ทำยังไง ! ให้สตาร์ทอัพไทยไปถึงยูนิคอร์น

by ThaiQuote, 10 สิงหาคม 2561

รายงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ยูนิคอร์น คือธุรกิจสตาร์ทอัพ 3-5 ปี ที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญ (1 billion) หรือ 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป และที่ไหนมียูนิคอร์น ก็ชี้วัดได้ว่าที่นั่นมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เติบโต   ซึ่งในอาเซียนมียูนิคอร์นแล้วอย่างน้อย 8 บริษัท อยู่ในอินโดนีเซีย 4 และ อยู่ใน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อย่างน้อยประเทศละ 1 บริษัท   ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มียูนิคอร์น และยังไม่มีแม้กระทั่งสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ร้อยล้านดอลล่า ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ พาสำรวจยูนิคอร์นในอาเซียน และทำความรู้จักกัยยูนิคอร์นเพิ่งเกิดใหม่ของ ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้นำเราไปสู่คำตอบว่า “ยูนิคอร์นไทย ทำไมยังไม่เกิดเสียที”   นายสมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอบอกในรายการ “ยกกำลังสอง” สถานีไทยพีบีเอส ว่าประเทศไทยไม่มีแม้แต่สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวว่าสาเหตุที่สตาร์ทอัพเมืองไทยไม่สามารถใหญ่พอจนเป็นยูนิคอร์นได้เพราะส่วนใหญ่ มองแค่ตลาดในประเทศ เทคโนโลยีไม่โดดเด่นพอ ขาดกำลังไอที และกฎระเบียบรัฐเป็นอุปสรรค พรัอมกับกล่าวว่า ยูนิคอร์นมีความสำคัญสูง ช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ ที่จะทำให้เติบโตต่อไปเพราะมีนวัตกรรมสูง   ซึ่งเรื่องนี้ทาง Thaiquote  ได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันและพัฒนาสตาร์ทอัพ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาสตาร์ทอัพให้เป็นยูนิคอร์นได้ ไทยต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ (eco system)ที่เอื้อต่อการทำสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์น เพราะแม้แต่ในอินโดนีเซียที่มียูนิคอร์นมากๆ ก็ไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่เป็นคนต่างชาติที่มาตั้งถิ่นฐานทำสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ก็ควรที่มีการโอกาสให้มีการจับมือกันระหว่างสตาร์อัพไทยและต่างชาติ เพื่อเป็นการต่อยอดและพัฒนาเป็นธุรกิจเดียวกัน นอกจากนี้ปัญหาด้านกฎหมายเรื่องการถือหุ้น การทำธุรกรรมทางด้านการเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้สตาร์อัพที่ดีๆ เลือกไปตั้งที่อื่นดีกว่า   ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลรับทราบและพยายามแก้ไข โดยได้มีนโยบายออกมาประกอบด้วย 1. นำสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและซอร์ฟแวร์แก่สตาร์ทอัพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ตนเองมีอยู่   2.เมื่อมีแพลตฟอร์มหรือผลิตภัณฑ์ที่สตาร์ทอัพได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว หน้าที่ต่อมาคือทางดีป้าก็จะหาช่องทางด้านการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สถาบันไอโอทีทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เอสเอ็มอีไทยได้ไปเจอกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กูเกิ้ล กลุ่มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ เพื่อขายไอเดียของไทย เพื่อให้สตาร์ทอัพของไทยซึ่งยังเป็นหน่วยเล็กได้เข้าไปปลั๊กอินกับองค์กรที่ใหญ่กว่า   3.สร้างการเชื่อมโยงระหว่างเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัพ เพราะเห็นว่าบางครั้งจุดอ่อนหรือความต้องการของเอสเอ็มอี อาจถูกแก้ไขโดยแพลตฟอร์ม หรือซอร์ฟแวร์ของสตาร์ทอัพได้ ทำให้งานดีขึ้น เพิ่มมูลค่า มีนวัตกรรมทั้งด้านตัวสินค้า บริการ และด้านการจัดการ ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจับคู่กับเอสเอ็มอีไทย จะเป็นต่างชาติก็ได้ หรืออาจใช้วิธีรัฐบาลถือหุ้นในระยะเริ่มต้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) ถือหุ้น 2 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี และ 2)ถือหุ้น 5 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี   4.ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพต่างชาติมาลงทุนในไทย ขณะนี้รัฐบาลไทยพยายามที่จะทำระบบต่างๆ ให้เป็นสากลเหมือนกับต่างประเทศ เพื่อเป็นการจูงใจให้สตาร์ทอัพต่างชาติมาลงทุนในเมืองไทย   5.ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยไปโรดโชว์เพื่อทำการพิชชิ่งงานต่างๆ ในต่างประเทศ โดยให้เงินสนับสนุนเบื้องต้น 100,000 บาท เพื่อไปนำเสนอตนเองให้ต่างชาติได้รู้จัก และต่อธุรกิจกัน