BKP งัดมาตรฐานGAP แก้ปมฝุ่นควัน จับมือกรมวิชาการฯ อบรมเกษตรไทย

by esguniverse, 12 กันยายน 2566

BKP จับมือกรมวิชาการเกษตร ยกระดับการอบรมเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก้าวสู่มาตรฐานสากลเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก ถ่ายทอดองค์ความรู้เพาะปลูกตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agriculture Practice) โดยนำร่องพัฒนาเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนากลาง จังหวัดนครราชสีมา

 

 

หลังจากเครือข่ายซัพพลายเชน ในกลุ่มธุรกิจในเครือซีพีเอฟ มักจะถูกสังคมตั้งคำถามและพูดถึงทุกครั้งที่เกิดปัญหาฝุ่นหมอกควัน PM2.5 ในฐานะผู้รับซื้อเมล็ดข้าวโพด มาผลิตอาหารสัตว์ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ภายใต้กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตร ให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ทำงานเชิงรุก ร่วมมือกันกับภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคเกษตรกร ให้เกิดการยกระดับการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยถึงความร่วมมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเครือข่ายเกษตรกรปลูกข้าวโพด เพื่ออาหารสัตว์ว่า บริษัทฯ ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร จัดอบรมถ่ายทอดความรู้และพัฒนาแนวทางการเพาะปลูกข้าวโพดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ให้แก่กลุ่มเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนนากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ปรับปรุงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัดว์ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจประเมินเพื่อรับรอง แหล่งผลิตสินค้าเกษตรในทุกขั้นตอนของการผลิตในระดับไร่และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ยอมรับมีผลผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของเกษตรกร

โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของบริษัทฯและเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้านความยั่งยืนและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงช่วยบรระเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการสร้างห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายด้านการจัดหาวัตถุติบทางการเกษตรของซีพีเอฟตามแนวทาง "ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ"

นายวรพจน์ กล่าวต่อว่า แนวทางการรับซื้อข้าวโพด "ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ" ถือเป็นหลักการสำคัญ ในบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส ใช้ในการจัดหาผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งเพาะปลูกจนถึงโรงงานอาหารสัตว์ว่าปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและปราศจากการเผาหลังเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้ บริษัท ถือเป็นรายแรก ในการเป็นผู้นำในธุรกิจจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ด้วยการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นการยืนยันการทำงานในระบบตรวจสอบซัพพลายเชน ด้วยความโปร่งใสให้กับห่วงโซ่การผลิตอาหารสัตว์

นอกจากนี้ ทางธุรกิจยังส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกตามแนวปฏิบัติ GAP เป็นมาตรฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรไทยสู่มาตรฐานสากล เป็นการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม เพราะมีการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับพื้นที่เพาะปลูกได้ จึงถือเป็นต้นแบบ วิธีการที่ใช้กับทั้งอุตสาหกรรม

เผยชาวไร่ข้าวโพด 1.1หมื่นรายจาก 3 แสนราย
พร้อมเปลี่ยนวิถีเกษตรสู่ความยั่งยืน

การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่มาตรฐาน GAP ต่อยอดจากโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" ที่บริษัทฯ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ช่วยเกษตรกรมีความรู้ในการผลิตข้าวโพคมีคุณภาพตรงตามความต้องการตลาด ลดต้นทุน มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรเป็นหนึ่งในแนวทางที่สนับสนุนนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ (Sustainable Sourcing Policy and Supplier Guiding Principle) ของซีพีเอฟ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการ จัดซื้อวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่ตรวจสอบย้อนกลับได้มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการบุกรุกพื้นที่ป่า

นายวรพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า GAP ช่วยให้เกษตรกรมีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพสูง ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มาจากแหล่งบุกรุกพื้นที่ป่า ไม่ใช้วิธีการเผาหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรไทย มีส่วนร่วมจัดการปัญหาฝุ่นที่เกิดจากการเผาเศษซากวัสดุทางการเกษตรและหมอกควันอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน มีเกษตรกรในโครงเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน กว่า 11,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 3 แสนไร่ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% สูงกว่าเกษตรกรที่อยู่นอกโครงการฯ และบริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยตรวจติดตามการเผาหลังเก็บเกี่ยวของเกษตรกรที่ลงทะเบียน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการจัดการเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม