“อยากกู้ ต้องกู้ได้” Smart SME Expo 2018

by ThaiQuote, 8 กรกฎาคม 2561

คุณพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) กล่าวว่าปัจจุบัน SMEs ไทยสูงถึง 3 ล้านราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้แล้วกว่า 1.3 ล้านราย นอกจากนั้นยังมี Micro SME รายเล็กมากๆที่ยังไม่ลงทะเบียนอีกกว่า 2.7 ล้านราย ซึ่งสาเหตุของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากก็เนื่องมาจาก SMEs ไม่มีข้อมูลทางบัญชีรวมไปถึงแผนธุรกิจ ซึ่ง SME Bank ก็จะช่วยก็จะช่วยปล่อยสินเชื่อโดยไม่ใช้หลักประกันให้กับ SMEs โดยเฉพาะ พร้อมให้คำแนะนำในการเขียนแผนธุรกิจ แต่ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล เนื่องจากแบงก์ต้องการแยกระหว่างหนี้ธุรกิจกับหนี้ครัวเรือนออกจากกัน โดยให้กู้ได้นานถึง 7 ปี ซึ่งปัจจุบันทางแบงก์สนับสนุนสินเชื่อเพื่อ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม Local Economy เนื่องจากเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่จะช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต คุณประภัสรา เนาวบุตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.มีภารกิจหลักคือการช่วยเพิ่มศักยภาพการขอกู้ของ SMEs กับทางธนาคาร เพราะเข้าใจว่าผู้ประกอบการรายเล็กอาจไม่มีหลักทรัพย์มากมายมาค้ำประกัน เพียงเป็นบุคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และมีสินทรัพย์ธุรกิจไม่เกิน 200 ล้านบาท ก็สามารถเข้ามาขอสินเชื่อค้ำประกันกับทาง บสย. ได้ ซึ่งมีหลักค้ำประกันให้เลือกมากมาย คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.75% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก โดยพิจารณาปล่อยสินเชื่อหลักค้ำประกันจากธุรกิจที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มการเติบโต คุณพิชัย ศรีเสาวภาค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทข้อมูลแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า เครดิตบูโร ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลสินเชื่อ ไม่ได้มีหน้าที่แบล็กลิสต์ด้านการเงินผู้ใด แต่เป็นฐานจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพิจารณาปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งสถาบันการเงินเหล่านั้นจะต้องรายงานประวัติการกู้และการชำระของแต่ละรายเข้ามาทุกเดือน การที่ต้องมีเครดิตบูโรก็มาจาก วิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 40 ที่ประสบปัญหาจนทำให้สถาบันการเงินล้ม เพราะไม่มีเครดิตบูโรเพื่อให้สถาบันการเงินประเมินถึงความเสี่ยงในการปล่อยกู้ โดยวิธีแก้ปัญหาไม่ให้ติดเครดิตบูโรสามารถทำได้ด้วยการผ่อนชำระตามกำหนด ตามข้อตกลง หรือหากช่วงเวลานั้นขาดสภาพคล่องทางการเงิน ก็ควรเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้