโปร่งใสนี้เอง และความโปร่งใสของกองทุนที่เชื่อมเป็นเครือข่ายตำบลอื่นๆ ให้ทุกคนเข้าถึงได้กลายเป็นฐานข้อมูลกลางให้สมาชิกได้เรียนรู้จากตำบลอื่นๆ และนำมาปรับปรุงกองทุนสวัสดิการของตัวเองได้ในเวลาเดียวกัน

ความสำคัญของความโปร่งใสทำให้กองทุนสวัสดิการฯ สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้ กองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลในจังหวัดอื่นๆ จึงเห็นความสำคัญและเริ่มมีการใช้โปรแกรมในการจัดเก็บข้อมูลโดยต้นแบบของตำบลล้อมแรดมากขึ้น ที่สำคัญ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนของล้อมแรดได้นำประสบการณ์และความรู้ไปจัดอบรมให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย“ความจริง ดิฉันก็ได้ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศแล้ว ภาคใต้ก็ขยาย ภาคอีสาน เช่น จังหวัดมหาสารคาม มีการไปสร้างต้นแบบไว้ให้แล้ว”

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลยังมีประโยชน์ในการพัฒนาข้อมูลในบริบทของแต่ละพื้นที่ ยุพิน พูดถึงการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนจากการที่มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพของระบบการจัดเก็บและการเข้าถึงข้อมูลว่าแต่ละตำบลสามารถนำไปปรับใช้โดยพัฒนาให้เป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์เชื่อมกับปัญหาของสมาชิกในชุมชนในเรื่องสำคัญๆ ได้ เช่น ข้อมูลสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ และความต้องการของสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ ข้อมูลปัญหาด้านสุขภาพเป็นต้น เพื่อนำมาหาแนวทางในการช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างไรก็ตาม ในอนาคตจำเป็นจะต้องพัฒนาฐานข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนต่อไปเชื่อมกับการจัดเก็บข้อมูลในมิติอื่นๆ เพื่อกำหนดความช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น บุคลากรที่ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลต้องมีการปรับปรุงทักษะให้ทันสมัยและตามทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ

ยุพิน บอกว่า “คนทำข้อมูลต้องเป็นคนรุ่นใหม่ ตอนนี้กำลังสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ก็เหลืออยู่อีกประมาณ20 ตำบลในจังหวัดลำปางที่การเก็บข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ เพราะขาดคนทำข้อมูลและคนเข้าใจเรื่องระบบ บางครั้งสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร 10 ขาดความต่อเนื่อง แต่ปัญหาต้องมรทางแก้ เราก็ใช้พี่น้องเครือข่ายแต่ละอำเภอเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยกันฝึกอบรมคนทำข้อมูล แล้วเราได้สร้างต้นแบบ 1 อำเภอ 1 ตำบลและมีพี่เลี้ยงไว้ให้”

ในปัจจุบัน กองทุนสวัสดิการออมบุญวันละ 1 บาทเพื่อสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ตำบลล้อมแรด มีสมาชิก 6,467 คน มีเงินกองทุนมีเงินหมุนเวียน 25 ล้านบาท มีเงินคงเหลือประมาณ 10 ล้าน “เราไม่ได้มองแค่เกิดแก่เจ็บตายแล้ว เรื่องส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมรายได้ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนพิการ คนที่ขาดความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐหรือคนตกหล่นที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ” ยุพินกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ฟางไทย แฟคทอรี่ จากการต่อยอดอาชีพบรรพบุรุษสู่ธุรกิจเพื่อสังคมแบบคนรุ่นใหม่
https://www.thaiquote.org/content/250429

เตรียมพร้อม รับ “เอลนีโญ” เฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำ-ฝนทิ้งช่วง อย่างใกล้ชิด
https://www.thaiquote.org/content/250428

อุทยานธรณีโคราช ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แห่งที่สอง
https://www.thaiquote.org/content/250426