ถอดรหัส DNAออมสิน ธนาคารเพื่อสังคมบนเส้นทาง ESG

by ThaiQuote, 24 สิงหาคม 2566

“วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยเบื้องหลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์ออมสิน ให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม สอดคล้องแนวทาง ESG สร้างความยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งภาคสังคมและองค์กร

 

ธนาคารออมสิน ถือกำเนิดโดยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยทรงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งคลังออมสินขึ้นเมื่อ 1 เม.ย. 2456 ด้วยพระราชปณิธานที่จะให้คลังออมสินเป็นที่เก็บทรัพย์สิน และฝึกฝนให้ราษฎรรู้จักการออมทรัพย์อย่างถูกวิธี ต่อมาได้พัฒนาเป็นธนาคารออมสิน กระทั้งวันนี้ธนาคารออมสินเป็นธนาคารสัญชาติไทยที่มีอายุยาวนานที่สุดถึง 110 ปี และเป็นธนาคารที่ยืนอยู่บนเส้นทาง ESG อย่างชัดเจน

“ออมสิน เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีสินทรัพย์รวมกว่า 3.15 ล้านล้าน มีเงินฝาก 2.68 ล้านล้าน สินเชื่อ 2.35 ล้านล้าน หากเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ออมสินเป็นหนึ่งในห้าของธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย ดังนั้นออมสินจึงต้องการใช้ความใหญ่ หรือความได้เปรียบของธนาคารไปช่วยเหลือสังคม” วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวปาฐกถา “ออมสินเพื่อสังคม” ก้าวที่ท้าทาย ปรับสู่ฐานราก มุ่งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ยั่งยืน ในเวทีอบรมหลักสูตร “ผู้นำ - ความเปลี่ยนแปลง ” จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพเมื่อ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ออมสิน วางตัวเป็นธนาคารเพื่อชุมชนมาโดยตลอด แต่หลังจาก วิทัย เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2563 ก็ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ออมสิน ให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม เข้าใจว่าเขามีความตั้งใจที่จะยกระดับธนาคารออมสิน ให้มีความรับผลิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การที่จะช่วยเหลือสังคมไทยที่เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรค เป็นงานที่ยิ่งใหญ่จำต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ไม่สามารถขับเคลื่อนภารกิจจนลุล่วงได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ขณะเดียวกันออมสินก็ดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ เป็นรัฐวิสาหกิจ จำเป็นต้องมีกำไรส่งให้กับรัฐบาล ซึ่ง วิทัย เข้าใจเรื่องนี้ เขาจึงได้วางหลักการขับเคลื่อนงานเพื่อสังคม รวมถึงงานด้าน ESG ภายใต้กลยุทธ 3P คือ People, Profit และ Planet ซึ่งเป็นแนวคิดการวัดผลความสำเร็จของการดำเนินงานที่สมดุล ระหว่าง คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมธนาคาร การทำกำไรของธนาคาร และการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธนาคารออมสินเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่สังคมยั่งยืน

วิทัย มองปัญหาสังคมไทยเจาะลงไปถึงแก่น โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าคนไทยที่ร่ำรวยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 % ของประชากรทั้งประเทศ แต่กลับถือสินทรัพย์ในสัดส่วน 77 % ของทั้งประเทศ หรือหากพิจารณาในภาคการเงิน มีคนไทยเพียง 3 % ที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ขณะที่มีคนที่มีเงินฝากต่ำกว่า 5 หมื่นบาท สูงถึง 88 % เป็นความเหลื่อมล้ำที่สุดโต่ง

“เราอยากช่วยพ่อค้า แม่ค้าขายหมูปิ้ง นี้คือ Purpose ของผม ที่อยากทำให้ออมสินเป็น Social Bank ที่นำกำไรจากธุรกิจปกติมาสนับสนุนภารกิจสังคม” วิทัย บอกถึงความตั้งใจในการนำออมสินเป็นหัวหอกให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการด้านการเงิน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล่ำทางสังคม

ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ออมสิน มีความรับผิดชอบต่อสังคมฝังอยู่ในกระบวนการกิจการธนาคาร ขณะเดียวกันก็ขยายขอบเขตความรับผิดชอบออกไปยังภาคส่วนต่างๆ ผ่านกิจกรรมมากมาย ภายใต้หลักกฎงานสำคัญคือ Social Mission Integration ซึ่งหมายถึงการทำกิจกรรมทางสังคมจะควบคู่ไปกับประสิทธิภาพเชิงพานิชย์ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานรากด้วย

“ตัวอย่างที่เราทำ เช่น ทุกปีออมสินต้องทำกระปุกออมสินแจก ทีมที่ทำกระปุกต้องเอาปัจจัยทางสังคมใส่เข้าไป พนักงานคิดไอเดีย เอางานออกแบบไปให้เด็กที่ด้อยโอกาสอย่างน้องที่เป็นออทิสติกเป็นผู้ออกแบบ ทีมผลิตจ้างผลิตด้วย Social Entreprise ที่สนับสนุนช่วยเหลือน้องๆออทิสติก แทนที่จะเอาเงินไปให้เมืองจีน” วิทัย ยกตัวอย่าง

ออมสินยังมีโครงการที่น่าสนใจในแวดวง ESG อีกโครงการหนึ่ง นั้นคือ วันนี้ออมสินได้พัฒนา ESG Score ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดการปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่วงเงินเกิน 500 ล้านบาท โดยหากธุรกิจที่ต้องการเงินกู้มีความรับผิดชอบหรือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะได้แต้มต่อในการพิจารณา ซึ่งเบื้องต้น ESG Score จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำและพัฒนาไปสู่มาตรฐานการลงทุนหรือ (ESG Score for Investment)

หากพิจารณาเส้นทางการเป็น Social Bank ของธนาคารออมสิน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าเป็นการสืบทอดบทบาทธนาคารที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคนไทย ยกระดับประเทศให้ก้าวหน้าตลอดช่วงเวลา 110 ปี เพียงแค่วันนี้เป็นบทบาทที่ยิ่งใหญ่ขึ้นตามเวลาที่เปลี่ยนไป และขนาดธนาคารที่ใหญ่ขึ้น แต่ทั้งหมดก็คือ DNA ของธนาคารออมสิน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ทางรอดของเอสเอ็มอีไทย คือต้องปรับเปลี่ยนให้ทันความเปลี่ยนแปลง พลิกแพลง ยืดหยุ่น
https://www.thaiquote.org/content/250980

อียู คลอดระเบียบแบนสินค้าทำลายป่า ผู้ส่งออก-SME ไทยเร่งรับมือก่อนสาย
https://www.thaiquote.org/content/250926