คัดแยกขยะมารีไซเคิลใหม่ คืนคุณค่าบรรจุภัณฑ์ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

by ESGuniverse, 27 มกราคม 2567

PRO-Thailand Network จับมือลุงซาเล้ง ชวนคนไทยสายกรีนใส่ใจคัดแยกขยะ ในโครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” พร้อมลุ้นรับรางวัล

 

 

PRO-Thailand Network หรือเครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จับมือกับ เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป จัดโครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” ชวนคนไทยร่วมใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เพียงคัดแยก และส่งคืนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (MLP) เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและส่งเสริมการรีไซเคิลในวงกว้าง

โครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” กับ PRO-Thailand Network เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2567 ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการโดยคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท ตามวิธีการแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากทางโครงการ และลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน Green 2 Get เลือกกิจกรรม “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” กับ PRO-Thailand Network เพิ่มวัสดุเข้าร่วมโครงการ พร้อมลุ้นรับรางวัล ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่ส่งมายังโครงการ จะถูกนำไปรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ถือเป็นเป้าหมายหลักของโครงการเพื่อร่วมขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของประเทศไทย

ขั้นตอนการเตรียมคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ก่อนส่งเข้าร่วมโครงการ สามารถทำได้ดังนี้


- ประเภทขวดพลาสติก PET เพียงดื่มน้ำให้หมด หรือเทน้ำ/ของเหลวที่อยู่ในขวดออกให้หมด หากมีสิ่งสกปรกควรล้างทำความสะอาดและตากให้แห้ง บีบขวดให้แบนมากที่สุดเพื่อประหยัดพื้นที่ ขวดพลาสติก PET ใช้แล้ว สามารถนำมาผลิตเป็นขวดพลาสติกรีไซเคิล หรือที่เรียกกันว่าขวด “rPET” เพื่อนำกลับมาใช้ได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน (Bottle-to-Bottle Recycling) ขวด rPET สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน อย. ไทย ถือเป็นบรรจุภัณฑ์แห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง

- ประเภทกล่องเครื่องดื่ม UHT ประกอบด้วย 3 วัสดุหลัก คือ เยื่อกระดาษ 75 เปอร์เซ็นต์ และอีก 25 เปอร์เซ็นต์เป็นพลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยล์ (PolyAl) ผนึกกันเป็นชั้น ๆ ทั้ง 3 วัสดุนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก วิธีแยกกล่องเครื่องดื่ม UHT ใช้แล้ว เพื่อร่วมโครงการ เริ่มจากดื่มนม น้ำผลไม้ ให้หมดกล่องหรือใช้กะทิให้หมดกล่อง แล้วแยกกล่องและหลอดออกจากกัน ฉีกหรือตัดออกให้เป็นแผ่น ล้างให้สะอาด ตากกล่องให้แห้ง หรือถ้าไม่สะดวกตัดก็พับให้แบน ๆ ได้เช่นกัน

-ประเภทถุงขนมกรุบกรอบ ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองกาแฟ ซองอาหารสัตว์ หรือบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนหลายชั้น (Multilayer Plastic – MLP) ประกอบด้วยแผ่นฟิล์มพลาสติก แผ่นฟิล์มอะลูมิเนียมฟอยล์ แผ่นพลาสติกไนลอน และแผ่นพลาสติก PE โดยขั้นตอนการคัดแยก นำซองเปล่าหลังกินหรือใช้หมดมาตรวจดูว่าไม่มีสิ่งใดในถุง หรือล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วตากให้แห้ง ก่อนทำการพับ แล้วพับถุงเป็นปม หรือม้วนพับให้เป็นระเบียบ ก่อนส่งเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ โครงการยังพร้อมรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกอ่อนอื่น ๆ ด้วย เช่น ถุงเติมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ถุงพลาสติก ฟิล์มยืด ถุงแกง ที่ทำความสะอาดแล้ว และทำตามขั้นตอนด้านบน ก็สามารถส่งมาได้เช่นเดียวกัน

นางสาวมยุรี อรุณวรานนท์ ในฐานะผู้จัดการโครงการ PRO-Thailand Network กล่าวว่า ในยุคที่ปัญหาขยะและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นเรื่องท้าทาย การสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมถือได้ว่าสำคัญมาก จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการ "คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก" ขึ้น ซึ่ง PRO-Thailand Network ร่วมมือกับเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้มากขึ้น พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยร่วมคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งการรีไซเคิลไม่เพียงแต่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการใช้พลังงาน และช่วยให้ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การคัดแยก เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อรีไซเคิลจึงไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ในการจัดการขยะเท่านั้น แต่ยังถือเป็นหัวใจของการดูแลสิ่งแวดล้อมและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ PRO-Thailand Network ดำเนินโครงการนำร่องจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที (เช่น กล่องนม น้ำผลไม้ กล่องกะทิ) และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ) ในระหว่างปี 2563 – 2565 สามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทขวดพลาสติก PET จำนวน 25,134.15 ตัน ประเภทกล่องเครื่องดื่มยูเอชที จำนวน 180.49 ตัน และประเภทถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนใช้แล้วได้ 78.56 ตัน

นอกจากนี้ นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้ก่อตั้งเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป และเจ้าของแอปพลิเคชัน Green2Get ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นำมาใช้กับกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า การร่วมมือกับ PRO-Thailand Network ในโครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” ถือเป็นการริเริ่มส่งเสริมการจัดการขยะที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในประเทศไทย การแยกขยะอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวและยุ่งยากสำหรับหลาย ๆ คน ดังนั้น การจัดโครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” ขึ้นมา ผ่านแอปพลิเคชัน Green2Get จะกระตุ้นทำให้การส่งคืนขยะเป็นเรื่องง่ายขึ้น เหมาะกับผู้บริโภคสายกรีนในปัจจุบัน เพราะทำให้กระบวนการนี้เป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้มากขึ้น เน้นการให้ความรู้ และจัดการขยะรีไซเคิล นอกจากนี้การร่วมมือกับ PRO-Thailand Network ยังถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มปริมาณบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ส่งผลให้การจัดการขยะในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ วิธีการร่วมโครงการ “คัดแยก ส่งคืน ฟื้นโลก” กับ PRO-Thailand Network ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน Green2Get โดยดาวน์โหลดได้ตามลิงก์นี้ iOS: https://apple.co/3NHUQr0
Android: https://bit.ly/android_G2G แล้วเลือกหมวด “กิจกรรม” เพื่อเข้าไปสู่กิจกรรมรักษ์โลกตามระบบ โดยสามารถสะสมน้ำหนักให้มากที่สุดเพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล และตรวจสอบจำนวนการส่ง ผ่านแอปพลิเคชัน Green2Get เพื่อลุ้นรับรับรางวัล จากทาง PRO-Thailand Network หรือ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: PRO-Thailand Network https://web.facebook.com/prothailandnetwork

PRO-Thailand Network คือ เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ PRO-Thailand Network ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2562 จากการรวมกลุ่มโดยสมัครใจของภาคเอกชน อาทิ ผู้เป็นเจ้าของตราสินค้า ผู้ผลิตสินค้า และผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด ซึ่งต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนในระดับโลก ต่างตระหนักร่วมกันถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน จึงให้ความสำคัญเรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคอย่างถูกต้องและยั่งยืน โดยยึดหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทางการออกแบบ ไปจนถึงปลายทางการเก็บกลับ การรีไซเคิล ตลอดจนการกำจัดการซากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy)

ส่วนเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป คือเพจให้ความรู้เรื่องการแยกขยะทุกประเภทด้วยวิธีง่ายๆ ไอเดียนี้เริ่มจาก เปรม–เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้เติบโตมากับธุรกิจรับซื้อของเก่าจากที่บ้าน เปรมสนใจความเป็นไปของธุรกิจรีไซเคิลและอยากให้คนอื่น ๆ ได้เข้าถึงข้อมูลที่เขามี เพราะเขาเชื่อว่าการแยกขยะนั้นมีอะไรที่มากกว่าการสร้างรายได้ แต่มันคือการที่เราร่วมกันรักษาทรัพยากรบนโลกนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม