BWG ปั้นโมเดลธุรกิจ BCG แปลงขยะสู่พลังงาน SRF ป้อนโรงไฟฟ้า

by ESGuniverse, 23 เมษายน 2567

BWG ปักธงบุกเบิกโมเดลโรงงานรวบรวมขยะจากอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นพลังงาน SRF ป้อนโรงไฟฟ้า ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ BCG แก้โจทย์ขยะล้น ลดการฝังกลบ เป็นมิตรกับโลก

ปัจจุบันปริมาณขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มสูงถึง 22 ล้านตันต่อปี โรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีมากกว่า 72,000 โรงงานทั่วประเทศ ใช้วิธีการกำจัดขยะส่วนใหญ่ด้วยการฝังกลบ และการเผา แต่ก็ยังจัดการปัญหาได้ไม่หมด ทำให้หลงเหลือขยะบางส่วน ถูกกำจัดไม่ถูกวิธี จึงหลุดลอดไปสร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะอุตสาหกรรมมาคัดแยก เพื่อแบ่งวิธีการจัดการที่ทำได้หลากหลายทาง ทั้งการเผาไหม้ โดยการทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า สร้างพลังงานทดแทน โดยส่งเสริมภาคเอกชนลงทุนพัฒนาโรงงานจัดการขยะสู่พลังงาน


บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG อุตสาหกรรมการจัดการขยะอุตสาหกรรม มีแนวคิดพัฒนาโครงการแปรรูปขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน เพื่อตอบรับนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรัฐ ที่มีเป้าหมายต้องการทำให้การฝังกลบขยะเป็นศูนย์ (
Zero Waste Landfill) ตามนโยบายเศรษกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว ( Bio-Circular-Green Economy -BCG) พัฒนาเป็น Solid Recovered Fuel (SRF) เป็นกลุ่มเชื้อเพลิงที่ทดแทนฟอสซิล มีคุณภาพสูง ส่วนใหญ่มาจากขยะเชิงพาณิชย์ อาทิ กระดาษ ไม้ ผ้า พลาสติก มีคุณสมบัติทำให้ค่าความร้อนระหว่าง 4,000 - 5,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ป้อนให้โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของบริษัทลูก เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC

นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เป็นแนวทางสำคัญในการช่วยลดปริมาณขยะของประเทศ และช่วยลดพื้นที่การฝังกลบขยะสู่การสร้างแหล่งเชื้อเพลิงทดแทนที่ยั่งยืนและมั่นคง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้าน Zero Waste Landfill ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy (BCG) นั่นทำให้กลุ่มธุรกิจมั่นใจในการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่มีโอกาสเติบโต พร้อมกันกับช่วยแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ

ปัจจุบัน BWG มีโรงผลิตขยะเชื้อเพลิง SRF อยู่ 3 แห่ง มีกำลังผลิตรวมประมาณ 225,000 ตันต่อปี ส่งมอบให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในเครืออยู่ที่ 160,000 ตันต่อปี เพื่อนำไปใช้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญารวม 16.5 เมกะวัตต์

“ BWG จัดว่าเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิง SRF รายใหญ่ที่สุดในประเทศในปัจจุบัน ทำหน้าที่ขายขยะเชื้อเพลิง SRF ให้ ETC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในเครือ จะทำให้ BWG มีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เพราะได้ทำสัญญาซื้อขายซื้อขาย ตามอายุการซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchasing Agreement -PPA) ระยะเวลา 20 ปี จึงมีโอกาสสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับ BWG ”

 


SRF องค์ประกอบทางเคมีเหมาะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า

ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมมาผลิตเชื้อเพลิง SRF จะถูกนำมาคัดแยก ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงบางประเภทได้ โดยมีคุณสมบัติที่มีค่าความร้อน (Heating Value) ความชื้น ขนาด และความหนาแน่น เหมาะสมในการใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนหม้อไอน้ำ มีองค์ประกอบทางเคมีและกายภาพที่เหมาะสมแก่การนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าหรือความร้อน

สำสำหรับ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีในวัสดุจากขยะอุตสาหกรรม พบว่ามีความเหมาะสมที่จะนำไปพัฒนาเป็น SRF ได้ และยังถือว่ามีความปลอดภัยต่อคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นขยะที่ไม่เป็นอันตราย และยังสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 0.0027 ตันต่อขยะ 1 ตัน

การใช้เชื้อเพลิงทดแทนอย่าง SRF นอกจากไม่ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมทางอ้อม เนื่องจากขยะบางประเภท เมื่อนำไปฝังกลบจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางน้ำได้ มีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ ซึ่งปัจจุบันในหลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาขยะล้นโลก การนำขยะอุตสาหกรรมมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนจะช่วยลดปัญหานี้ได้ และส่งผลให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วย


SRF จูงใจโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับโลก


โรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะคุณภาพ SRF เพื่อนำกากขยะที่โรงงานอตุสาหกรรมไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ มาผลิตเป็นก้อนเชื้อเพลิง SRF เพื่อสร้างมูลค่าให้กับขยะอุตสาหกรรม นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมากำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการในด้านการนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน และช่วยให้ปริมาณขยะในประเทศลดลงในเวลาเดียวกัน