คนพิการสะท้อน ยังไม่มีนโยบายดูแลที่ชัดเจน

by ThaiQuote, 2 กุมภาพันธ์ 2562

วันนี้ (2 ก.พ.62) ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ แจ้งวัฒนะ สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ(UN Woman) ร่วมจัดเวทีระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ประเด็น "เสียงเพื่อคนที่ถูกลืมถึงพรรคการเมือง"(Voices for the voiceless to the political parties) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสะท้อนประเด็นปัญหาและสถานการณ์รวมถึงแนวทางแก้ไขที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะนำไปกำหนดเป็นนโยบายที่จะนำไปส่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ถือเป็นความชัดเจนที่อย่างน้อยสุด เป็นโอกาสของประชาชนทุกภาคส่วนที่ต้องแสดงออก หลังจากหน้าต่างของนโยบายเปิด เพื่อนำเสียงคนที่ถูกลืมได้บอกว่าพรรคการเมืองและนโยบายที่อยากได้คืออะไร เพราะทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ และการเมืองไม่ใช่แค่เลือกตั้งแล้วจบ แต่แสดงความคาดหวังของประชาชนว่าแท้จริงแล้วอยากได้อะไร เพื่อทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะปัจุบันพรรคการเมืองเน้นการแข่งขันโดยชูที่ตัวบุคคลในการเสนอชื่อเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าตัวนโยบายที่ประชาชนจะได้รับ เพื่อทำให้เสียงของคนทุกกลุ่มมีพลังส่งไปถึงคนที่อ้างเข้ามาอาสารับใช้บ้านเมืองให้ได้ยิน

ด้านนายต่อพงศ์ เสรานนท์ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันสถิติคนพิการในประเทศไทยมีประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขที่สถานประกอบการจ้างงานคนพิการเพียง 7 หมื่นคน ดังนั้นคนพิการยังขาดโอกาสอีกกว่า 1.9 ล้านคน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาไม่ว่าพรรคการเมืองใดหรือนโยบายใดมักมองข้ามกลุ่มคนพิการและกลุ่มคนที่อ่อนแอเสมอ แต่ดูแลเพียงกลุ่มคนวัยทำงานและวัยที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะจนถึงทุกวันนี้ที่ได้รับฟังนโยบายของพรรคการเมืองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่เห็นนโยบายของพรรคใดที่มุ่งเน้นให้คนพิการ

ทางด้านนายไพโรจน์ เจริญวิไลศิริ ตัวแทนสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่กำลังพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมาคนพิการและคนหูหนวกได้ผลักดันข้อเสนอแนะไปยังพรรคต่างๆ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ รวมถึงการหาเสียงต่างๆ ที่คนหูหนวกไม่สามารถเข้าถึงนโยบายได้เลย ดังนั้นจึงอยากขอให้จัดล่ามภาษามือในการปราศรัยหาเสียง และการประชาสัมพันธ์ของพรรคต่างๆ หรือจัดทำคิวอาร์โค้ด เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงข้อมูลและรับทราบนโยบายของทุกพรรค.