นายกฯ ลั่นจากเยอรมัน จัดเลือกตั้งให้ยุติธรรมที่สุด

by ThaiQuote, 28 พฤศจิกายน 2561

รายงานข่าว เปิดเผยภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ที่เดินทางเยือนกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. 2561 วันนี้ ( 28 พ.ย.61) ว่า  นายกฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุปเรื่องการเยือนเยอรมนี พร้อมพบปะและมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยในเยอรมนี ว่า หลังจากที่ทั่วโลกเป็นกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยนั้น รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด สำหรับการย้ายพรรคของนักการเมืองต่าง ๆ ถือเป็นกลไกทางการเมือง ซึ่งตนในฐานะนายกฯ ไม่มีอำนาจในส่วนนี้ เพราะต้องทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลังจัดการเลือกตั้งแล้ว อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ ก็จะหมดไป   จากนั้น นายกฯ พร้อมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ประชุมรับฟังปัญหาและข้อเสนอ จากภาคเอกชนไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นนักลงทุนไทยรายใหญ่ ๆ จำนวนมากที่เข้ามาลงทุนในเยอรมนี รวมทั้งกลุ่มนักธุรกิจไทยที่พำนักในเยอรมนี ส่วนใหญ่เป็น SMEs โดยภาคเอกชน ได้ขอให้ทางเยอรมนีช่วยด้านการวิจัย และพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านอาชีวะของไทยอย่างต่อเนื่อง และให้เยอรมนีจัดกิจกรรมที่ไทย อาทิ เทคโนโลยีด้านการเกษตร และการส่งเสริมท่องเที่ยว รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยด้วย   พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บทบาทของภาคเอกชนไทย ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนี โดยรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนให้สามารถลงทุน และดำเนินการได้อย่างราบรื่น และแก้ปัญหาทุกเรื่องอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้จะส่งเสริม และผลักดัน เพื่อการเพิ่มปริมาณการลงทุน ไทย- เยอรมัน รวมทั้งจะรวบรวมสิ่งที่เป็นข้อกังวล ข้อเสนอ หรือ อุปสรรคต่าง ๆ เสนอกับทางเยอรมันต่อไป   นายธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนี มีมานานกว่า 156 ปีแล้ว ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์อันดี  ทั้งในระดับประชาชน รัฐบาลและราชวงศ์ การเดินทางเยือนเยอรมนีครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นถึงการยอมรับจากเยอรมนีอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลักดันให้สหภาพยุโรป (อียู) ปรับข้อมติให้ทุกประเทศในอียู มีปฏิสัมพันธ์และมีการแลกเปลี่ยนกับไทยได้ และเชื่อว่า เยอรมนีเห็นถึงความพร้อมในการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ของไทย และมีนโยบายหลายอย่างที่สอดคล้องกับไทย เช่น   มุ่งเน้นการปรับโฉมและพัฒนาอาชีวศึกษา พัฒนา SME ให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงไทยพยายามขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม 4.0 ซึ่งตรงกับนโยบายหลักของเยอรมนี ขณะเดียวกัน เยอรมนีกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่โฉมใหม่ของเยอรมนี เช่นเดียวกับไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ด้วยการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี