ประทีป ภักดีรอด ผู้เบื้องหลัง นวัตกรรมเครื่องมือสำรวจ ชลประทาน

by ThaiQuote, 4 ธันวาคม 2560

หากย้อนไปราว 30 ปี สมัยนั้น ในยามที่บรรดานักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ลงพื้นที่สำรวจทำแผนที่ภูมิประเทศใต้น้ำ จะใช้ไม้สตาฟหรือเทปวัดระยะผูกลูกดิ่งลงไปหยั่ง เพื่อวัดระดับความลึกของระดับน้ำซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกแต่ก็ยังต้องมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าไหมหากสำนักสำรวจจะพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือสำรวจทำแผนที่ด้วยตนเอง ที่ดีกว่าหรือเทียบเท่าและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาใช้งาน นายประทีป ภักดีรอด ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมและธรณีวิทยา บุคคลชลประทานของเราในฉบับนี้เล่าถึงเทคโนโลยีการสำรวจให้ฟังว่า คณะนักวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมของสำนักสำรวจได้เริ่มตั้งเป้าประสงค์ ทำการวิจัยและลองผิดลองถูกมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อจับทิศทางได้แล้วในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาจึงนำเข้าระบบงานวิจัย ทุ่มเทพัฒนาจนเกิดเป็นผลงานที่มีชื่อว่า “นวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทาน (Innovation of Irrigation SurveyingInstruments)” ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือสำรวจเพื่อปฏิบัติงานใน 4 ด้าน ได้แก่
  1. พัฒนาเทคนิคการทำแผนที่ ด้วยอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กแบบปีกหมุน (MUAV - Multiroter UnmanAircraft Vehicle) ซึ่งจะสามารถควบคุมและวางแผนการบินเพื่อถ่ายภาพทางอากาศ ด้วยระบบอัตโนมัติ เก็บข้อมูลแบบดิจิทัลและประมวลผลออกมาในรูปแบบแผนที่ 3 มิติสามารถรายงานผลบนโทรศัพท์และแท็บเล็ตได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และสมาร์ตโฟนโดยผ่านโปรแกรมที่ฝังไว้ในอากาศยาน
  2. พัฒนาอุปกรณ์หยั่งความลึกน้ำด้วยคลื่นเสียงแบบความถี่เดียว (Single beam echosounder) โดยใช้การสะท้อนทำให้ทราบความลึกในบริเวณที่สำรวจ เพื่อทำแผนที่ภูมิประเทศใต้น้ำ
  3. พัฒนาเครื่องมือสำรวจหาค่าพิกัดและระดับด้วยเครื่อง Global Positioning System : GPS ซึ่งมีดาวเทียมที่สามารถอ่านค่าได้แบบเรียลไทม์ (RTK-GNSS)ซึ่งมีค่าการอ่านพิกัดในแนวราบคลาดเคลื่อนไม่เกิน5 เซนติเมตร และแนวดิ่งคลาดเคลื่อนไม่เกิน 10 เซนติเมตร
  4. นำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลอัตโนมัติผ่านโปรแกรม Smart Survey และนำไปเขียนแผนที่ทางวิศวกรรมที่มีความละเอียด ชัดเจน เริ่มต้นที่ขนาดมาตราส่วน1:100 ขึ้นไป
“สาเหตุที่สำนักสำรวจต้องคิดค้นคว้า และพัฒนาอยู่เสมอก็เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในงานชลประทานระยะยาวข้อดีของการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาใช้เองคือ การลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 70% ทั้งยังได้ข้อมูลที่เร็วกว่าเดิมถึง 7 เท่า และละเอียดกว่าเดิมถึง 400 เท่า และเมื่อใช้นวัตกรรมนี้จนได้แผนที่ 3 มิติมาแล้ว จะนำไปสำรวจสอบเทียบโค้งความจุของอ่างเก็บน้ำชลประทานที่ทำการก่อสร้างมานาน เพราะการตกตะกอนและชะล้างของหน้าดินลงไปในอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้ความจุของอ่างเก็บน้ำลดลง และเมื่อคำนวณใหม่ได้ความจุที่ถูกต้อง ก็จะทำให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” นายประทีป เล่าด้วยความภาคภูมิใจ “ร่วมแรงร่วมใจ” และ “ทุกอย่างเป็นไปได้”แนวคิดบริหารงานลูกน้อง 500 ชีวิต นายประทีปมองว่าในการคิดค้นนวัตกรรมที่ต้องใช้เวลานาน และใช้ทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก ก่อนเริ่มงานจะต้อง “รวมทุกคนเป็นหนึ่งเดียว” ให้ได้ ดังนั้นในระหว่างการทำงานจึงมีการจัดประชุมและสัมมนาอยู่บ่อยครั้งเพื่อให้นักสำรวจผู้อาวุโสและผู้เยาว์ได้แลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา และนำข้อสรุปไปลองผิดลองถูกอยู่เสมอ หากมีส่วนใดที่แก้ไขไม่ได้ ก็เชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนา เช่น การเขียนโปรแกรมที่ถูกต้องและแม่นยำขึ้นเป็นต้น ในหลายครั้งที่มีโอกาสขึ้นบรรยายบนเวทีในฐานะผู้บริหารจัดการความรู้ (Chief Knowledge Officer : CKO)เขาจะบอกกล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอว่า อย่ากลัวที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่ความผิดพลาด แต่นั่นคือสิ่งที่จะก่อให้เกิดความถูกต้องและยั่งยืนในอนาคต และนายประทีปมักจะเขียนข้อความให้กำลังใจลูกน้องไว้ว่า“We can do and do more” ซึ่งแปลว่า“พวกเราทำได้และต้องทำได้ดีกว่านี้” โดยสาเหตุที่ใช้ประธานเป็น “We”นั้นก็เพื่อให้ใครก็ตามที่อ่าน รู้สึกว่าคณะของสำนักสำรวจเราจะทำได้ตามคำพูดนี้จริงๆ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการสร้างขวัญและกำลังใจของนายประทีปก็คือ ผู้ใต้บังคับบัญชาร่วม 500 ชีวิตที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำงานกลับมามีความฮึกเหิมในการทำงาน มีความกระตือรือร้นกระฉับกระเฉง จะเห็นได้ว่ามีการประชุมกลุ่มย่อยกันเองบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย การแบ่งเวลาชีวิตด้วยตารางความสุขและความทุกข์ ด้วยตำแหน่งและภาระงานจำนวนมาก ทำให้หลายคนต่างสงสัยว่านายประทีปแบ่งเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวอย่างไร ซึ่งวิธีที่นายประทีปใช้อยู่เสมอคือ การทำตารางที่แบ่งเป็นสองฟาก ฟากหนึ่งคือความสุข อีกฟากคือ ความทุกข์ในแต่ละวันเมื่อเราพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์ของเราก็ใส่ลงไปในตารางนี้ หากวันไหนที่มีความทุกข์มากกว่าความสุข แสดงว่าวันนั้นเราขาดทุนชีวิต “มีช่วงหนึ่งที่ผมเห็นตารางชีวิตของตนเองแล้วรู้สึกว่าขาดทุนชีวิตอย่างมาก ผมจึงหาวิธีสร้างกำไรให้ชีวิตด้วยการปรับมุมมองการทำงาน มองความทุกข์ให้เป็นความสุขเมื่อใดก็ตามที่เราลงพื้นที่ไปทำงานสำรวจ นั่นคือการบริการประชาชน การบินไปถ่ายภาพทางอากาศก็เหมือนกับการไปเที่ยวหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ ผ่านการพบเจอผู้คนและสถานที่ใหม่ๆ เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วก็ทำให้ตารางชีวิตของผมมีความสุขเพิ่มขึ้น และเป็นเช่นนี้เรื่อยมา” นายประทีปทิ้งท้ายถึงความสุขให้ฟังอย่างอิ่มเอมใจ รางวัลผลงานนวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทาน(Innovation of Irrigation Surveying Instruments)
  1. รางวัล The Best of Special Prize และรางวัล SpecialPrize จากกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้งานในอนาคต รวม 2 รางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2559 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  2. รางวัลชนะเลิศ Research and Development จากรายการ Thailand ICT Award (TICTA) 2016 จัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)
  3. รางวัลดีเด่น ด้าน R&D และ Embedded Application&Tool จัดโดยมูลนิธิเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 11
Tag :