ถอดบทเรียนกากแคดเมียม ขยะมลพิษที่จัดการได้ หากวางระบบถูกที่ถูกทิศ

by ESGuniverse, 23 เมษายน 2567

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและผู้เชี่ยวชาญ ถอดบทเรียนปัญหากากแคดเมียม จัดเก็บ-กำจัดอย่างไรให้ยั่งยืน พร้อมดันหลักการกฏหมาย PRTR ให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมไทย

เรื่องเด็ดประเด็นร้อนตอนนี้ อย่างไรก็คงไม่พ้นเรื่องกากแคดเมียมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้มีการถูกพูดถึงและวิตกกังวลอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ที่มีต้นต่อเรื่องมาจากการขุดและเคลื่อนย้ายกากแร่แคดเมียม จากบ่อเก็บกากแร่ในบริเวณโรงถลุง สังกะสีเดิม ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ไปยังโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

ความผิดปกติได้เกิดขึ้น เมื่อกลับตรวจสอบพบว่า กากแร่แคดเมียมที่โรงงานปลายทางการขนย้ายแร่ไปเก็บ กลับมีปริมาณน้อยกว่าที่แจ้งขออนุญาตขนย้าย และไม่ถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสม เท่ากับว่ามีแร่อันตรายบางส่วนที่ล่องหนหายไป


อีกทั้งยังพบกากแร่แคดเมียมอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ในโรงงาน พื้นที่จังหวัดชลบุรีเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งที่โรงงานนี้ เป็นโรงงานไม่มีใบอนุญาต และไม่มีคุณสมบัติ ทำหน้าที่ในการรับจัดการกากของเสียอันตราย

ด้วยกากแร่แคดเมียม ถือเป็นวัตถุกากของเสียที่อันตราย หากได้รับปริมาณมากจะมีโอกาสทำลายสุขภาพโดยเฉียบพลัน จึงไม่สามารถจัดเก็บได้ในโรงงานทั่วไป


ดังนั้น แม้จะมีการแก้ไขปัญหาโดยการวางแผนการจัดการขนย้ายกากแคดเมียมกลับไปที่ต้นกำเนิด ณ จังหวัดตาก แต่หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องหรือ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการหลอมเพื่อนำแร่ไปใช้ประโยชน์ต่อ ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนในระดับรุนแรง จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความวิตกกังวลใจของประชาชน ต่อการขนย้ายที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ทั้งในพื้นที่ที่มีการสะสมกากแคดเมียมและพื้นที่ที่มีการขนย้าย


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ได้สะท้อนเห็นถึงปัญหาด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของเสียอันตรายของประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันทบทวน วิเคราะห์ และเสนอมาตรการการบริหารจัดการให้มีความรัดกุม เพื่อป้องกัน การติดตามและกำกับดูแล รวมถึงการแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีอย่างเป็นระบบ

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างภาคีภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จึงได้จัดการเสวนาเพื่อร่วมกันเสนอทางออกในการป้องกันและรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ผ่านการเสวนาในหัวข้อ "บทเรียนและทางออกการจัดการแคดเมียม” เพื่อสะท้อนข้อมูลสถานการณ์ และปัญหาการจัดการกากแดดเมียมที่ผ่านมา รวมทั้งร่วมเสนอมาตรการยกระดับการจัดการของเสียอันตรายในอนาคต


ในงานเสวนาได้มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องร่วมถกประเด็นและถอดบทเรียน ย้อนรอยสถานการณ์บัญหากากแคดเมียม รวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเคลื่อนย้ายและการจัดการกากแร่แคดเมียม พร้อมการสังเคราะห์ข้อเสนอจากวิทยากรและผู้สนใจร่วมการเสวนา จัดทำเป็นข้อเสนอหรือมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพจัดการกากของเสียอันตรายสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

ประกอบด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และอดีตประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ คุณเพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และ รศ.ดร. สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกันถอดบทเรียน การบริหารจัดการกากแร่ของเสียในประเทศอย่างยั่งยืน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดประเด็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จะต้องมีการนำปัญหามาถอดบทเรียน จึงจะค้นพบทางออกอย่างยั่งยืนของประเทศไทย และไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกครั้ง จึงต้องมีการวางระบบจัดการของเสีย ทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ จะต้องมีแนวทางจัดการปัญหาเฉพาะหน้า และมองไปถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการหาทางออกอย่างแท้จริง

 

สารพัดนวัตกรรมจัดการกากของเสีย


ด้าน รศ. ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ระบุในทางวิชาการ ถึงแนวทางการจัดการปนเปื้อนของเสียที่ถูกต้องว่า จะต้องมีการกำหนดแหล่งกำเนิดของเสีย เพื่อดำเนินการหาแนวทางการจัดเก็บกากสารเคมีที่มีโลหะหนักได้ถูกต้อง เช่นกากแคดเมียมสามารถทำได้หลายรูปแบบได้แก่ การกรอง ออกแบบเขื่อนกั้น การใช้พืชดูดซับ และมีระบบติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสื่อสารข้อมูลกับประชาชนให้ชัดเจน


“ในปัจจุบันของเสีย จะมีวิธีการจัดการได้หลากหลาย กากเหล่านี้สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้หรือไม่ ต้องบอกว่า กากเหล่านี้สามารถถูกเอามาสกัดใหม่ได้ เพียงแต่กระบวนการในการจัดการต้องทำอย่างรัดกุม ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง”


ทั้งนี้ พบว่ามีนวัตกรรมการบริหารจัดการกากของเสียหลากหลายด้าน ที่ไม่เพียงแค่การฝังกลบ ดังเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พืชมาสกัด ซึ่งพืชที่สามารถดูดและสะสมแคดเมียมที่ได้วิจัยไปแล้วมีพืชอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะพืชวงศ์ผักกาดซึ่งโตเร็วมาก เพียงแต่จะต้องมีข้อควรระมัดระวังหลากหลายด้าน อาทิ การระมัดระวังไม่ให้สัตว์มากินจนกลับไปสู่ห่วงโซ่อาหาร


นอกจากนี้มีการกล่าวถึงวิธีการจัดการกากแคดเมียม เมื่อต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการ ใครคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ และที่สำคัญ การจัดการไม่ว่าจะทำด้วยรูปแบบไหน หัวใจสำคัญอยู่ที่ การวางระบบการติดตามตรวจสอบของเสียจนถึงจุดสิ้นสุด เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลว่าจะไปส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพน้ำบวกผิวดิน น้ำใต้ดิน คุณภาพอากาศ เป็นต้น


ซึ่งปัจจุบันทำได้ไม่ยาก เพราะประเทศไทยมีเทคโนโลยีริเริ่มอยู่แล้ว ฉะนั้นในทางวิชาการโดยร่วม ควรจัดการ ข้อมูลแรกๆ ที่ต้องรู้ คือความเข้มข้นในกากแคดเมียมที่ได้จัดเก็บอยู่ เพื่อแสดงถึงผลกระทบรวมทั้งการเลือกวิธีการ เทคโนโลยี กำจัดหรือจัดการให้เหมาะสม


“ปัจจัยที่นำไปสู่ความยั่งยืน จะต้องมอบให้ครบทุกมิติ ทั้งสุขภาพ สังคม ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ถ้าจะเอาปัจจัยทั้ง 3 มาผนวกกันในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จะถือว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการมองแค่ผลประกอบการ และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สุดท้ายขึ้นอยู่กับผู้บริโภคมีความรับผิดชอบมากขึ้น จะเป็นจุดเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเองหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะสามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด”


แนะออกฎหมาย PRTR บังคับลงทะเบียนอุตฯ
แจงข้อมูลครอบครองสารเคมี


ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวถึงกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญในกฎหมายการจัดการกับสิ่งแวดล้อมเพียงพอ ซึ่งประเทศไทยควรนำกฎหมาย PRTR มาใช้ตั้งแต่ปี 2535 ตามที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนด การไม่มีกฎหมาย จึงอาจจะส่งผลต่อการยอมรับในเวทีโลก เพราะองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ไม่รับประเทศไทยเข้าระบบ เนื่องจากไม่มีหลักการตัวนี้


นี่จึงทำให้ภาคประชาชน เข้ามากดดัน ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนจากการเข้าไปร่วมมือกับหลายองค์กร เพื่อยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม PRTR ซึ่งมีแนวทางหลากหลายด้าน ทั้งร่างกฎหมายอยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิ่งแวดล้อม ฉบับปรับปรุง หรือเป็นกฎหมายแยกออกมา หัวใจหลักคืออยู่ที่ การให้ความสำคัญ กับการคุ้มครองผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม


"หัวใจสำคัญของ กฎหมาย PRTR คือการเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะ ถึงชนิดและปริมาณการครอบครองสารพิษ การปลดปล่อยสารพิษ และการเคลื่อนย้าย ถ้ามีหลักการ PRTR จะช่วยให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล เพราะสื่อจะสามารถค้นหาข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ผ่านทางเว็บไซต์ได้ทันที โดยหลักการกฎหมาย PRTR ระบุให้โรงงานต้องมีการเผยแพร่สารเคมีที่ครอบครอง จึงสามารถเข้าถึงข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์ได้”


นอกจากนี้ ประโยชน์ของการมีกฎหมาย PRTR เพื่อช่วยจัดการกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยนำไปสู่การวางรากฐานสังคมไทย สร้างสังคมที่โปร่งใส มีการวางแผนสร้างความยั่งยืนในทุกมิติที่ต่อเนื่องจากสิ่งแวดล้อม ทั้ง สุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ"

 

PRTR ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด
แต่เป็นจุดเริ่มประชาชนมีส่วนติดตามตรวจสอบ

ส่วน อร่าม พันธุ์วรรณ ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ระบุถึงประโยชน์ของการจัดทำกฎหมาย PRTR นี้ว่า ความจริงคือ PRTR ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง ซึ่งหลักเกณฑ์ PRTR คือ รูปแบบการรายงานข้อมูลที่มีการบอกให้ทราบถึงแหล่งที่มาของมลพิษและเผยแพร่สู่สาธารณะชนให้รับทราบ ถึงที่มาและเส้นทาง รายงานในรูปแบบของปริมาณ ไม่ใช่ความเข้มข้น ซึ่งภาครัฐจะนำไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป


“หลายๆ โรงงานเมื่อมีการรายงานเกี่ยวกับการใช้มลพิษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนภาคประชาชนก็จะสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ถึงการปล่อยมลพิษของโรงงานเหล่านั้นในการติดตั้งโรงงานในพื้นที่ใกล้บ้านเรือน”
หากมี PRTR แล้วภาครัฐจะได้ทราบสถานภาพและแนวโน้มของปัญหามลพิษ นับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดมลพิษ เป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียวัตถุดิบในกระบวนการผลิต และลดการปลดปล่อยสารมลพิษ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอีกด้วย ขณะเดียวกันภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสารเคมี


โจทย์แท้จริง ไม่ใช่หาคนผิด
แต่ทำให้คนเข้าใจมลพิษ เรื่องใหญ่ที่ต้องวางระบบจัดการ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และอดีตประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุถึงโจทย์ในการแก้ปัญหากากลดแคดเมียมว่า นี่ไม่ใช่การเร่งหาคนผิด โจทย์แท้จริง คือ การจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นว่าจะเร่งทำอย่างไร และอีกโจทย์หนึ่งคือ การทำให้คนเข้าใจว่า การจัดการมลพิษนั้นสำคัญกว่าหาคนผิด


“ ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องหาคนผิดด้วยว่า ใครคือคนกระทำความผิด และต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งปกติแล้วนั้นกากต้องฝังกลบ ณ ที่จุดกำเนิดอย่างถาวร ซึ่งถือว่าเราอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือการเอาออกไปนอกประเทศที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศปลายทางต้องยินยอมและมีศักยภาพที่จัดการได้อย่างไรก็ตาม กรณีการขุดและเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมในปริมาณมาก ก่อให้เกิดอันตรายต่อชุมชนเป็นอย่างมากและยังเป็นคำถามจากสังคมว่าเกิดช่องทางที่สามารถโยกย้ายกากแคดเมียมนี้จำนวนมากนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

 

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นถึงปัญหาด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของเสีย อันตรายของภาครัฐ รวมถึงการผลักดันกฎหมาย PRTR ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สื่อมวลชนรวมถึงสังคมเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นที่เกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต