ทางรอดของเอสเอ็มอีไทย คือต้องปรับเปลี่ยนให้ทันความเปลี่ยนแปลง พลิกแพลง ยืดหยุ่น

by ThaiQuote, 23 สิงหาคม 2566

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ บรรยายบนเวทีอบรมสัมมนา “ผูุ้นำความเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13” จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศเอง

 

 

ยกตัวอย่าง วันนี้จีนประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกกำลังพบกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างแน่นอน ขณะที่ประเทศไทยก็มีปัญหาสะสมมายาวนาน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ต่อจีดีพี เฉพาะผู้ประกอบการตัวเล็กหรือเอสเอ็มอี มีรายงานของเครดิตบูโร ชี้ว่าเอสเอ็มอีมีปัญหาหนี้สินทั้งที่ตกอยู่ในภาวะหนี้ที่ต้องจับตา รวมทั้งที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นเอ็นพีแอลแล้ว ทั้งหมดรวมกันกว่าร้อยละ 20 ของเอสเอ็มอีที่มีหนี้ในระบบทั้งหมด

ทั้งนี้ นายมงคล เป็นนักการเงินธนาคารมืออาชีพ เคยผ่านการบริหารสถาบันการเงินมามากมาย อาทิ กรรมการผู้จัดการธนาคาร SME D Bank ประธานบอร์ดบริหารธนาคารออมสิน เป็นต้น

 

 

“ทางรอดของเอสเอ็มอีไทย คือต้องปรับเปลี่ยนให้ทันความเปลี่ยนแปลง พลิกแพลง ยืดหยุ่น” นายมงคล กล่าว และว่า โลกวันนี้เป็นยุคดิจิทัล ดังนั้นเอสเอ็มอีต้องมีทักษะทางดิจิทัล และอีกสิ่งหนึ่งที่จะเป็นทางออกสำคัญให้เอสเอ็มอี คือ ต้องใช้ศักยภาพด้านการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของไทยมาใช้พลิกแพลง ซึ่งก็ไปเกี่ยวข้องกับโมเดล BCG ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

ยกตัวอย่างกิจการ Hug Ta Mongk Ta ซึ่งถือเป็นกิจการของคนตัวเล็กที่ใช้โมเดล BCG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกิจการดังกล่าวได้นำวัตถุดิบและวัฒนธรรมไทยมาใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ผลิตสินค้าออกจำหน่ายมีเชื่อเสียงโด่งดังด้วยการผลิตให้แบรนด์แฟชั่นชื่อดังระดับโลก

ทั้งนี้ Hug Ta Mongk Ta ไทยนำ “หมอนขิบ” สินค้าพื้นบ้านของไทย มาใส่ไอเดียผลิตเป็นตุ๊กตาหมอนขิบ ตัวเล็กลงเท่าตุ๊กตาบาร์บี้ สร้างมูลค่าเพิ่มจากราคาในรูปแบบหมอนขิบใบละ 50 บาท กลายเป็นหลักหลายร้อยบาท

นอกจากนี้ยังนำสินค้ากระเป๋าจักรสาน ซึ่งเราหาซื้อได้ในราคาใบละ 200 - 300 บาท แต่เมื่อเอาลายผ้าขิบมาผสมผสานด้วยดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถส่งขายในชื่อแบรนด์แฟชั่นระดับโลกได้ในราคาตั้งแต่ 1,600 - 8,000 บาท

ที่สำคัญ Hug Ta Mongk Ta ให้ชุมชนถึง 25 แห่งใน 4 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใดมีวัตถุดิบและส่งวัตถุดิบมาประกอบในชุมชนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีการสื่อสารกันผ่านออนไลน์ และขายสินค้าผ่านเว็บไซต์

Hug Ta Mongk Ta เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งให้คนตัวเล็กหรือเอสเอ็มอี ได้ปรับตัวสู้กับวิกฤต หาทางออกกับปัญหาท้าทายมากมายในปัจจุบัน และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโมเดล BCG จะเป็นทางออกให้กับเอสเอ็มอีไทยได้อย่างชัดเจน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เรียกร้อง G 20 จัดระบบอุดหนุนสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ
https://www.thaiquote.org/content/250973

เปิดแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการเกษตรฉบับใหม่ เตรียมประกาศใช้ปลายปีนี้
https://www.thaiquote.org/content/250968