ดร.ธรณ์ ชี้ปรากฎการณ์น้ำเขียวที่เกาะล้าน และเต่ามะเฟืองวางไข่ที่ภูเก็ตเป็นปรากฎการณ์ "โลกเดือด”

by ThaiQuote, 31 กรกฎาคม 2566

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวในเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat"ถึงสถานการณ์น้ำเขียวที่เกาะล้าน และกรณีเต่ามะเฟืองวางไข่ที่ภูเก็ตว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติของธรรมชาติ โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ "โลกเดือด"

 

 

สองเหตุการณ์แปลกในทะเลไทยที่ควรจับตามอง หนึ่งคือน้ำเขียวที่เกาะล้าน อีกหนึ่งคือเต่ามะเฟืองวางไข่ที่ภูเก็ต ทั้งสองเรื่องแสดงถึงทะเลที่อาจเปลี่ยนไปครับ

เริ่มจากเรื่องแรก เมื่อวานมีข่าวเรื่องแพลงก์ตอนบลูมที่เกาะล้าน ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว

ผมเคยพูดเรื่องนี่หลายครั้งว่าทะเลเรากำลังผิดปรกติ โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนใน/EEC จึงอยากขยายความเพิ่มขึ้นกับเหตุการณ์ที่กำลังปรากฏ

แพลงก์ตอนบลูมเป็นเรื่องธรรมชาติ เกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝน (ธาตุอาหาร) แสงแดด ทิศทางลม/กระแสน้ำ และปัจจัยอื่นๆ ในทะเล

แต่ระยะหลังเริ่มปั่นป่วนเพิ่มขึ้นในทางที่แย่ลง เพราะมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้อง เกี่ยวโดยตรงคือธาตุอาหารที่เพิ่มขึ้นจากหลายสาเหตุ การเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ ไหลลงสู่ทะเล อ่าวไทยตอนในเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด น้ำวนอยู่นาน อิทธิพลจากแม่น้ำลำคลองมีเยอะ

เกี่ยวข้องทางอ้อมคือโลกร้อน ตอนนี้แรงขึ้นจนอาจใช้คำว่า “โลกเดือด”
แล้วเกี่ยวกับเอลนีโญบ้างไหม ?

ปรกติแล้วเอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อย น่าจะทำให้แพลงก์ตอนบลูมน้อย เมื่อเทียบกับปีลานีญา

แต่ปีนี้มีข่าวน้ำเขียวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ EEC บางทีก็ศรีราชา พัทยา หรือแม้กระทั่งเกาะล้าน

เอลนีโญในยุคก่อนๆ ไม่น่าเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเอลนีโญเกิดในยุคโลกเดือด อะไรก็เป็นไปได้
แพลงก์ตอนบลูมเกิดในช่วงเวลาแปลกๆ และพื้นที่ตามเกาะที่ในอดีตเราไม่ค่อยเจอ และส่งผลอย่างที่เราไม่คาดคิด

ตัวอย่างง่ายๆ คือการท่องเที่ยว แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่ใครจะอยากไปเล่นน้ำเขียวคัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ไปเจอก็เศร้าทั้งนั้น

ช่วงนี้การท่องเที่ยวเกาะล้านกำลังคึกคัก คนไปวันละหลายพัน เป็นแบบนี้คงไม่สนุก
ปัญหาคือจะเกิดอีกไหม เกิดบ่อยไหม เกิดเมื่อไหร่ เราแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

โลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การรับมือทำได้ยาก และจะยิ่งยากหากเรามีข้อมูลไม่พอ
เกิดทีไรก็แค่เก็บน้ำ จากนั้นก็บอกว่าเป็นแพลงก์ตอนชนิดไหน (ปรกติก็มีอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่เป็นพิษ)

มันพอสำหรับสมัยก่อน แต่สำหรับโลกยุคนี้ เราต้องการข้อมูลที่มากกว่านี้มากๆ เพื่อการรับมือและปรับตัวกับปรากฏการณ์แปลกๆ ที่กำลังเกิดและจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะโลกร้อนขึ้น

ไม่ได้จะหยุดร้อน ไม่ได้จะจบลงใน 5 ปี 10 ปี แต่ยังแรงขึ้นเรื่อย ต่อเนื่องอีกอย่างน้อยหลายสิบปี

การช่วยชีวิตอ่าวไทยตอนใน/EEC มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจประเทศไทย
หากเราไม่คิดพัฒนางานศึกษาวิจัย หากเราหยุดอยู่แค่วัดไข้ ขณะที่ทะเลอื่นในโลกเขาก้าวไกลไปถึงไหนๆ แล้ว

การช่วยชีวิตอ่าวไทยก็ทำได้กระปริกระปรอย ถามมาตอบไป แพลงก์ตอนบลูมเกี่ยวกับเอลนีโญมั้ย ? ตอบไปแล้วไงล่ะ

มันจะแรงขึ้น มันจะทำนายยากขึ้น มันจะส่งผลกระทบมากขึ้น อันนี้สิคือคำตอบที่แท้จริง
และเรายังไม่อยู่ในสภาพที่สามารถแจ้งเตือน รับมือ และปรับตัวได้เพียงพอ เพราะนักวิทยาศาสตร์เจอแต่คำถาม

แต่ความสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ยังมีน้อยไปมากๆ

ทำให้คำตอบดูคลุมเครือ ไม่กล้าฟันธง และวนไปมา

ผมมาญี่ปุ่น ผมเห็นหลายอย่างที่เขากำลังพยายามยกระดับรับมือเอลนีโญและโลกร้อน
เห็นการศึกษาวิจัยที่ใช้เครื่องมือก้าวหน้า ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ เพื่อระบบแจ้งเตือนที่ดี และเพื่อการปรับตัวที่ทันการณ์

แพลงก์ตอนบลูมเกี่ยวข้องกับเอลนีโญไหม ?

คำถามที่แท้จริงควรเป็นว่า เราพร้อมช่วยชีวิตอ่าวไทยในยุคทะเลเดือดไหม ?

นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามวัดไข้ทะเล แต่ถ้ามีความสนับสนุนอย่างที่บ้านเมืองอื่นเขากำลังทำ เราจะทำได้ดีกว่าวัดไข้ เช่น ยกระดับการสำรวจและเฝ้าระวังทะเล ติดตามสภาพความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ปรับปรุงอุปกรณ์และสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัย จัดจุดติดตามถาวร บูรณาการข้อมูลและ GIS ใช้เทคโนโลยีทันสมัย/รีโมทเซนซิง จัดทำโมเดลอ่าวไทย/EEC จัดทำระบบแจ้งเตือนผู้ใช้ประโยชน์ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล/สมุทรศาสตร์แบบเรียลไทม์ จัดทำแผนการลดผลกระทบด้านธาตุอาหารจากแหล่งแม่น้ำลำคลอง สำรวจและดูแลอาขีพชาวประมงการท่องเที่ยวรายย่อย ฯลฯ

ในขณะที่คนทั่วไปสามารถช่วยได้ด้วยการลดผลกระทบด้านต่างๆ อย่าซ้ำเติมธรรมชาติ เช่น ลดโลกร้อน ลดขยะ บำบัดน้ำ สนับสนุนกิจการท้องถิ่น แจ้งเหตุผิดปรกติ ฯลฯ


เราจะลดความสูญเสียได้มหาศาล

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ รับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก

https://www.thaiquote.org/content/250809

นวัตกรรมสังคมรูปแบบใหม่นำวัฒนธรรมผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ เพื่อจัดการกับสภาพภูมิอากาศ
https://www.thaiquote.org/content/250826

3 M เสนอจ่ายค่าเสียหาย 10.3 พันล้านดอลลาร์ กรณีต้นทางการผลิต"สารเคมีตลอดกาล" แต่ถูกปฏิเสธ
https://www.thaiquote.org/content/250821