ทษช. ยื่นเอกสาร ค้านยุบพรรค ย้ำ 3 ประเด็นหลัก

by ThaiQuote, 21 กุมภาพันธ์ 2562

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (20 ก.พ. 61 ) นายสุรชัย ชินชัย และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พร้อมทีมกฎหมายนำเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรค พร้อมบัญชีพยาน เข้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและสำเนาเอกสารส่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ชุด เพื่อแก้ข้อกล่าวหากรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ทษช.ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (2) ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจากเหตุเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของกำหนด7 วัน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยื่นคำชี้แจง

นายสุรชัย เปิดเผยว่า ประเด็นหลักที่ยื่นแก้ข้อกล่าวหามี 3 ประเด็น ประเด็นแรก เรายืนยันเจตนาบริสุทธิ์ และไม่มีเจตนาพิเศษใดๆ ที่มุ่งหวังให้เป็นอย่างอื่น โดยการเสนอชื่อแคนดิเนตนายกฯของพรรคทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ พร้อมทั้งเป็นตามความประสงค์และความยินยอมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ

ประเด็นที่ 2 เห็นว่า ข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้นคำว่า "ปฏิปักษ์" ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่าเป็นศัตรู เป็นฝ่ายตรงข้าม น่าจะหมายถึงการนำระบอบคอมมิวนิสต์ มาใช้ปกครองในประเทศไทย หรือการเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งคำร้องยุบพรรคทษช.ยังขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครของกรรมการบริหารพรรคที่ก็จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครตลอดชีวิต เท่ากับคำร้องดังกล่าว เป็นประเภทเดียวกับคดีอาญาที่ไม่ต่างจากการประหารชีวิตในทางการเมือง และ

ประเด็นสุดท้าย กกต.มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไม่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย คือไม่มีการสืบสวนสอบสวนก่อนแต่ข้ามขั้นตอนเป็นการเสนอคำร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้พรรคได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 14 คนและพยานคนกลางที่เป็นบุคคลภายนอก 5 ปาก

เมื่อถามว่าพยานที่เป็นบุคคลภายนอกเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเนตก่อนหน้านี้หรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า เป็นรายละเอียดที่นำเสนอต่อศาลไม่สามารถเปิดเผยได้

ทั้งนี้มีรายงานว่า พยานบุคคลภายนอก 5 ปากที่พรรคนำเสนอไม่มีรายชื่อของบุคคลที่พรรคเสนอเป็นแคนดิเนตนายกก่อนหน้านี้
ส่วนคำชี้แจงที่ยื่นต่อศาลฯนั้นมีทั้งสิ้น 20 หน้า โดยข้อต่อสู้ 3 ประเด็นหลักดังกล่าว พรรคได้แยกย่อยชี้แจงเป็น 8 ประเด็น คือ

1. การดำเนินกิจการของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามประกาศอุดมการณ์ นโยบายในการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. พรรคฯ ทำตามประสงค์และความยินยอมของทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ พ.ศ. 2515 และข้อบังคับพรรค ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้ ทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี

3. พรรคฯ เข้าใจโดยสุจริตว่าการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88, 89 และ พรป. เลือกตั้งส.ส. มาตรา 13 และ 14 ไม่ใช่เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

4. เมื่อมีพระราชโองการวันที่ 8 ก.พ.2562 เวลา 23.00 น. ภายหลังที่พรรคได้แจ้งรายชื่อบัญชีนายกฯ ไปแล้วเมื่อเวลา 9.00 น. พรรคฯจึงได้แถลงโดยทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นการแสดงเจตนารมณ์โดยชัดเจนว่าพรรคฯไม่ติดใจในการเสนอชื่อนายกฯ

5. การกระทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 88 และมาตรา 89 ประกอบมาตรา 87 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และ มาตรา 14 ให้ถือว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าวให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น จึงไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องในทางใดๆ ต่อศาลได้

ข้อ 6. พรรคฯ เห็นว่าคำว่า “ปฏิปักษ์” ให้ความหมายว่า ฝ่ายตรงกันข้าม ข้าศึก ศัตรู แต่การกระทำของผู้ถูกร้อง ได้กระทำการเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นความประสงค์ของทูลกระหม่อมฯ ที่อาสา และยินยอมให้ผู้ถูกร้องเสนอชื่อ มิใช่เป็นการแอบอ้างโดยพละการ

ข้อ 7. กกต. ไม่มีอำนาจหน้าที่นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรคฯว่ากระทำผิดตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560คำขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น เป็นการขยายความของพระราชโองการที่เป็นโทษ เป็นเรื่องที่มิบังควร และไม่ถูกต้องอย่างยิ่งอันเป็นการนำพระราชโองการมาแอบอ้างใช้อย่างมีเจตนาไม่สุจริตเป็นการกล่าวหาโดยสร้างฐานความผิดใหม่ซึ่งไม่มีฐานกฎหมายใดๆบัญญัติไว้

ข้อ 8. มติในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2562 ของกกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 41 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และมีพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งพรรคฯมีหลักฐานนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญและพรรคฯจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการที่พรรคฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดที่จะพิจารณาคำร้องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 27 ก.พ.เวลา 13.30 น.
กกต.ย้ำชงยุบทษช.ตามขั้นตอน.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีการพิจารณาความผิดของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อวานนี้พรรคได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าทาง กกต. ดำเนินการข้ามขั้นตอน ไม่มีการไต่สวน ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยประธาน กกต. ยืนยันว่าขั้นตอนการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย และ กกต. ก็มีอำนาจในการพิจารณา ตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งระบุไว้ว่า เป็นอำนาจของ กกต. โดยตรงที่สามารถทำได้

ส่วนกรณีการเสนอยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อศาลรัฐธรรมนูญ กกต. จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ว่า เรื่องนี้เปรียบเหมือนการส่งเรื่องให้ศาลซึ่งศาลจะมีหน้าที่รับเรื่อง แต่ยังไม่รับฟ้อง ดังนั้นการที่พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเข้ามา กกต. ก็ต้องรับเรื่องตามหน้าที่ โดยเปรียบวันที่มีการเปิดให้ส่งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่าเหมือนมีคนมาส่งจดหมาย กกต. มีหน้าที่รับ แต่ยังไม่ถึงขั้นตอนการรับรอง

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีการยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการตรวจสอบตามหลักฐาน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีความผิดตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงจะเสนอต่อ กกต. เพื่อพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่หากมีการ ยืนร้องต่อ กกต. แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน ทาง กกต. ต้องไปรวบรวมหลักฐาน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งกรณีของพรรคไทยรักษาชาติมีหลักฐาน เป็นใบสมัครแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ส่วนพรรคพลังประชารัฐ คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมได้เพราะมีข้อมูลไม่มากนัก

ส่วนกรณีพรรคไทยรักษาชาติหลังจากที่ทางพรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วนั้น ทางศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ติดต่อขอคำชี้แจงเพิ่มเติมกับทาง กกต. แต่อย่างใด