กทม.จับมือพันธมิตร ปลูกป่ากลางกรุง ดับองศาร้อน คืนสุขภาวะคนเมือง

by ESGuniverse, 8 เมษายน 2567

SX2024 จับมือเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ สร้างพลัง ปลุกกระแสด้านความยั่งยืนในหลากมิติ ผ่านกิจกรรม SX TALK SERIES

 

ประเทศไทยมีป่ามากกว่า 30% ของ พื้นที่ประเทศ และมีชุมชนเมืองที่เข้มแข็งหลายพื้นที่ แต่ยังขาดระบบบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวที่มีประสิทธิภาพ ในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมือง รวมถึงการขาดศักยภาพของผู้ประกอบการ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เมืองเศรษฐกิจขับเคลื่อนการเติบโตทางผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) แต่คนกลับขาดสุขภาวะดี เต็มไปด้วยรังสีความร้อนและมลพิษ จากการใช้พลังงานสูง

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป คนอยู่ในเมืองก็ได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันที่เห็นได้ชัด คือ ฝุ่น pm 2.5 ที่มาจากระบบขนส่งที่ไม่มีการจัดการที่ดี ความไม่สมดุลของพื้นที่สีเขียวและอาคารบ้านเรือนในเมือง

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ร่วมองค์กรธุรกิจต้นแบบด้านความยั่งยืน เครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ สร้างพลัง ปลุกกระแสด้านความยั่งยืนในมิติต่าง ๆผ่านเวทีเสวนา SX TALK SERIES ภายใต้งาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือขององค์กรชั้นนำระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีแนวคิดหลัก “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” (Sufficiency for Sustainability)

SX TALK SERIES เป็นเวทีเสวนาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองข้อมูลด้านความยั่งยืน มีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน กลุ่มเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตของโลกที่ยั่งยืน และได้รับการตอบรับอย่างดีจาก Sustainability Expo 2023 (SX2023) ทำให้ปีนี้ Sustainability Expo 2024 (SX2024) ดำเนินกิจกรรมได้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2


ปีนี้เวทีเสวนา SX TALK SERIES เน้นเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ “เมือง สวน ป่า: ปลูกให้เป็น เมืองเย็นได้” เมื่อพื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในทางรอดหลักของคนเมืองในสภาวะที่ร้อนระอุและเต็มไปด้วยฝุ่นควัน โดยมีทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญนักพัฒนาเมืองและเครือข่ายที่ปฏิบัติจริง มาร่วมถ่ายทอดมุมมอง แนวคิด และประสบการณ์ทำงาน ณ C asean SAMYAN CO-OP สามย่านมิตรทาวน์

พื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่
ทางรอดของคนเมือง รับมือโลกร้อน

คุณปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 1 สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ให้ข้อมูลว่า “ปัจจุบัน กทม. มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 7.87 ตร.กม. ต่อคน ขณะที่ WHO กำหนดไว้ว่า เมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตร.กม. ต่อคน เมื่อเมืองมีพื้นที่สีเขียวน้อย จะทำให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือ Urban Heat Island

กทม.จึงมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ผ่าน 2 โครงการ คือ 1) สวน 15 นาทีทั่วกรุง สร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ได้ ห่างจากบ้านหรือที่ทำงาน 15 นาที 2) ปลูกต้นไม้ล้านต้นเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง

“ กทม. ร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคประชาชน มุ่งเน้นการปลูกไม้ยืนต้น 75% เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียว และมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น”

 

บำรุงต้นไม้ คนเมืองได้สุขภาวะดี


คุณอรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “Big Trees” และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ต้นไม้ในเมืองไม่แข็งแรง โดยเฉพาะต้นไม้ที่ปลูกใกล้สิ่งก่อสร้างหรือริมทางเท้า คือ การเทคอนกรีต จนชิดโคนต้น ทำให้รากอ่อนแอ ไม่สามารถรับน้ำและอาหารได้เต็มที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบทั้งในกทม. และต่างจังหวัด เช่น ต้นจามจุรีที่สวนเบญจกิติ ต้นจันประวัติศาสตร์ ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

“ทางรุกขกรจะต้องเข้าไปช่วยดูแลต้นไม้ให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง โดยใช้เสียมลมเป่าราก เปิดโคนต้น และบำรุงดิน จึงอยากเน้นย้ำว่าถ้าอยากให้ต้นไม้ให้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เราต้องช่วยกันดูแล หมั่นสังเกตสุขภาพต้นไม้ เพื่อให้เมืองดีขึ้น และมีต้นไม้ใหญ่ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน”

 

ต้นไม้จำฝุ่น สลายควันPM2.5เมืองกรุง


รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร อาจารย์ประจําสายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มวิจัยเรื่องต้นไม้กับมลพิษใน ปี 2013 เราพบว่าต้นไม้แต่ละประเภทเหมาะสำหรับพื้นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะต้นไม้ดักจับฝุ่น ที่มีทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม

จากการวิจัยพบว่า ต้นไม้จำฝุ่นแต่ละชนิดได้ หากได้รับฝุ่นชนิดเดิมซ้ำ ๆ ต้นไม้จะสร้างกระบวนการเพื่อรับมือกับฝุ่นได้เร็วขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในเมือง ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ให้เยอะ แต่ต้องวางแผนให้ดีว่าจะปลูกต้นไม้อย่างไร เพื่อดักจับฝุ่นให้ได้มากที่สุด เพราะบางพื้นที่เป็นจุดอับสายตา ถ้าปลูกต้นไม้สูงก็จะไม่ปลอดภัยสำหรับคนเดินทาง

“ ตอนนี้เรากำลังร่วมกับ กทม. สร้างโมเดลถนนต้นไม้บริเวณถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นพื้นที่หนาแน่น ฝุ่นควันเยอะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหาในพื้นที่นี้ได้”

โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว
แนวคิดยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง

คุณยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we!park กล่าวว่า การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง จำเป็นต้องสำรวจฐานข้อมูลก่อนว่าพื้นที่ใดมีอิมแพคสูงสุด เช่น มีประชากรหนาแน่น มีปัญหาฝุ่นควัน แล้วออกแบบพื้นที่ให้ตรงตามความต้องการของชุมชนโดยรอบ บางพื้นที่อาจเป็นที่ออกกำลังกาย เป็น Pop-up Park หรือเป็นสนามเด็กเล่นก็ได้ ซึ่งขนาดพื้นที่อาจไม่สำคัญเท่าระยะทางที่ใกล้ สามารถเดินไปจากบ้านได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

“ อยากให้ทุกคนมองว่าพื้นที่สาธารณะสีเขียว เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของเมือง เหมือนกับที่เมืองต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ถ้าทุกคนเข้ามาช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง เราจะทำให้เมืองดีขึ้นได้”

พื้นที่สีเขียวในออฟฟิศ ช่วยฮีลใจ
พนักงาน

คุณสมัชชา วิราพร รองบรรณาธิการอํานวยการบ้านและสวน กล่าวว่าบ้านและสวนได้ ให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว ทั้งในมุมของสื่อที่ให้ความรู้ ปลูกฝังความรักธรรมชาติ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับพื้นที่สีเขียวใกล้ตัว

“ ที่ออฟฟิศของเราก็มีพื้นที่สีเขียวเยอะ ไว้สำหรับพนักงานได้มาพักผ่อนและผ่อนคลายจากการทำงาน ทาง กทม. ก็ได้มาสำรวจ และนับว่าตรงนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวของภาคเอกชน วันนี้อยากให้ทุกคนคิดว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่พวกเราสามารถช่วยกันลงมือทำได้ ไม่ว่าจะที่หรือที่ทำงานก็ตาม”

ทั้งนี้ กิจกรรมเสวนา SX TALK SERIES ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นอีกครั้งในวันเสาร์ ที่ 27 เมษายน 2567 ที่ C asean SAMYAN CO-OP สามย่านมิตรทาวน์

Tag :