เยอรมัน ปลดล็อกกักเก็บคาร์บอน อนุมัติแผนปฏิบัติการขนส่งลงใต้ท้องทะเลอย่างปลอดภัย

by ชวิศา เศรษฐบุตร, ประกายดาว แบ่งสันเทียะ, 10 มีนาคม 2567

รัฐบาลเยอรมนี เร่งแผนลดคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ในปี พ.ศ.2588 เร็วกว่าข้อกำหนดสัญญาปารีสถึง 5 ปี ผ่านกลยุทธ์แผนปฏิบัติการอัดก๊าซคาร์บอนฯ อนุมัติกฎหมายขนส่งคาร์บอนจากอุุตฯบนบก ลงสู่ท้องทะเลอย่างปลอดภัย

 


ปัญหาหนักอก อันท้าทายการปรับตัวของอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมหนัก ในประเทศที่ต้องลดอุณหภูมิโลก อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา. ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศแถบยุโรปที่มีการใช้มาตรการป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอนจากสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายในยุโรป ด้วยการเก็บภาษีคาร์บอนเครดิต โดยใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กลุ่มอุตสาหกรรมแรกคือ อุตสาหกรรมหนัก เหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม หนึ่งในแนวทางที่สหภาพยุโรป (EU-European) จะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม ไปสู่การ “ปฏิรูปเศรษฐกิจสีเขียว” (European Green Deal) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ภายในปี 2573 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ขณะที่ประเทศเยอรมนรี ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำที่จะลดคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ก่อนข้อตกลง 5 ปี คือ ภายในปี 2588 ความท้าทายอยู่ตรงที่ กฎหมายเยอรมนี ไม่อนุมัติให้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS-Carbon Capture Storage) มาใช้บนบก เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายตั้งแต่ปี 2543 ความหวังที่เป็นทางเลือกใหม่ คือ การเก็บคาร์บอนไว้ใต้มหาสมุทร เป็นทางออกสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อย่างเช่น ซีเมนต์ ที่มีการปล่อยคาร์บอน ในปริมาณมาก ยากต่อการกำจัดด้วยวิธีการเดิมๆ แต่ยังถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหาศาล จึงไม่อาจปิดโรงงานไปในทันทีได้

 


นายโรเบิร์ต ฮาเบ็ค (Robert Habeck) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงการผ่านกฎหมายปฏิบัติการ อนุมัติการขนส่งคาร์บอนจากบนบนลงสู่ใต้ท้องทะเล หลังจากที่เคยต่อต้าน โดยเอกสารของรัฐบาลเยอรมนี ในปลายเดือนกุมภาพันธ์่ที่ผ่านมา ได้ระบุถึงการสนับสนุนเป้าหมายแผนของสหภาพยุโรป การกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้กับอุตสาหกรรมหนักต้นน้ำในการปล่อยก๊าซ เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และ ปูนซีเมนต์ โดยมีการปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเดิม ในปี พ.ศ. 2555 ยังไม่อนุญาตให้ CCS บนบกมีการขนส่งไปยังทะเลได้ แต่จะต้องมีการปรับปรุงในรายละเอียดเพื่อความปลอดภัยต่อไป

“ เรากำลังทำการตัดสินใจทั้งเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้การใช้ CCS เป็นไปได้ในเยอรมนี ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่สามารถทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ และ บรรลุเป้าหมายลดอุณหภูมิไม่สูงเกิน 1.5 องศา เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพอากาศแปรปรวนได้ และการไม่ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยวิธีการกักเก็บคาร์บอนจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเยอรมนี" เขากล่าว

 

กลยุทธ์ปฏิบัติการส่งคาร์บอนสู่ก้นทะเล
ทางเลือกลดมลพิษที่มีประสิทธิภาพ

โดยจุดเน้นของเทคโนโลยีเก็บกักคาร์บอน CCS จะอยู่ในภาคส่วนอุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถกำจัดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างสมบูรณ์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จับได้จะถูกขนส่งและเก็บไว้ในพื้นที่ที่กำหนดคือ ใต้ก้นทะเล ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเยอรมนี (EEZ-exclusive economic zone
) ในทะเลเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลที่รัฐมีสิทธิพิเศษเหนือเขตดังกล่าวในการสำรวจและใช้ทรัพยากรทางทะเล

แนวทางนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จับได้อย่างปลอดภัยในระยะยาว ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซ้ำออกสู่ชั้นบรรยากาศ และอาจมีการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ดิน (บนบก) ด้วย หากรัฐบาลเยอรมันให้การอนุมัติ


ภาคธุรกิจขานรับ NGO หวั่นเปิดโอกาสฟอสซิลเติบโต
รมว.เศรษฐกิจแจง CCS ทางเลือกรอพลังงานสีเขียว

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรม (BDI - Bundesverband der Deutschen Industrie) องค์กรแม่ของอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ของเยอรมนี เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แต่องค์กรพัฒนาเอกชน(NGO-Non Governmental Organization) ด้านสิ่งแวดล้อมกลับมีความคิดต่าง เนื่องจากมีความกังวลว่าโครงการนี้อาจเปิดประตูให้กับโมเดลธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเก่าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ฮาเบค แย้งว่า CCS จะเป็นเพียง "ส่วนเสริมที่จำเป็น" สำหรับนโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งยังคงมุ่งเน้นที่จะหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่แรก รวมถึงการค่อยเพิ่มการสัดส่วนโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เป็นการเปลี่ยนผ่านในการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทีละขั้นตอน ถือเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในรูปแบบเดิมและเพิ่มโอกาสแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมหนักต้องถูกดักจับและกักเก็บ หากการกำจัดการปล่อยก๊าซทั้งหมดเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ หรือการเผาขยะ

 

ดึงพันธมิตรเพื่อนบ้านลงนาม
ขนส่งคาร์บอนข้ามพรมแดน

ฮาเบค เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือข้ามพรมแดนในยุโรปในการใช้แนวทางการจัดการคาร์บอน โดยชี้ไปที่พิธีสารลอนดอนที่ควบคุมการขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ข้ามพรมแดนด้วย ว่า เพื่อให้ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ในเยอรมนี การปฏิรูปกฎหมายและข้อตกลงกับประเทศอื่น ๆ ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้เพิ่มเติมแล้ว หรือมีสถานที่จัดเก็บที่มีอยู่แล้ว เป็นสิ่งจำเป็น”

ที่ผ่านมาการประท้วงต่อต้านแผนการใช้ CCS มีมาเป็นเวลานาน ทำให้การกักเก็บคาร์บอนกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เยอรมนีไม่สามารถกำหนดนโยบายได้ แต่ปีนี้เป้าหมายของประเทศในการสร้างความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศภายในปี 2588 ได้เปิดประเด็นถกเถียงเรื่องนี้อีกครั้งในประเด็นการต่อสู้กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยากต่อการรับมือ

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า CCS จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอกลยุทธ์ในการดักจับคาร์บอน การใช้ประโยชน์ การจัดเก็บ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในเยอรมนี

 

ปรับปรุงกฎหมายขนส่งข้ามพรมแดนปลอดภัย

เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามขั้นตอน CCS รัฐบาลจำเป็นต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่
นอกจากนี้ เยอรมนีเตรียมจะอนุญาตให้ใช้ CCS ในโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงด้วย โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกจับได้ จะถูกนำไปใช้หรือกักเก็บใต้ก้นทะเล โดยทางทั้งในเยอรมนีและต่างประเทศ จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายทำข้อตกลงกับต่างประเทศในการร่วมมมือกัน บริหารจัดการควบคุมการขนส่งคาร์บอนข้ามพรมแดน

จึงต้องมีการทำข้อตกลงแก้ไขพิธีสารลอนดอน ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล โดยเฉพาะสำหรับการขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการจัดเก็บใต้ทะเล สิ่งนี้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับรองการใช้เทคโนโลยี CCS อย่างรับผิดชอบและปลอดภัย

ความกล้าในการตัดสินใจใช้ CCS ท่ามกลางเผชิญกับความท้าทายกับอุปสรรคต้นทุนเทคโนโลยี รวมถึงข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย ถือเป็นการต่อสู้อันยากลำบากต่อการไปถึงเป้าหมายให้สำเร็จ


นี่คือเส้นทางการของการเป็น “ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี CCS” โจทย์ข้อนี้ของเยอรมนี จะได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด ในฐานะประกาศตัวเป็นผู้นำที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2588 เร็วกว่าข้อตกลงพันธสัญญาปารีส


ทั้งนี้ปัจจัยที่จะนำไปสู่การบรรลุ CCS ได้สำเร็จ มีองค์ประกอบดังนี้

การประยุกต์ใช้ตามเป้าหมาย :


การนำเทคโนโลยีเก็บกักคาร์บอน CCS ( Carbon Capture and Storage) จะมุ่งเน้นเฉพาะในกลุ่ม อุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีความจำเป็นในการขับเคลื่อน แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีการผลิตเข้าไปกำจัดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างสมบูรณ์

การจัดเก็บใต้ทะเล :


กระบวนการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จับได้จะถูกขนส่งและเก็บไว้ในพื้นที่ที่กำหนดคือ ใต้ก้นทะเล ภายในพื้นที่ เขตเศรษฐกิจจำเพาะของเยอรมนี (EEZ) ในทะเลเหนือ แนวทางนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จับได้อย่างปลอดภัยในระยะยาว ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซ้ำออกสู่ชั้นบรรยากาศ และอาจมีการจัดกับก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ดิน (บนบก) ด้วยหากรัฐบาลเยอรมันให้การอนุมัติ

แก้กฎหมาย-ข้อตกลงเดิม เพิ่มความคล่องตัว :


เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามขั้นตอน CCS รัฐบาลจำเป็นต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ นอกจากนี้ เยอรมนีจำเป็นต้องให้สัตยาบันการแก้ไขพิธีสารลอนดอน ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล โดยเฉพาะสำหรับการขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการจัดเก็บใต้ทะเล สิ่งนี้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับรองการใช้เทคโนโลยี CCS อย่างรับผิดชอบและปลอดภัย

ต้นแบบแผนปฏิบัติการ CCS ระดับโลก :

การตัดสินใจของเยอรมนีที่จะยอมรับ CCS สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางเชิงปฏิบัติ เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลยุทธ์การจัดการคาร์บอนและกฎหมายการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการแผนปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีการวางแผนทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ มีการศึกษา ปัญหาอุปสรรค ประเมินความเสี่ยง โดยการสำรวจหลากหลายช่องทาง หากสำเร็จจะถือเป็นประเทศบุกเบิกปฏิวัติอุตสาหกรรม ในการนำคาร์บอนจากอุตสาหกรรมหนักไปกักเก็บไว้ใต้ท้องทะเล แทนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

 

 

ที่มา


https://esgnews.com/germany-to-allow-carbon-capture-underwater-storage/

https://www.cleanenergywire.org/news/germany-support-ccs-industry-allow-offshore-carbon-storage-upcoming-strategy