ส่องแผน 10 แบรนด์ ไทย-โกลบอล ตัดขาดวงจรพลาสติก

by ESGuniverse, 22 เมษายน 2567

ครบเกือบ 100 ปี การค้นพบพลาสติก ธุรกิจ ทิ้งมลพิษให้กับโลก ส่องแผน 5 แบรนด์ไทย 5 แบรนด์โกลบอล ยักษ์ใหญ่ ลด ละ เลิก ใช้พลาสติก ออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติก ย่อยสลาย นำกลับมารีไซเคิลและใช้ใหม่ได้


การค้นพบพลาสติกตลอดเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ค.ศ.1907 ผู้คิดค้นคือ ลีโอ เฮนดริกค์เบเคอร์แลนด์ (Leo Hendrick Baekeland) นักเคมีชาวเบลเยียม ตั้งรกรากอยู่ในนิวยอร์ก ได้ประสบความสำเร็จในการนำพลาสติก พอลิเมอร์สังเคราะห์ ชนิดแรกมาใช้เป็นวัตถุดิบ ถือเป็นจุดกำเนิดการคิดค้นวัสดุที่นำไปสู่การประดิษฐ์สิ่งต่างๆมากมายในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ เส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ขึ้นรูปภาชนะเครื่องใช้แทนแก้ว โลหะ, ภาคขนส่ง รถยนต์ เครื่องบิน, อุปกรณ์การแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมถึง 712,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2023 ที่ผ่านมา


ข้อดีของพลาสติกคือ น้ำหนักเบา แต่ข้อเสียคือการยากต่อการย่อยสลาย การผลิตแต่ละปี จะสะสมขยะบนโลกมากขึ้นทุกปี จึงทำให้ยากต่อการกำจัด ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ทำให้เป็นต้นเหตุในการเกิดมลพิษ เพิ่มอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น นำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพของการปลอมปนขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ในสัตว์ทะเล และส่งผลกระทบมาสู่ประชากรบนโลก


การค้นพบพลาสติก แม้จะถือว่าประสบความสำเร็จเมื่อ 100 ปี จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม กลับกลายมาเป็นมหันตภัยร้าย สร้างมลพิษปล่อยคาร์บอนให้โลก เพิ่มอุณหภูมิให้โลกสูงขึ้น จนนำไปสู่สภาวะอากาศรวน (Climate Change) ตัวการทำให้เข้าสู่ยุคโลกเดือด

ภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าทั่วโลก จึงต้องประกาศจุดยืน ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก ตามพันธสัญญา ช่วยลดอุณหภูมิโลก ลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญของโลก ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ได้ประเมินมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ในปี 2565 เรามีจุดแข็งอยู่ที่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่


โดยมีจุดแข็งสำคัญจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพการผลิตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน จึงช่วยเพิ่มจุดแข็งและความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

การเปลี่ยนแปลงตลาด ให้เกิดการปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติกในประเทศ จึงต้องเริ่มต้นจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้า

 

นี่คือตัวอย่างของ 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และต่างประเทศที่หันมาปรับตัวเพื่อลดการใช้พลาสติก เพื่อเปลี่ยนแปลงตลาดในอนาคต


5 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของไทย
ประกาศจุดยืน ลด ละ เลิก ใช้พลาสติก

1. เซเว่น อีเลฟเว่นค้าปลีกผ่านแคมเปญ 7 Go Green

เซเว่น อีเลฟเว่น ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า งดแจกถุงพลาสติกในวันที่ 1 ม.ค. 63 ที่ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ ขานรับนโยบายของภาครัฐ พร้อมขอเชิญชวนให้คนไทยลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังเพื่อร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ซีพี ออลล์ ได้เริ่มดำเนินโครงการรณรงค์ลดและเลิกการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2550 ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ร่วมกับองค์กรต่างๆ จากนั้นได้จัดแคมเปญรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “ลดวันละถุง…คุณทำได้ ไปจนถึงโครงการ “ลด และ เลิก ใช้ถุงพลาสติก” ล่าสุดเปิดตัวโครงการ 7 Go Green Recycled Plastic Road โดยร่วมกับกลุ่ม SCG และกลุ่มบริษัท ดาวเคเมีคอล นำขยะพลาสติกมาทำพื้นที่ลานจอดรถหน้าร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาสายไหม ซึ่งเป็นสาขาต้นแบบ

2. เทสโก้โลตัสร่วมปลุกกระแส ลดแจกถุง

เทสโก้ โลตัส อีกหนึ่งธุรกิจค้าปลีกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีร้านค้ากว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ ตระหนักดีถึงบทบาทในการช่วยบรรเทาปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด โดยประกาศจุดยืนงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 63 พร้อมทั้งรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าหรือวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


3. บิ๊กซีแจงลูกค้าถึงเวลาบอกลาถุงพลาสติก

ด้านบิ๊กซี เริ่มออกประกาศแจ้งลูกค้า มีข้อความว่า บิ๊กซีเตรียมงดแจกถุงพลาสติกทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นไปตามมติของกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ลูกค้า


• ลูกค้าที่ยังไม่มีถุงผ้าช้อปปิ้ง สามารถเอาคะแนน Big Card 2,000 คะแนน มาแลกกระเป๋าอเนกประสงค์คละสีได้ฟรี!


• สมาชิกบิ๊กการ์ดไม่รับถุงพลาสติกสามารถรับคะแนนบิ๊กการ์ดเพิ่มทันที 200 คะแนน


• บิ๊กซียังมีการจัดช่องชำระเงิน Green Lane เพื่องดแจกถุงพลาสติก
ปัจจุบัน บิ๊กซี มีสาขามากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ การที่บิ๊กซีเดินหน้าประกาศนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครบทุกมิติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาภาวะโลกร้อน โดยวางเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ลดการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้าน

4. CPF เดินหน้าลดการใช้พลาสติก ตลอดห่วงโซ่การผลิต

ซีพีเอฟเดินหน้าลดการใช้พลาสติกตลอดกระบวนการผลิต ลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว (Single Use) ส่งเสริมและพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ง่ายต่อการนำกลับมารีไซเคิล และง่ายต่อการคัดแยกขยะ รวมไปถึงปลูกฝังความตระหนักสู่พนักงานในองค์กรมีส่วนร่วมจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

บรรจุภัณฑ์ของซีพีเอฟจึงถูกการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปสู่การรีไซเคิล (Design for Recycling) โดยหน่วยงานวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของซีพีเอฟได้ร่วมกับคู่ค้าพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้วัสดุชนิดใหม่ๆ ลดความหนา ปรับขนาด หรือ เปลี่ยนรูปแบบของบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ในขณะที่ยังคงรักษาคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการปกป้องผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยและคงคุณค่าอาหารตามหลักโภชนาการไว้อย่างสมบูรณ์ด้วย

ล่าสุด ซีพีเอฟ ร่วมกับพันธมิตร 2 บริษัทในกลุ่ม SCG ได้แก่ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ในการพัฒนาด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากเยื่อกระดาษและพอลิเมอร์ และด้านนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) ซึ่งจะช่วยให้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารในเครือซีพีเอฟ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยิ่งขึ้น

พร้อมกันกับ ได้รณรงค์ใช้พลาสติกที่ย่อยสลาย (พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจาก polylactic acid (PLA) จึงมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น


-ออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ง่ายต่อการรีไซเคิล รวมถึงพลาสติกฟิล์มชนิดเดียวกัน (Mono Plastic) รีไซเคิลได้ 100% โดยไม่ต้องแยกวัสดุต่างชนิดกัน ใช้ในการบรรจุหมูสดและไก่สดแช่เย็น


-มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ อาทิ ไข่ไก่จากพลาสติกรีไซเคิล 100% ปี 2566 จึงลดการใช้พลาสติกใหม่ได้มากกว่า 1,000 ตัน


-ลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตและการขนส่ง ในอาหารสัตว์บกใช้ถังบรรจุ ( Bulk Feed Tank) ทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ช่วยลดการใช้พลาสติกได้ 13,216 ตัน ในปีที่ผ่านมา


-สายธุรกิจสัตว์น้ำ เปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกบรรจุลูกพันธุ์กุ้ง มาเป็นใช้กล่อง Q-Pass Tank ลดการใช้พลาสติกได้มากกว่า 10,000 ตัน

5. SCG: ต้องสร้างนิเวศพลาสติกใหม่ “ตัดวงจร” ขยะพลาสติก

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้ลดการผลิต เนื่องจากเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายเม็ดพลาสติก เอสซีจีได้ลดการผลิตและจำหน่ายสินค้าพลาสติกชนิดที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single use) ตั้งแต่ปี 2550 -ปี 2560 รวมเวลา 10 ปี ลดการใช้ได้จาก 53% ลดเหลือต่ำกว่า 30% ทั้งที่กำลังการผลิตเพิ่ม


เอสซีจี ไม่เพียงแค่ลดการใช้ภายในองค์กร และในผลิตภัณฑ์ แต่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกรูปแบบใหม่ พร้อมกันกับนำพลาสติกเก่ามารีไซเคิล ตามแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy ดังนี้


-ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 โดยในปี 2565 มียอดขายกว่า 137,000 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 59,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ยังมีปริมาณพลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิลสะสมแล้วกว่า 3,000 ตัน


SCGC GREEN POLYMER มีโซลูชันครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่


1. ลดการใช้ทรัพยากร (Reduce) ด้วยเทคโนโลยี SMX™ ทำให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกที่มีความแข็งแรงมากขึ้น

 

2. ช่วยลดความหนาของชิ้นงานแต่คงความแข็งแรงได้ดังเดิม ลดการใช้ทรัพยากรอย่างเม็ดพลาสติก และทำให้สามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาลงได้


3. การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ (RECYCLABLE) พัฒนาโซลูชันแก้ไขปัญหาวัตถุดิบตั้งต้น ( Mono-material) สำหรับบรรจุภัณฑ์ ทำให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

4. การนำกลับมาใช้ใหม่ (RECYCLE) พัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) จากกระบวนการ Mechanical Recycling และเม็ดพลาสติก Certified Circular Resin จากกระบวนการ Advanced Recycling

ในขณะเดียวกันเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยพัฒนาปะการังเทียมจากเศษวัสดุในโรงงาน และโดยใช้พลาสติกเป็นท่อ เพื่อช่วยให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และสร้างรายได้ให้กับประมงชายฝั่งทั้งแถบชลบุรี และระยอง ปะการังเทียมได้วางไปแล้ว 1,400 ลังในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.8 หมื่นไร่ที่อยู่ในทะเล วัสดุยังมีความคงทน และช่วยเกื้อหนุนชาวประมงชายฝั่งทะเล

เอสซีจีต้องการเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผู้บริโภค ตั้งแต่ตัวบุคคลไปจนถึงครอบครัว ขยายไปสู่องค์กร อาทิ การแยกการทิ้งขยะ


5 โกลบอลแบรนด์ ประกาศปักธง ลดใช้พลาสติก เน้นรีไซเคิล

1. ยูนิลีเวอร์ ( Unilever)

บริษัทผู้บริโภคยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever ได้กำหนดแผนงานที่ครอบคลุมสำหรับเป้าหมายด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติก ของ บริษัท ในอีก 2 ปีข้างหน้า บริษัทคาดว่าจะใช้พลาสติกรีไซเคิล 25% ในบรรจุภัณฑ์ และรับรองว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก 100% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้

2. อาดิดาส (Adidas)


ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน Adidas ได้วางแผนการใช้วัสดุรีไซเคิลเพื่อผลิตเสื้อผ้าภายในปี 2567 และในปี 2558 ได้ร่วมมือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม “พาร์เลย์เพื่อมหาสมุทร” (Parley for the Oceans) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผล กระทบของมลพิษที่มีต่อสุขภาพของมหาสมุทร และตั้งเป้าหมายผลิตรองเท้าซีรีส์ใหม่ที่ทำจากขยะพลาสติกที่เก็บได้จากชายหาดมารีไซเคิล

3.บริษัทโคคา-โคลา (Coca-Cola)


บริษัท Coca-Cola ถือเป็นผู้ที่มีข่าวเชิงลบกับการได้รับการยกให้เป็นผู้นำในการปล่อยมลพิษ จากขยะของขวดเครื่องดื่ม จึงริเริ่ม ลดขยะพลาสติก พร้อมกันกับวางเป้าหมายใช้วัสดุรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2573 และจะพัฒนาให้มีบรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2568

4.ลอรีอัล (L'Oréal)

L'Oréal มีสำนักงานใหญ่ในฝรั่งเศส ได้รับการยอมรับผู้นำในอุตสาหกรรมด้านความงาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ประกาศลดขยะพลาสติกจากการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ตามนโยบายบรรจุภัณฑ์พลาสติก L'Oréal ตั้งเป้าหมายสัดส่วน 50% ของพลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์จะมาจากวัสดุรีไซเคิลหรือพลาสติกชีวภาพภายในปี 2568

5. พีแอนด์จี (P&G)

P&G ตั้งเป้าหมายหลักสองประการเกี่ยวกับการรีไซเคิล ได้แก่ มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค 100% ให้มีคุณสมบัตินำกลับไปรีไซเคิลได้ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงการวางแผนลดการใช้เม็ดพลาสติกทำจากปิโตรเลียมในบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มผู้บริโภคลง 50% ภายในปี 2573


ที่มา: https://www.becherplastics.com/5-big-brands-committed-to-using-recycled-materials

https://greennews.agency/?p=17390

https://www.wearecp.com/re62-0811-0001/