ดร.สุวิทย์ ฉาย3 แนวคิดความหวังมนุษยชาติ ลดอัตตา ใช้ความเก่งกาจคนฟื้นฟูก่อนสิ้นโลก

by ThaiQuote, 1 กันยายน 2566

หยุดมหันตภัยโลกรอวันล่มสลาย ภารกิจมวลมนุษชาติร่วมฟื้นฟูโลก ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ถอดตัวตน ปัจเจกบุคคล เลิกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เปิดใจแบ่งปันเพื่อนร่วมโลกด้วยรักและเมตตา ผ่าน 3 แนวคิด 1.Co-Habitation, 2.แนวคิดร่วมรังสรรค์ และสร้างสรรค์ (Co-Creation) และ3.การร่วมมือกันวิวัฒน์ แทน ปัจเจกวิวัฒน์ (Co-Evolution)

 

 

ในงานสัมมนา ‘Sustrends 2024’ มีการฉายภาพแนวคิดเกี่ยวกับเทรนด์ความยั่งยืน ที่มีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทำงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงคนรุ่นใหม่ ร่วมกันแบ่งปันความรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมมือกันหยุดปัญหาลดโลกร้อน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ของ องค์การสหประชาชาติ (UN)

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฉายแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และปัจจัยเสี่ยงมากมายว่า โลกใบนี้ถือกำเนิดขึ้นมามีเพียง 13,800 ล้านปี ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแล้ว 5 ครั้งใหญ่ โดยครั้งที่หนึ่งเกิดจากมหาสมุทรกลายเป็นน้ำแข็ง ครั้งที่สองเกิดจากภูมิอากาศแปรปรวน ครั้งที่สามและสี่เกิดจากภูเขาไฟประทุรุนแรงและยาวนาน ส่วนครั้งล่าสุด เกิดจากภูเขาไฟระเบิดและอุกาบาตขนาดยักษ์พุ่งเข้าชน และภัยพิบัติโลกร้อน (Climate Change) ในครั้งนี้ อาจจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งที่ 6 (The 6th Great Extinction)

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากมนุษยชาติได้ถือกำเนิดขึ้นมารวมระยะเวลาไม่เกิน 7 ล้านปีเศษ แต่สามารถสร้างการพัฒนาและส่งผลกระทบเกิดขึ้นบนโลกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่มีการปฏิวัติ อุตสาหกรรม เพียง 250 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดผลพวงของ ปัญหาต่างๆ มากมาย เพียงไม่เกิน 70 ปีที่ผ่านมา เริ่มเกิดการเร่งปฏิกิริยา (The Great Acceleration) ผลกระทบทางด้านลบต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ระบบขาดสมดุล (Systemic Imbalances) จนนำไปสู่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด นั่นคือ การขาดความสมดุลของเครื่องยนต์ของโลก จนเข้าสู่ภาวะล่มสลายของระบบ (Systemic Collapse)

“หากเผชิญความรุนแรงของสภาวะแวดล้อม สังคมบ่อยๆ อาจจะเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สิ่งมีชีวิตบนโลกค่อยๆ หายไป ถือเป็นการการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (The 6th Great Extinction) ที่ครั้งนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากน้ำมือของมนุษยชาติ พวกเรานึกว่า เราแน่เป็นมนุษย์ ที่ทรงภูมิทางปัญญา หารู้ไม่ว่า นี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ แบบ “กบโดนต้มสุกในกระทะ” สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ สภาวะโลกร้อน มากขึ้นจนมาถึงจุด “โลกเดือด” ในไม่ช้าสปีชีส์ต่างๆ เริ่มสูญพันธุ์ จนเกิดการล้มครืนของระบบนิเวศ เมื่อสิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ ล้วนเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ที่คิดว่าเรามีอิทธิพลเหนือธรรมชาติ”

 



สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่วันนี้เราทุกคนบนโลกต้องหันมาปรับแนวคิดการใช้ชีวิตให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร ผ่าน 3 แนวคิด คือ

1.มนุษย์อยู่อาศัยภายใต้ร่มชายคาเดียวกัน Co-Habitation

มนุษย์เดิมยึดเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง มากกว่า ยึดเอาโลกเป็นตัวตั้ง และยึดตนเป็นศูนย์กลาง (มันเป็น ego centric หรือ เป็น self center) อีกทั้ง ยังยึดเอาตัวตนของแต่ละคนเป็นตัวตั้งพร้อมกัน ยึดมั่นในปัจเจกบุคคล มากกว่าจะการแบ่งปันความรักในเพื่อนมนุษย์ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมอาศัยบนโลกด้วยกัน แนวคิดนี้จึงนำมาสู่ปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เราจึงต้องปรับทัศนคติ แนวคิดมาสู่เรื่องของการมองโลก ยอมรับความเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันของมนุษย์บนโลกที่อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน จากที่เคยยึดมั่นถือมั่น ยึดติดกับมุมมองของตัวเอง และจำกัด แค่เพียงเจเนเรชั่นที่ใกล้เคียงกัน วิถีชีวิตเหมือนกัน หากเปิดใจมากขึ้นจะทำให้มองในเห็นโลกได้ลึกและกว้างขึ้น ทำให้มองไกลไปสู่อนาคตร่วมกัน ถือเป็นการเปลี่ยนกรอบ ความคิดของมนุษย์

เริ่มต้นเปลี่ยนวิธีคิด มาสู่การร่วมชายคาเดียวกัน “เปลี่ยนจากความเป็นเรา เมื่อเราเปลี่ยน โลกก็จะเปลี่ยนตาม” นี่คือการเริ่มต้นมองเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นผู้อยู่อาศัยร่วมชายคาโลกใบเดียวกัน คำว่า Co-habitation จึงเกิดขึ้น

“หากเราอยากจะวิ่งไปนานๆ ก็ต้องวิ่งไปด้วยกัน นี่คือแนวคิดที่ต่อเนื่อง กับเรื่องของการอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน”

2.แนวคิดร่วมรังสรรค์ และสร้างสรรค์ (Co-Creation)

ความเป็นมนุษย์ต้องการเติบโต มีความก้าวหน้า และมีความต้องการความมั่นคงในชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องการเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืน ดังนั้น หากนำการเติบโตควบคู่กับ ความยั่งยืน จึงจะกลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable Growth) ในทำนองเดียวกัน ต้องตอบโจทย์ ด้านความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่ความยั่งยืน หากสามารถจัดการได้ก็นำไปสู่การแบ่งปันความมั่งคั่งร่วมกัน(Share Prosperity)

“มิติหนึ่งของความเป็นมนุษย์ มีความต้องการเติบโตและมีความมั่นคงในชีวิต แต่ความมั่นคงของชีวิต จะต้องสอดรับกับความยั่งยืน มันจึงทำให้โลกของเราสามารถอยู่ต่อไปได้ ในทำนองเดียวกัน ความมั่นคงในชีวิต ต้องตอบโจทย์ความเท่าเทียม หากเรามีความมั่นคง ในชีวิต ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ทุกคนมีชีวิตที่ดีร่วมกัน จึงสร้างความเป็นอยู่ที่ดี มี “สันติสุข” เกิดขึ้นอย่างถาวร”

สำหรับสิ่งเหล่านี้หากมีการร่วมมือกันสร้างการพัฒนาการเติบโตกระจายได้อย่างเท่าเทียมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีใน 4 มิติสำคัญ ก็นำไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย


-การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth)
-แบ่งปันความมั่งคั่ง (Sharing Prosperity)
-การช่วยรักษ์โลก อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุณค่า (Saved The Planet)
-เกิดความมั่นคงและสันติสุขร่วมกันในสังคม (Secured Peace)

 

 

ทั้งสองความร่วมมือ ถือเป็นปฐมบท หรือ ต้นน้ำของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ของ UN ,โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) และ ESG การเติบโต 3 ด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล นี่คือจิ๊กซอว์สำคัญ ของแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ ในการออกแบบให้คนอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน บนโลกใบเดียวกัน จะต้องเกิดขึ้นจากความต้องการร่วมไม้ร่วมมือกัน (Co-Creation)

นี่คือโลกที่ต้องแบ่งปันทั้งสุขและทุกข์ร่วมกัน เพราะธรรมชาตินั้นมีวิวัฒนาการเสมอ เช่นเดียวกันกับ มนุษย์ ที่มีพลวัฒน์ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะวิวัฒนาการทางร่างกาย และพันธุกรรม ซึ่งโดยรวมพันธุกรรมในมนุษย์เริ่มหยุด หรือมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเป็นเวลา 55,000 ปีแล้ว แต่การที่มนุษย์มีชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่วิวัฒนาการทางพันธุกรรม แต่เป็นวิวัฒนาการทางด้านกระบวนการทางความคิด และระบบต่างๆ ที่วางไว้ด้วยน้ำมือของมนุษย์แล้วมีการส่งต่อผ่านทางระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา มนุษย์พยายามขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด เอาตัวเอง “เป็นศูนย์กลาง” นี่คือต้นเหตุของการ นำไปสู่การทำลายล้างสิ่งเก่า สร้างสิ่งใหม่ (Disruption) และส่งผลกระทบต่อโลก

“เราก็ดีใจ ภูมิใจว่ามนุษย์อย่างเราได้ทำให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่มากมาย สิ่งเหล่านี้ ถือเป็น ปัจเจกวิวัฒน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยตัวมันเอง แต่จากนี้ต่อไปมนุษย์ไม่ควรพอใจกับความสามารถในการDisrupt สิ่งต่างๆ แล้วตามมาขบคิดวิธีการแก้ไขปัญหาผลพวงจากการสร้างการเปลี่ยนแปลงทำลายล้าง(Disruption)ได้อย่างไร เมื่อเราต้องการ ใช้ชีวิตบนโลก เสมือนมนุษย์ทุกคนอาศัยอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน จึงต้องร่วมมือร่วมใจ”

 



3.การร่วมมือกันวิวัฒน์ แทน ปัจเจกวิวัฒน์ (Co-Evolution)

การสร้างปัจเจกวิวัฒน์เกิดการDisrupt สิ่งต่างๆ มากมาย แต่การสร้างความร่วมมือ ผ่านการวิวัฒน์ จะนำพาเราไปสู่การสร้างความสามัคคี มีความกลมกลืน เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันบนโลก เพราะทุกคนต่างต้องการความยั่งยืน แต่การสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง ต้องมาจากต้นน้ำของความคิด ที่มีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน นั่นคือ การ ”ร่วมชายคาเดียวกัน”ก็ต้องนำมาสู่ “การร่วมมือกันสร้างสรรค์ และรักษา” และร่วมมือกันวิวัฒน์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ในอนาคต ที่เกิดความไม่แน่นอนของโลกที่เต็มไปด้วยมหันตภัย ความเสี่ยงของโลกแตก

“อนาคตโลกจะแตกเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่อย่างน้อยในช่วงที่มนุษย์มีชีวิตอยู่อาศัยบนโลก เราควรหาวิธีอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข กลมกลืน สอดคล้องกับธรรมชาติ กับเอกภพ ภายใต้ แนวคิด 3 ความร่วมมือกัน ร่วมชายคาเดียวกัน (Co-habitation) ร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) และร่วมวิวัฒน์ฟื้นฟู ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโลก (Co-Evolution) จึงจะทำให้มนุษย์เราเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ (Oneness)