นายกฯปลื้ม “ข้าวหอมมะลิไทย”ครองรสชาติที่ 1 โลก

by ThaiQuote, 2 ธันวาคม 2559

บัดนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดเกล้าฯ สถาปนาและทรงสถิตอยู่ในพระราชสถานะองค์พระรัชทายาทมากว่า 44 ปี  ทรงพระกรุณา “รับ” คำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อทรงสืบสานพระบรมราชปณิธาน และทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท ในการสานต่อ “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ยังคงอยู่ คู่แผ่นดินไทย สืบไป

ขอให้เราทุกคนจงร่วมกันตั้งจิตอธิษฐาน ขอพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้โปรดอภิบาลรักษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ให้ทรงพระเจริญ สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎรชาวไทย รวมทั้งให้ทรงพัฒนาประเทศไทยภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จนประสบความสำเร็จ บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง มีสันติสุขและความสามัคคีปรองดอง สมดังพระราชปณิธานปรารถนา  ตราบกาลนานเทอญ

พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านครับ หลายปีที่ผ่านมาโครงการในพระราชานุเคราะห์ และโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีมากมายหลายโครงการ ซึ่งนอกจากจะทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว ยังเป็นการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปขยายผลที่ล้วนเป็นคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อพสกนิกร ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ  อาทิเช่น “โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรหรือนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างแรงจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการเกษตร 

ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตร กับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ในการให้คำปรึกษาด้วยความรู้และบริการทางวิชาการใหม่ๆ, การตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัย, รวมทั้ง การให้บริการด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงเกษตรกรโดยตรง นับว่าสามารถตอบสนองทั้งความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ด้วย ทั้งนี้มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่

1. คลินิกพืช ช่วยแก้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช, วัชพืช, สารพิษตกค้าง, และการขาดธาตุอาหารพืช และวัตถุมีพิษทางการเกษตร 

2. คลินิกดิน ช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบดินและปุ๋ย 

3. คลินิกสัตว์ ช่วยแก้ปัญหาโรคสัตว์ ด้วยการตรวจรักษาพยาบาล, ควบคุมบำบัด และให้ฉีดวัคซีนแก่ปศุสัตว์ 

4. คลินิกประมง เผยแพร่องค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งการแก้ปัญหาโรคสัตว์น้ำ และการปรับปรุงคุณภาพน้ำ 

5. คลินิกบัญชี ให้คำแนะนำและส่งเสริมการจัดทำบัญชีฟาร์ม เพื่อการบริหารจัดการที่ดี

6. คลินิกชลประทาน ให้ความรู้และหลักวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ  

7. คลินิกสหกรณ์ ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร ในการรวมกันเป็นสหกรณ์ 

และ 8. คลินิกกฎหมาย ที่ดำเนินงานด้านกฎหมายที่ดิน เป็นต้น

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันได้เคยพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ในพื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่  ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในลักษณะ “คลินิกเกษตร” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตร จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยแบ่งพื้นที่ ร้อยละ 70 เป็นพื้นที่ป่าไม้ สำหรับพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววนเกษตร ในลักษณะเส้นทางเดินป่าสำหรับการศึกษาธรรมชาติ และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือเป็นที่ตั้งศูนย์เรียนรู้ พื้นที่ทรงงาน และแปลงสาธิต เพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร ประกอบด้วย การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ, การฟื้นฟูปรับปรุงดิน, การพัฒนาแหล่งน้ำ และการส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่วนเกษตรและธนาคารอาหารชุมชน โดยมีการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร สำหรับใช้เป็นแหล่งรวบรวมพัฒนาพืชสมุนไพร และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้ชุมชน อีกด้วย 

ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวได้ขยายบทบาทเป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน โดยใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตร ที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิเช่น การเพาะชำกล้าไม้โตเร็วเพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกป่า “ไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว” สำหรับใช้เป็นถ่านและฟืนในการหุงต้มอาหาร ในชุมชนและครัวเรือน “ควบคู่” ไปกับการส่งเสริมให้ราษฎรผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และวัสดุเชื้อเพลิงอื่นๆ ทดแทนการใช้ฟืนอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้ไม้ฟืนจากป่าธรรมชาติแล้ว ยังส่งผลให้ราษฎรเกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน อีกด้วย สอดคล้องกับ “ศาสตร์พระราชา” ในการให้ความสำคัญกับ “การปลูกป่าในใจคน” โดยการฟื้นฟูป่านั้น ต้องปลูกจิตสำนึกการรักผืนป่าในใจคนก่อนด้วยนะครับ

นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร ที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชนชาวไทยแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ ทรงให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา นับแต่ในอดีต ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการ “โครงการทุนการศึกษา” ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทย โดยเฉพาะที่มีฐานะยากจน ลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่อง ตามความสามารถของแต่ละคน เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและเพิ่มศักยภาพแก่เยาวชนไทย ให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ในอนาคต

ต่อมา พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” (หรือ ม.ท.ศ.) ขึ้น อีกทั้งทรงมีพระราชดำริ ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานทุนและวิธีการคัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรองนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อรับทุนการศึกษาพระราชทาน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียน

ที่สำคัญ ทรงให้ยึดหลักให้มีการกระจายทุนครบในทุกจังหวัดและให้มีความเท่าเทียมระหว่างเพศของผู้รับพระราชทานทุนด้วย ปัจจุบันมีนักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กว่า 1,000 คนแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลนั้น ได้ให้ความสำคัญอย่างมาก กับการพัฒนา “ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ด้วยการปฏิรูปการศึกษา ที่รองรับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องมุ่งเน้นการสร้างจิตนาการ, การคิดวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยนโยบายสำคัญส่วนหนึ่ง ก็ได้แก่ “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งความหมายที่แท้จริงก็คือ การลดเวลาที่นักเรียนเรียนแบบ Passive คือเป็นผู้รับอย่างเดียวลง แล้วเพิ่มเวลาที่นักเรียนเรียนแบบ Active ให้มากขึ้น คือเป็นผู้ปฏิบัติเองเรียนรู้เองให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้ต้องมุ่งให้นักเรียนได้รับความรู้ มีความเข้าใจ และจัดกิจกรรมให้นักเรียนสามารถนำความรู้นั้นไปปรับใช้ในสถานการณ์จริง ในชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปใช้ในการทำงาน การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย พี่น้องประชาชนครับ องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันคนพิการสากล” ผมจึงขอนำเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของ นายช่วง โพธิรัญ อายุ 68 ปี เป็นผู้บกพร่องทางสายตา เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งตั้งขึ้นมาด้วยแนวพระราชดำริของ “ในหลวง” รัชกาลที่ 9 ทำให้ทุกวันนี้คนตาบอด ที่มีความพร้อม มีศักยภาพและความสามารถ ก็ได้รับโอกาสทางการศึกษา ไม่ต่างจากคนทั่วไป สามารถเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาทั่วไป สามารถสอบชิงทุนไปเรียนในสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ จนขณะนี้มีคนตาบอดเรียนจบปริญญาเอกเป็น “ด็อกเตอร์” แล้วหลายคน

นอกจากนี้ ทรงมีพระราชประสงค์อยากให้ผู้พิการทางสายตาทุกคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตไม่ท้อถอยกับโชคชะตา พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง “ยิ้มสู้” ขึ้นมาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้พิการทุกคน ซึ่งปัจจุบันเป็นเพลงที่ให้กำลังใจกับ “ทุกคน” ในประเทศไทย ให้มีความเพียรอันบริสุทธิ์ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ทั้งนี้ บ่อยครั้งที่พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชทานเลี้ยงอาหารที่โรงเรียนสอนคนตาบอดฯ ช่วงปีใหม่ โดยนายรัชตะ มงคล อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ เล่าว่า สมัยก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ มาที่โรงเรียนฯ บ่อยมาก เพื่อไปทรงเยี่ยมเยียนนักเรียนผู้พิการทางสายตา  หลายครั้งที่พระองค์โปรดที่จะเล่นกับเด็กๆ โดยไม่ให้บอกว่าพระองค์คือใคร แต่ทรงให้ขานพระนามย่อว่า “พล” อีกทั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนวิชาดนตรี ให้แก่ผู้พิการทางสายตา และทรงเป่าแซกโซโฟน พระราชทานแก่ทุกคน อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า “ศาสตร์พระราชา” ให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง ไม่ละเลยเรื่องเล็กๆ รวมทั้ง การแก้ปัญหา “ผักตบชวา” ที่ดูแล้วหลายคนคิดว่าไม่เกี่ยวกับเขา จนกว่าจะได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง  ยิ่งกว่านั้น คนส่วนใหญ่มองผักตบชวาว่า “ไร้ค่า ไม่มีราคาค่างวดอะไร” แต่หากเรารู้จักมองแล้ว ก็จะเห็นคุณค่าสามารถนำมาแปรรูป เกิดประโยชน์งอกเงยเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋าสานด้วยมือ, อาหารสัตว์ หรือปุ๋ยหมัก “แปลงสวะ วัชพืช ให้เป็นทุน ให้เป็นเงินเล็กๆน้อยๆ เลี้ยงลูกเมียได้บ้าง ปัจจุบันผักตบชวา กว่า 6 ล้านตัน                  ทั่วประเทศ  ทั้งในแหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเปิด กำลังก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศมามาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน เช่นความหนาแน่นของจำนวนผักตบชวาทำให้น้ำเน่าเสียเพราะขาดออกซิเจน, ทำให้การไหลระบายของน้ำเป็นไปได้ช้าและส่งผลเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งรวมทั้ง กีดขวางการขนส่งและการสัญจรทางน้ำอีกด้วย

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีกระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 อันมีใจความที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทยในปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและสังคมโลกที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี และมีมติกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย”

โดยในปีนี้ คณะกรรมการอำนวยการ บูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่รัฐบาลนี้ตั้งขึ้น มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดกิจกรรมรณรงค์ “จิตอาสาประชาร่วมใจแก้ไขปัญหาผักตบชวา” ให้เป็นกิจกรรมหลัก เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย ในวันที่ 4 ธันวาคม นี้ พร้อมกันในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ซึ่งยังได้กำหนดมาตรการในการกำจัดผักตบชวาไว้ 2 ขั้นตอน ดังนี้คือ 

1. มาตรการในการกำจัด (เก็บใหญ่) กรอบเวลาดำเนินการ 6 เดือน (ตุลาคม 59 ถึง มีนาคม 60) เป้าหมายก็คือ การกำจัดผักตบชวา ทั้ง 6 ล้านตัน ทั่วประเทศ

2. มาตรการในการป้องกัน (เก็บเล็ก) ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด ตลอดจนประชาชนทุกคนได้ร่วมกันกำชับกวดขันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหา รวมทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เรือพาย เรือท้องแบน ฯลฯ โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องทันที ภายหลังการกำจัดในแหล่งน้ำฯ นั้นเสร็จแล้ว อย่าให้เกิดขึ้นมาใหม่อีกโดยเด็ดขาด หาที่เก็บ หาที่กรอง และหาวิธีการนำไปใช้ประโยชน์ด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ร่วมกันภาคภูมิใจกับ “ข้าวหอมมะลิของไทย” ที่ได้ชื่อว่ามีรสชาติดีที่สุดในโลกครองอันดับ 1 ปี 2016 ในการประกวดข้าวระดับโลก ณ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ด้วยเกณฑ์การตัดสิน 4 ด้านหลัก ได้แก่ กลิ่น, รสชาติ, ความเหนียวนุ่ม และรูปร่างลักษณะ โดยใช้วิธีตัดสินแบบ Blind testing คือไม่ให้กรรมการทราบว่าเป็นข้าวประเภทใด ของประเทศไหน โดยคณะกรรมการตัดสิน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร, สมาคมบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการทำอาหารในสหรัฐฯ และพ่อครัวที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ร่วมกันเป็นกรรมการ นับว่าเป็นกำลังใจให้กับชาวนาไทย และคนไทยทุกคน ที่ได้ทราบข่าว ผมเห็นว่าการเป็นแชมป์นั้นไม่ง่าย แต่การรักษาแชมป์นั้นยากกว่า ก็ขอให้พี่น้องเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันรักษาและปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอมมะลิ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยคุณภาพ ซึ่งมีความแตกต่างให้ได้ ในอนาคต รวมทั้ง ข้าวพันธุ์ต่างๆของไทย ให้เป็นที่นิยม มีคุณภาพดี เป็นเกษตรอินทรีย์ สำหรับคนไทย และผู้บริโภคทั่วโลกด้วยนะครับ

อีกประการหนึ่ง ผมอยากทำความเข้าใจกับพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนคนไทยว่า           เราจะร่วมมือกันสร้างกลไก “ประชารัฐ” เพื่อสร้างความเข้มแข็ง, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน, ลดความเหลื่อมล้ำ และก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางกันได้อย่างไร กรุณาพิจารณาจาก Infographic ด้านล่างนี้ ครับ มีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกด้วย สรุปได้ว่า

1. การใช้กลไกประชารัฐสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพต่างๆ รวมทั้งเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้ความสำคัญในการสร้างแบรนด์ และการกำหนดมาตรฐาน ที่เป็นสากล

2. สร้างห่วงโซ่คุณค่า ทั้งอุปสงค์และอุปทาน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากให้ครบวงจร ทั้งต้นทาง กลางทาง  ปลายทาง

3. สร้างห่วงโซ่ใหม่ โดยเชื่อมต่อระหว่าง 5 S-Curve เดิม กับ 5 New S-Curve ใหม่ เพื่อนำไปสู่ Thailand 4.0 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ของเราเอง มุ่งสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม

4. ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด และเป็นสากล

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการของรัฐบาล ในช่วงปี 2557 ถึง 2559 ภายใต้วิสัยทัศน์  “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

1. มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน กว่า 5,000 โครงการ มูลค่าลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท

2. โครงการที่ขอรับการส่งเสริม คิดเป็นร้อยละ 54 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้ง การลงทุนด้านดิจิทัล ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ

3. การส่งเสริมการรวมกลุ่มจังหวัด เป็นคลัสเตอร์ โดยคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ช่วยให้สามารถค้นหา “อัตลักษณ์” ในแต่ละพื้นที่และภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางของการส่งเสริม ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นะครับ

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้วอากาศเปลี่ยนแปลง รัฐบาลมีความห่วงใย ผมอยากให้พี่น้องประชาชน ในทุกภาคของประเทศ ได้ดูแลสุขภาพตนเอง และลูกหลาน รักษาร่างกายให้อบอุ่น  หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ก็ขอให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยหนาว ตามแผนงานที่ได้ตระเตรียมไว้ โดยให้กระจายกันดำเนินการ อย่าให้เกิดการซ้ำซ้อนพื้นที่ และประชาชน ให้มีการบูรณาการกัน อย่างใกล้ชิด

สิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพ ก็คือ การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว ในการรักษาพยาบาลแล้ว  ก็ยังจะช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน มีสมองที่ปลอดโปร่ง ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตใจที่แจ่มใสจะอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์” และเมื่อประชาชนทุกคนแข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งในที่สุดนะครับ  

สวัสดีครับ  ขอบคุณ ขอให้มีความสุขวันหยุดสุดสัปดาห์ครับ สวัสดีครับ


p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000} p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000; min-height: 13.0px} span.s1 {font-kerning: none}