‘ไทยยูเนี่ยน’ ลงนาม 2 โครงการสิ่งแวดล้อมโลก COP28 ชู ‘มหาสมุทรยั่งยืน – สร้างความมั่นคงอาหาร’

by ESGuniverse, 14 ธันวาคม 2566

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนจนเดือด เกิดขึ้นในทุกกิจกรรมของมนุษย์ แม้แต่ใน “มหาสมุทร” ท้องทะเลอันเวิ้งว้าง ก็เป็นหนึ่งในตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากหลากกิจกรรมในท้องทะเล อาทิ อุตสาหกรรมจับสัตว์น้ำ การขนส่งสินค้าและบริการ เป็นต้น

 

 


โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้มากล่าวถึง ภายใต้เป้าหมายต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในท้องทะเล เพื่อกอบกู้ “มหาสมุทรยั่งยืน” ผ่านการลงนามความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก สัญชาติไทย ได้ลงนามร่วมในโครงการสิ่งแวดล้อมโลก Ocean Breakthroughs

ทั้งนี้ ผู้แทนองค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า ต้องการผลักดันให้ “มหาสมุทรมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 35 % จากยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องลดให้ได้ภายในปี 2593” และยังเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศพัฒนาและลงมือปฏิบัติตามแผนการเพื่อความยั่งยืนให้กับมหาสมุทร

โดยมีความตกลงในการสร้างกรอบการทำงานในด้านนโยบายและการขับเคลื่อนการดูแลท้องทะเล มีการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน จึงเกิดการวางแผนงานช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากท้องทะเลและสร้างความสมดุลในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายด้านการปกป้องระบบนิเวศทางทะเล และเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

ดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านความยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงนามในโครงการนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทในด้านความยั่งยืนและการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ

โดยมีการลงนามในโครงการ “Ocean Breakthroughs” และโครงการสิ่งแวดล้อมโลก “Transforming our Food Systems” เป็นการปฏิรูประบบอาหารให้ยั่งยืนและเป็นธรรม รับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนในภาคการเกษตรและการผลิตอาหาร โดยโครงการนี้ต้องการให้เกิด “ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ” ในขณะที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากระบบอาหารลง

 

 

 

“การที่ไทยยูเนี่ยนสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งสองโครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวในเส้นทางการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ เพราะทั้งสองโครงการแสดงให้เห็นถึงการตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วนที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อมโลก สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยยูเนี่ยนในเรื่องอนาคตที่ยั่งยืน อนาคตที่มหาสมุทรจะยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับหลายล้านชีวิตบนโลกนี้ และด้วยกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน หรือ SeaChange® 2030 ที่วางเป้าหมายในการทำงานไปจนถึงปี 2573 เดินหน้ารวมพลังกับทุกภาคส่วนทั่วโลกเพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทาสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนระบบอาหารที่ยั่งยืน และนี่คือความรับผิดชอบที่เราตั้งใจทำในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเล”

11 พันธกิจ ความยั่งยืน ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป


ทั้งนี้กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ประกอบด้วย พันธกิจ 11 ข้อที่ครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อม และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 10 ข้อ ซึ่งรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

ในโครงการ จะมีการสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ การขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง (เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋อง) ภายใต้แบรนด์ของบริษัท100 เปอร์เซ็นต์จะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และ 100 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวกเพื่อสุขภาพที่ดี และรวมถึงการขับเคลื่อนให้ 100 %ของวัตถุดิบถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มจะได้รับการรับรองว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า


ทั้งนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 155,586 ล้านบาท (4,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน เป็นเจ้าของแบรนด์ Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ในไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ®BONE และ UniQ®DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita


จากผลการประเมินงานด้านความยั่งยืนปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 9 ปีติดต่อกันและได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไทยยูเนี่ยนเคยได้ในปี 2561 และปี 2562


บริษัทได้รับการจัดอันดับในดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 ในปี 2566 และปี 2566 นี้ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ใน S&P Global Sustainability Yearbook 2023 โดยมีคะแนนอยู่ในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ที่คะแนนสูงสุด จากกว่า 7,800 บริษัทที่เข้ารับการประเมิน นอกจากนี้ในปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน


การลงนาม 2 โครงการสิ่งแวดล้อมโลก สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของ บริษัทสัญชาติไทย ที่ดำเนินธุรกิจประมง และการค้าระหว่างประเทศชั้นน้ำระดับโลกรายนี้ ว่ามีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตามกติกาและมาตรฐานสากล เพื่อต้องการซื้อใจผู้บริโภค และให้ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (stakeholders) ทั่วโลก