กว่า 10 ปี ธุรกิจกำจัดขยะ 20,000 ล้านบาท ยังย่ำอยู่กับที่ ติดบล็อก 3 ภาคส่วน

by ThaiQuote, 4 กันยายน 2566

ธุรกิจกำจัดขยะ3พันราย มูลค่า 2หมื่นล้านบาท 10 ปี ยังไม่เติบโต เหตุ 3 องคาพยพไม่เชื่อมต่อกัน รอภาครัฐปลดล็อก ต้นทางปล่อยขยะมีจิตสำนึกและปลายทางมีนวัตกรรมกำจัดขยะเป็นศูนย์ ส.อ.ท.รวมกลุ่มธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม จัดงานแสดงสินค้ารวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรม จับคู่ธุรกิจ วางเป้าหมายทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่BCG

 

ทรัพยากรไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น โลกเริ่มขาดสมดุลเกิดภาวะโลกร้อน แต่เราก็กลับพบปัญหาขยะล้นโลกจนไร้การจัดการ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมกำจัดขยะ และซากอุตสาหกรรมมายาวนาน แต่ธุรกิจก็ยังไม่เติบโต สวนทางกันกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นและยังไร้การจัดการ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง โอกาสในการพัฒนาธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องมาจากภาคการผลิตที่นำทรัพยากรมาใช้ แต่ยังไม่มีวิธีการจัดการ จึงทำให้เกิดขยะและกากของเสียที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จากรายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าในปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะประมาณ 27 ล้านตันหรือประมาณ 74,998 ตัน/วัน เท่ากับว่า ประชากรหนึ่งคนสามารถสร้างขยะปริมาณ 1.13 กิโลกรัม/วัน และมีกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้น 33 ตัน/ปี ทั้งขยะที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะปรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อความยั่งยืน ตามแนวทางนโยบายเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ,เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว(Bio-Circular-Green Economy) เป็นการเติบโตจากฐานรากทางการเกษตร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยฟื้นฟู

“กลุ่มอุตสาหกรรมควรเข้ามามีส่วนสนับสนุนและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของทั้งโลกที่ตระหนักถึงการร่วมฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ร่วมกันลดโลกร้อน จึงมีการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการกำจัดขยะและชองเสีย”

นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึงกลยุทธ์การขับเคลื่อนมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ
1.ต้นทาง ผู้กำเนิดมลพิษและขยะ ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค
2.ปลายทาง ผู้ที่จะช่วยลด บำบัด กำจัดมลพิษและขยะ โดยนำเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าการลงทุนและการคืนกำไรสู่สังคม
3. ระหว่างทาง คือผู้กำกับดูแล หรือภาครัฐ ที่ต้องอาศัยนโยบายเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี อันนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน


ธุรกิจขยะ2หมื่นล้าน
รอกลไกขับเคลื่อนขยะคืนสู่ทรัพยากร

นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในกลุ่มกำจัดขยะ และกากอุตสาหกรรมลงทุนเพื่อรองรับการจัดการของเสียภายในประเทศกว่า 3,000 ราย ที่ลงทุนมานานกกว่า 10 ปี มูลค่าการลงทุนตลาดราว 20,000 ล้านบาท เพื่อรอให้ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการกระบวนการกำจัดของเสียอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ซึ่งท้ายที่สุดจะไม่มีขยะที่ผลิตแล้วต้องทิ้งโดยไร้การจัดการ หรือเป็นศูนย์ แต่ปรากฎว่าตลาดยังมีการเติบโตยังช้า
ทั้งนี้ เนื่องมาจากกลไกการขับเคลื่อน ทั้ง 3 ส่วน ยังไม่เชื่อมต่อเป็นกระบวนการเดียวกันผู้บริโภค ยังไม่เริ่มต้นแยกขยะ เช่นเดียวกันกับผู้ผลิต ยังไม่มีความรับผิดชอบในการจัดการสินค้าที่ผลิตจากการนำทรัพยากรมาใช้ให้มีการหมุนเวียนกลับไป เช่นเดียวกันปลายทางผู้กำจัดขยะ ยังมีการไม่จัดการการปลายทางได้อย่างจบสิ้นแบบถูกต้อง ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่กำกับดูแล อย่างภาครัฐ ยังไม่มีเครื่องมือ ออกกกฎหมาย หรือกลไกเข้ามาช่วยบังคับใช้ ดังนั้น การจะสร้างความเปลี่ยนแปลง จึงต้องเริ่มต้นจาก ร่วมกันเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันกับมองหานวัตกรรม เชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันนำเสนอกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมขยะไม่เพียงพอในการกำจัด เพราะหากมีขยะในปริมาณมาก ผู้ประกอบการกว่า3,000 รายก็พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการ แต่ในวันนี้ปริมาณความต้องการไม่มี ผู้ผลิตจึงไม่สามารถลงทุนล่วงหน้าเพื่อรอตลาด โดยที่ตลาดยังไม่พร้อมได้ ต้องปลูกจิตสำนึก และมีกฎหมายบังคับ ให้ทั้งผู้ผลิตสินค้า และผู้บริโภค เห็นว่าการทิ้งขยะไปในทุกที่อย่างไร้ความรับผิดชอบ แม้จะเป็นชิ้นเล็กๆ แต่เป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งขยะชุมชนเริ่มเกิดปัญหาไม่สามารถไปทิ้งในที่ว่างอย่างไร้การจัดการได้ เพราะจะเกิดการต่อต้านจากชุมชน จึงต้องหาวิธีการจัดการ” เขากล่าวถึงปัญหา

 

EnwasExpo รวมองค์ความรู้
ดึงต้นแบบจัดการขยะครบวงจรสำเร็จ


ทางกลุ่มสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดงาน “แสดงสินค้าบริการและสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย” EnwastExpo 2023” (Environmental & Waste Management Expo 2023) ภายใต้ธีม “การร่วมขับเคลื่อนสู่โลกที่ดีกว่า” โดยเป็นความร่วมมือครั้งแรก จากกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. ร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีของกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการกำจัดขยะไม่ให้เหลือในประเทศไทย โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการจัดการมลพิษและของเสียที่เกิดจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม ชุมชน สังคม ตลอดจนภาคครัวเรือน ซึ่งงานด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้ในต่างประเทศ ประสบความสำเร็จและมีการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

สำหรับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงานเพื่อสร้างองค์ความรู้และเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คือหน่วยงานที่กำกับดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมไปถึงภาคเอกชนทั้ง SCG, AMATA Facility และสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ในการจัดงานมหกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย หรือ EnwastExpo 2023 (Environmental & Waste Management Expo 2023)

นายธีระพลกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรกการจัดการแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย พร้อมโชว์เทคโนโลยีนวัตกรรมรีไซเคิลต้นแบบ ส่วนที่สองการจัดสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมและจับคู่ธุรกิจ เพื่อให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเทคโนโลยี ผู้ก่อกำเนิดกากของเสียการจัดการมลพิษจากต้นทางและผู้รับบำบัด กำจัดและรีไซเคิลกากของเสียและมลพิษประเภทต่าง ๆ มาพบปะกันเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ

“การจัดงานครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ มีการสัมมนานำเสนอองค์ความรู้ใหม่ ให้ทันกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการนำเสนอเทคโนโลยีการสื่อสารและกฎหมายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ เราจะขนมาไว้ในงานนี้ เพื่อเป็นแหล่งรวมให้กับผู้สนใจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านนี้” นายธีระพล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เยี่ยมชมงาน นอกจากจะเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังมีผู้บริหารโรงงานขนาดกลาง-ใหญ่กว่า 40,000 โรงงาน เจ้าหน้าที่และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ นักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนที่สนใจทั่วไป โดยคาดว่าจะมีผู้เยี่ยมชมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 คน มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจมากกว่า 300 คู่ สัมมนาและเวิร์คช้อปมากกว่า 20 หัวข้อ และมีบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมจัดแสดงสินค้านวัตกรรมมากกว่า 100 บริษัท

Tag :