เปิด 4 ปราชญ์ชาวบ้าน ปี 66 รับรางวัลผู้นำพัฒนาชุมชน จากมูลนิธิสัมมาชีพ

by ThaiQuote, 6 ตุลาคม 2566

มูลนิธิสัมมาชีพคัดเลือก 4 บุคคลรับรางวัล “ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” ปี 2566 เพื่อเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานเด่นของปราชญ์ชาวบ้านที่นำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์งานใหม่ จนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง

 

  

ปราชญ์ชาวบ้าน ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการยอมรับวิถีการปฏิบัติตน เป็นต้นแบบที่สามารถเข้าใจหลักธรรม ค่านิยม และจรรยาบรรณที่ดี สามารถพึ่งพาตัวเองได้ จึงเป็นผู้ช่วยแนะนำ และเป็นตัวกลางเชื่อมความเข้าใจ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ อย่างสันติภาพ ช่วยลดความขัดแย้ง กระตุ้นให้ชุมชนพร้อมเสียสละให้คนในชุมชนสร้างความร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม จึงมีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นได้

  

 

 

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ เปิดเผยถึง ผลการคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้าน จากคณะกรรมการมูลนิธิฯ ที่ต้องการยกยกย่องคนที่เป็นต้นแบบมีผลงานสร้างความสำเร็จโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม เป็นบุคคลที่มีคุณค่า จากการสร้างสรรค์งาน ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งได้เผยแพร่ความรู้และก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติในวงกว้าง จึงถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นต้นแบบที่ควรยกย่อง ได้รับการเชิดชูเกียรติ เพราะได้ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาที่ช่วยให้ชุมชน ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง

“รางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ถือเป็นรางวัลทรงคุณค่าที่มอบแก่ปราชญ์ชาวบ้านที่ได้สร้างสรรค์งานซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมจนประสบความสำเร็จด้วยหลักสัมมาชีพ และบุคคลเหล่านั้นยังได้ขยายความรู้ แบ่งปันต่อสังคม จนก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติ ขยายผลในวงกว้าง ผลงานดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับประเทศ การมอบรางวัลของมูลนิธิสัมมาชีพ ก็เพื่อที่จะให้บุคคลเหล่านั้นได้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นในสังคม และเป็นการร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานที่มีคุณค่า ให้แก่ผู้สนใจ หรือชุมชน ท้องถิ่น ได้นำไปปรับใช้ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนา ยกระดับศักยภาพของแต่ละกิจการให้เติบโตต่อไป” นายมงคลกล่าว

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล “ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” ประจำปี 2566 จากมูลนิธิสัมมนาชีพ ทั้ง 4 คนประกอบด้วย

  

 

1.นายวิโรจน์ คงปัญญา มีผลงานด้านการเงินและสวัสดิการชุมชน

ปราชญ์ยวิโรจน์ เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา อ.พรหมคีรี จ. นครศรีธรรมราช มีผลงานด้านเป็นผู้คิดค้นวิธีการบริหารระบบการเงิน การให้เงินกู้ การติดตามสมาชิก มีระบบบัญชีที่ได้รับมาตรฐาน รวมทั้งขยายสู่การพัฒนาอาชีพที่มั่นคง สร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายให้กับชุมชน จนถือเป็นโมเดลการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ จึงช่วยแก้ไขปัญหาเงินกู้นอกระบบของชุมชนได้ดี จนกลุ่มออมทรัพย์แห่งนี้ได้รับการส่งเสริมเป็นโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มสามารถขยายผลจากระดับตำบล สู่ระดับอำเภอต่าง ๆ ที่มีผลการดำเนินงานมากว่า 30 ปี และจากศักยภาพในการจัดการทุนชุมชน นำมาสู่ความเข้าใจในการบริหารจัดการขยายผลเชื่อมโยงไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สวัสดิการการศึกษา สุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันให้สมาชิก รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค จนถือเป็นชุมชนต้นแบบในการดูแลตนเองอีกแห่งหนึ่ง

 

 

 

2.นายธนากร จีนกลาง มีผลงานด้านการแปรรูปยางพารา

ปราชญ์ชาวบ้านธนากร เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ มีผลงาน คือ การเป็นผู้นำนวัตกรรมโรงอบยางพาราพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบลาโดมมาใช้ โดยหยิบผลงานวิจัยร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำโรงอบยางพาราโบลาโดมเพื่อช่วยดับกลิ่นยาง ลดระยะเวลาอบ ขจัดมลพิษในกระบวนการผลิต และยังช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ราว 7-8 แสนบาทต่อปี กระบวนการผลิตที่คิดค้นจากงานวิจัย ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยางคุณภาพ ราคาสูง ตลาดทั้งในประเทศและต่างชาติให้การยอมรับ

นายธนากรยังได้พัฒนาการทำธุรกิจยางพาราเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง ยกระดับสู่กระบวนการแปรรูปยางพาราจากยางแผ่นรมควันที่มีมาตรฐาน GMP ไปสู่ยางเครป แผ่นบาง ยางเครปขาว ทำให้เพิ่มมมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เพียงแค่วัตถุดิบยางพารา การพัฒนาจากผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและ มีความหลากหลาย จึงช่วยสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต รองรับความต้องการการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

 

 

 

3.นายก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ มีผลงานด้านนวัตกรรมสีย้อมจากธรรมชาติ

ทางด้านท่านปราชญ์ ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดค้นสีจากธรรมชาติและเป็นนวัตกรชุมชน อ.เมือง จ.อุดรธานี มีความสามารถในการประยุกต์ภูมิปัญญาและสร้างนวัตกรรมสีจากธรรมชาติ โดยแปรรูปวัตถุดิบจากพืช ธรรมชาติ ของเหลือใช้ภาคเกษตร เพื่อใช้ย้อมเส้นใยไหม ฝ้าย และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สีต่าง ๆ เช่น สีสกรีน สีน้ำ สีผง สีอะคลิลิค การแปรรูปเส้นใยจากพืช ใช้ความรู้ความสามารถจากจากสิ่งที่มีในชุมชนให้เกิดประโยชน์ ต่อการจัดการภาคการเกษตร ยกระดับอาชีพด้านหัตถกรรมของชาวบ้าน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจไบโอชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ( BCG) ,เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ องค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งไม่ใช่เพียงมีวิธีความรู้ ยังเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมสีย้อมจากต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งมีการประยุกต์ศิลปะร่วมสมัย ช่วยยกระดับอาชีพ สร้างงานและสร้างรายได้จากหัตถกรรมท้องถิ่น ซึ่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

 

 

 

4.นายสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ มีผลงานด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์มังคุุด

ปราชญ์ชาวบ้านคนสุดท้ายที่ได้รับรางวัลคือ สิทธิพงษ์ เป็นผู้นำฐานะ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ.หลังสวน จ. ชุมพร เป็นผู้ริเริ่มการรวมกลุ่มผู้ปลูกมังคุดท่ามะพลา ชื่อ “กลุ่มปรับปรุงมังคุดเพื่อการส่งออกตำบลท่ามะพลา” เพื่อผลิตมังคุดที่มีคุณภาพ โดยสร้างองค์ความรู้ตั้งแต่แผนการเพาะปลูก การดูแลบำรุง การใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ของดิน การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิต การรวมกลุ่มของชุมชนส่งผลทำให้ยกระดับราคามังคุดได้สูงกว่าราคาในท้องตลาด และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต รูปแบบการรวมกลุ่ม ได้สร้างแรงบันดาลใจ เป็นโมเดลประมูลมังคุดเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก

นอกจากนี้ ในกลุ่มปรับปรุงมังคุดยังได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ มาช่วยในกระบวนการจัดการ เช่น การนำวิธีการให้น้ำที่ช่วยลดการเกิดเนื้อแก้วยางไหลในมังคุดที่ได้รับนำ้ไม่เพียงพอ ในสภาพอากาศที่ฝนตกไม่แน่นอน การปลูกต้นมังคุดเสียบยอด เพื่อแก้ไขระยะเวลาในการให้ผลผลิต จนเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับ มีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค เพื่อร่วมพัฒนาการผลิตมังคุด นำไปปฏิบัติ

มอบรางวัลยกย่องปราชญ์ชาวบ้าน
อย่างเป็นทางการ 17 พ.ย.

ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพกล่าวว่า พิธีมอบรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ณ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยปราชญ์ชาวบ้านทั้ง 4 คนจะได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศและเงินสดคนละ 50,000 บาท และจะร่วมดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ผลงานร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้สนใจได้รับรู้และนำไปขยายผลต่อไป นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ และบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2566 บุคคลที่ได้รับรางวัล คือ ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์” แห่งเบทาโกร คว้ารางวัลประจำปี 2566

สำหรับรางวัลสัมมาชีพต้นแบบ เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2560 โดยเริ่มมอบรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพให้นักธุรกิจผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ที่ก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น และขยายสู่รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบ.