“This is able” แอพฯใหม่ ช่วยคุณภาพชีวิตคนพิการ

by ThaiQuote, 21 กรกฎาคม 2560

สมาร์ทโฟนอุปกรณ์สื่อสารที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนพิการที่ช่วยอำนวยความสะดวกการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน โดยสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “This is able” ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางการได้ยิน การมองเห็น และการพูดหรือสื่อความหมาย ให้สามารถสื่อสารได้ง่ายและตรงความหมายมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมช่วยให้ผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไป จากโครงการประกวดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางการเห็น การได้ยิน หรือสื่อความหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาครอง ผศ.ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “This is able” ร่วมกับ อาจารย์อรรถศาสตร์ นาคเทวัญ เปิดเผยว่าแอพพลิเคชั่นนี้พัฒนาบนระบบแอนดรอย์ด้วยภาษาจาวา มีการใช้ภาพร่วมกับข้อความสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ใช้ไอคอนต่างๆ สำหรับผู้พิการทางการสื่อความหมาย และใช้ Talkback เพื่อออกเสียงเมื่อกดปุ่มต่างๆ สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยความสามารถของแอพพลิเคชั่นแบ่งออกเป็น 6 โปรแกรมย่อย ทั้งนี้โปรแกรมทั้ง 6 ในแอพพลิเคชั่นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้พิการต้องพบเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยแต่ละโปรแกรมมีรูปแบบการทำงาน ดังนี้ 1. โปรแกรมอ่านค่าสี ใช้งานด้วยการแตะหน้าจอถ้าเป็นสีพื้นจะออกเสียง “ไม่มีลวดลาย” ตามด้วยสีของวัตถุนั้นๆ แต่ถ้าเป็นสิ่งของมีลวดลายจะออกเสียง “มีลวดลาย” ตามด้วยสีของลวดลายบนวัตถุนั้นๆ แต่โปรแกรมจะจับค่าสีหลักที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของวัตถุไม่เกิน 3 สี ประโยชน์ของโปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตา ได้ทราบถึงสีและลวดลายของวัตถุสิ่งของโดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพื่อให้สะดวกต่อการสวมใส่ให้เหมาะสมกับงานหรือวัฒนธรรมประเพณี 2. โปรแกรมอ่านวันหมดอายุ ใช้งานด้วยการส่องกล้องที่ฉลากสินค้าเมื่อพบข้อความ EXP. 28.05.60 จะออกเสียง “28 พฤษภาคม 2560” หรือเมื่อพบข้อความ BBF. 20/05/2017 จะออกเสียง “ยี่สิบ ศูนย์ห้า สองพันสิบเจ็ด” สามารถใช้ได้ทั้งรูปแบบวันที่ 6 และ 8 ตัวอักษร ประโยชน์ของโปรแกรมนี้จะช่วยออกเสียงบอกวันหมดอายุของสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหาร โดยกล้องจะพยายามหาตัวย่อของวันหมดอายุ เช่น EXP – Expire date หรือ BBF – Best ผู้ใช้งานอาจต้องรอให้กล้องปรับโฟกัสอัตโนมัติระหว่างอ่านค่า 3. โปรแกรมอ่านเอกสาร ใช้งานโดยการกด “ปุ่มมุมซ้ายล่าง” เพื่อเปิดโปรแกรมถ่ายรูปของสมาร์ทโฟน จากนั้นให้กดที่ชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพแล้วกดยืนยัน โปรแกรมจะส่งภาพไปคำนวณที่เซอร์เวอร์ เมื่อได้ผลกลับมาจะอ่านออกเสียงให้ผู้ใช้งานฟัง หากต้องการฟังซ้ำให้กดปุ่มอ่านอีกครั้ง ประโยชน์ของโปรแกรมนี้นอกจากช่วยให้ผู้พิการ ได้เข้าใจตัวอักษรและข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ฉลากยา สินค้า จดหมาย และหนังสือแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกด้วย 4. โปรแกรมแผนที่และการระบุตำแหน่งรอบตัว ใช้งานผ่านปุ่มสั่งงาน 3 ปุ่มด้านซ้ายเรียงจากล่างขึ้นบน ดังนี้ “ซ้ายล่าง” คือที่อยู่ของฉัน เมื่อกดจะออกเสียงตามตำแหน่งที่ผู้ใช้งานอยู่ เช่น “65 ซอยร่มเกล้า 25 แขวงลาดกระบัง “ซ้ายกลาง” คือที่ตั้งร้านค้า เมื่อกดจะออกเสียงบอกที่ตั้งร้านสะดวกซื้อในรัศมี 1 กม. และ “ซ้ายบน” คือที่ตั้งโรงพยาบาล เมื่อกดจะออกเสียงที่ตั้งโรงพยาบาลในรัศมี 1 กม. ประโยชน์ของโปรแกรมนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานทราบถึงตำแหน่งปัจจุบันของตนเองแล้ว ยังช่วยให้ทราบถึงทิศทางและที่ตั้งของร้านค้าและโรงพยาบาลช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ โดยขณะที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้โปรแกรมสามารถนำทางด้วยเสียง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำทางขึ้นไปอีกระดับ 5. โปรแกรมล่ามสื่อสาร ใช้งานโดยการกดปุ่มเชื่อมต่ออุปกรณ์กับ NetPie ซึ่งเป็น Cloud Platform ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ เมื่อพร้อมใช้งานจะออกเสียง “เชื่อมต่อ NetPie แล้ว จากนั้นผู้ใช้งานกดปุ่ม “กดพูด” เพื่อเริ่มต้นการสนทนา เมื่อพูดแล้วโปรแกรมจะส่งข้อความไปยังห้องสนทนา ในทางกลับกันเมื่อคนอื่นส่งข้อความมาโปรแกรมจะออกเสียงให้ฟัง ประโยชน์ของโปรแกรมนี้ช่วยให้ผู้พิการทางสายตา การได้ยิน และคนทั่วไปสื่อสารถึงกันได้สะดวกขึ้น โดยแปลงข้อความจากเสียงเป็นอักษรและจากอักษรเป็นเสียง 6. โปรแกรมเซนเซอร์เฝ้าระวังบ้าน ใช้งานโดยทำงานร่วมกับชุดเซนเซอร์ IoT เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยในบ้าน เช่น เซนเซอร์อุณหภูมิเฝ้าระวังไฟไหม้ เซนเซอร์แสงตรวจสอบการเปิดปิดหลอดไฟ เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวใช้จับการเคลื่อนไหวของคน โดยเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นภายในบ้าน ที่ตรงกับเงื่อนไขการตั้งค่าจะมีเสียงเตือนที่อุปกรณ์ เช่น “แสง 196 อุณหภูมิ 23 องศา คนเคลื่อนไหวไม่มี” เป็นต้น อย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
Tag :