เปิด 3 กลุ่มธุรกิจ ‘ทรัพยากร-บริการ-การเงิน’ คว้าหุ้น ESG เรทติ้ง AAA มากที่สุด ปี 66

by ESGuniverse, 7 พฤศจิกายน 2566

แนวโน้มนักลงทุนสถาบันและรายย่อยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG มากขึ้น ดันกระแสความสนใจของนักลงทุนหุ้นยั่งยืนในไทย โต 3 ปีต่อเนื่อง ประกาศผล SET ESG Ratings โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ 193 บริษัท ในปี 2566 ,166 บริษัท ปี 2565 และ 144 บริษัท ปี 2564

 

 

เฉพาะ 193 บริษัทในปีนี้ สร้างมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (ณ 1 พฤศจิกายน 2566) สะท้อนการทำธุรกิจต่อจาก สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เป็นประเด็นที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

การทำธุรกิจยุคใหม่ ความสามารถในการทำกำไรสม่ำเสมอ หนี้ไม่สูง และ แข่งขันได้ บริหารงานโปร่งใส และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อาจดึงดูดความสนใจได้ไม่มากพอที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งในพอร์ตหุ้นของนักลงทุน

สะท้อนจากแนวโน้มนักลงทุนสถาบันและรายย่อยทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าจากนี้ ประเด็นด้าน ESG (E= Environment สิ่งแวดล้อม S = Social และ สังคม G = Governance ธรรมาภิบาล) จะเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจ ทั้งในระดับองค์กรธุรกิจ นักลงทุน และผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ

กระแสความสนใจของนักลงทุนต่อประเด็น ESG ในประเทศไทย มองผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เริ่มประกาศผลหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) มาตั้งแต่ปี 2558 จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น SET ESG Ratings โดยยกระดับการประกาศผลในรูปแบบของเรตติ้ง 4 ระดับ คือ AAA, AA, A และ BBB เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น

การเติบโตของหุ้นยั่งยืน หรือ SET ESG Ratings ในไทยขยายตัวมากขึ้นในแต่ละปี โดยมีบริษัทในตลาดหุ้น (บจ.) สมัครใจเข้าร่วมประเมินและผ่านการประเมินเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา


· ปี 2566 193 บริษัท
· ปี 2565 166 บริษัท
· ปี 2564 144 บริษัท


สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ บจ. ขณะเดียวกันผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุนต่างให้ความสำคัญ นำข้อมูลด้าน ESG มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาลงทุน ควบคู่ไปกับข้อมูลทางการเงินมากขึ้น โดยแบ่งเป็น

โดยในปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียนทีผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings 193 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 166 บริษัทในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (ณ 1 พฤศจิกายน 2566) แบ่งออกเป็น

· ระดับ AAA (คะแนนรวม 90-100) จำนวน 33 บริษัท
· ระดับ AA (คะแนนรวม 80-89) จำนวน 71 บริษัท
· ระดับ A (คะแนนรวม 65-79) จำนวน 64 บริษัท
· ระดับ BBB (คะแนนรวม 50-64) จำนวน 25 บริษัท

ทั้งนี้ ในจำนวน ระดับ AAA 33 บริษัท พบในกลุ่มทรัพยากร มากที่สุด 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) , บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รองลงมาอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน 6 บริษัท ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริการ 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นอกจากนี้อีก 13 บริษัทที่คว้าเรทติ้ง AAA อยู่กลุ่มธุรกิจอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี

เกณฑ์การประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในปีนี้ คัดเลือกจาก บจ. ที่มีคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนผ่าน 50% ในแต่ละมิติ (มิติบรรษัทภิบาลเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม) และแนวโน้ม ESG ที่สำคัญทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ รวมทั้งเป็นบริษัทที่มีผลการประเมิน CGR 3 ดาวขึ้นไป ไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากหน่วยงานทางการ มีผลกำไรสุทธิ 3 ใน 5 ปีย้อนหลัง เป็นต้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความสำคัญของข้อมูล ESG ว่า การประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในรูปแบบของเรตติ้งจะช่วยให้ผู้ลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุน และผู้จัดการกองทุนมีข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนต่อไป

“ปัจจุบันปัจจัยด้าน ESG ไม่ว่าจะเป็นบรรษัทภิบาล ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นสิทธิมนุษยชนในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน ล้วนมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น ผู้ลงทุนต้องการข้อมูลเพื่อให้ทราบว่า บจ. มีการบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร”

ทางด้าน บจ. สามารถนำไปใช้เป็น benchmark ในการพัฒนาผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท และยังช่วยสร้างความน่าสนใจต่อผู้ลงทุน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยผลการประเมินความยั่งยืนปี 2566 พบว่า บจ. ส่วนใหญ่มีการดำเนินการและสามารถเปิดเผยข้อมูลที่ดีขึ้น อาทิเช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัยต่าง ๆ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การลดใช้ไฟฟ้าและพลังงาน รวมถึงลดการใช้น้ำ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บจ. ยังต้องปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลการบริหารความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการจัดการประเด็นสิทธิมนุษยชนในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน และการวัดผลสำเร็จที่ได้จากโครงการพัฒนาชุมชนและสังคม

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตที่ยั่งยืน