ส่อง ‘ท่าเรือถ่านหินนครหลวง’ 1 : ไร้ระบบการจัดการที่ดี!!

by ThaiQuote, 7 พฤษภาคม 2562

กว่า 30 ปี หากเทียบกับอายุคน ย่อมเป็นช่วงเวลาที่เติบโต เป็นวัยที่ฉกาจฉกรรจ์ทั้งหนุ่มสาว พรั่งพร้อมด้วยกำลัง ปัยญา คุณวุฒิต่างๆ แต่กลับกัน หากระยะเวลาดังกล่าวคือเวลาของปัญหา นั่นหมายความว่าปัญหาไม่เคยทุเลา แต่ยิ่งบานปลายไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด?

 

เรือโยงขนสิ่งต่างๆจอดริมน้ำยาวหลายกิโลเมตร

เรือโยงขนสิ่งต่างๆจอดริมน้ำยาวหลายกิโลเมตร


อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือหมุดหมายของปัญหาที่ผมกำลังจะพูดถึง เพราะเป็นสถานที่เป็นที่ตั้งของท่าเรือถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลายคนอาจจะใส่ใจปัญหาโรงไฟฟ้ถ่านหินที่อาจจะมีขึ้นในพื้นที่จ.กระบี่ แต่ในขณะเดียวกัน กลับหลงลืมแหล่งถ่านหินที่อยู่ในพื้นที่ใจกลางแผ่นดินภาคกลางไป เหมือนมันไม่มีอยู่จริง และพื้นที่ในเขตนี้ถึง 7 ตำบลด้วยกัน ได้แก่ บ่อโพง ปากจั่น สะแก นครหลวง บางระกำ บางพระครู และแม่ลา ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง

 

เรือโยงเข้าออกตลอดเวลา

เรือโยงเข้าออกตลอดเวลา

 

ไล่เรียงย้อนความกันสักนิดว่า ถ่านหิน จะนำไปใช้อะไรบ้างและทำไมยังใช้กันอยู่ ด้วยความที่บ้านเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา โรงอย่างอุตสาหกรรมมีมากราวดอกเห็ด ในหลายๆพื้นที่ ซึ่งถ่านหินนี้คุณสมบัติหนึ่งคือใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานความร้อนให้กับเหล่าโรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมสี รวมทั้งอุตสาหกรรมซีเมนต์

และหากเพิ่มความน่าสนใจในเรื่องปัญหาของอ.นครหลวง กิจกรรมต่างๆของท่าเรือย่านที่มีปัญหา ยังรวมถึงหัวเชื้อปุ๋ยเคมี มันสำปะหลัง ที่ขนขึ้นลงอีกด้วย

แม้ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพราะที่ผ่านมาปัญหาผลกระทบต่อประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนใดๆ จึงทำคนในพื้นที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงได้ทำการฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่นับจากวันที่ร้องเรียนเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันนี้ ปัญหาก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด?

ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามเรื่องราวของปัญหานี้ ผ่านแฟนเพจ ปัญหาถ่านหินจังหวัดอยุธยา เพื่อเข้าใจและรับทราบความคืบหน้า แต่การนั่งดูผ่านคอมอยู่ในกรุงเทพฯ คงไม่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน
ลมร้อนพัดเอื่อยเหนือสายน้ำป่าสัก ผมนั่งมองจากร้านอาหารริมน้ำที่ใกล้ที่สุดกับบริเวณท่าเรือ ผู้คนคราคร่ำเต็มร้าน รวมทั้งเรือโยงจำนวนมากมาย ที่จอดเรียงรายริมฝั่ง 2 ฟากน้ำ
จากระยะได้ยินเสียง เรื่องผลกระทบมลพิษทางเสียงในเบื้องต้นอาจจะยังมีไม่มาก แต่หากคงไม่เท่ากับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ เรือโยงทยอยเคลื่อนเข้าออกจากท่าเรือคลังสินค้าจำนวนมาก

ผมออกจากร้านอาหาร ย้อนข้ามน้ำป่าสัก มาสังเกตการณ์และพูดคุยกับแหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ตรงบริเวณวัดโพธิ์ทอง ซึ่งที่น่าสนใจคือบริเวณพื้นที่วัดที่ชิดริมน้ำนั้น มีโรงเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาตั้งอยู่ด้วย
แหล่งข่าวเริ่มต้นการสนทนาว่า สังเกตเห็นฝุ่นสีขาวๆที่คลุ้งขึ้นจากการตักอะไรสักอย่างขึ้นจากเรือโยงหรือไม่ ผมตอบรับในการเห็นสิ่งนั้น เขาอธิบายว่าถ้าดูจากเยื้องทางซ้ายมือเป็นโรงงานแป้งมันสำปะหลัง นี่คือกิจกรรมโรงแป้ง ในความผิดที่เกิดขึ้นในสิ่งที่เรียกว่ากิจกรรมหน้าท่านั้น โดยปกตินั้น กระบวนนการที่ถูกต้องจะต้องเป็นท่อลำเลียง ใช้สายพาน แต่นี่ใช้วิธีการตักโดยรถบีกโฮ ซึ่งเป็นจุดเกิดของฝั่นละอองในพื้นที่

 

กิจกรรมหน้าท่าฝั่งตรงข้ามวัดโพธิ์

กิจกรรมหน้าท่าฝั่งตรงข้ามวัดโพธิ์

 

“กิจกรรมหน้าท่าแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ เอาขึ้นจากเรือและนำลงเรือ ถ่านหินโดยหลักขึ้นเป็นการเอาขึ้นจากเรือ และหลังจากลำเลียงถ่านหินขึ้นแล้ว จะมีการนำปูนเม็ดลงบรรจุในเรือต่อ ที่นี่จะมีการอิมพอร์ตถ่านหินจากต่างประเทศ และการขนส่งถ่านหินออก ทำให้มีผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย และวัตถุดิบทางการเกษตรคือแป้งมันสำปะหลัง มันมีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ในตอนกลางฝุ่นมันยังน้อย แต่ถ้าเป็นกลางคืนเขาจะไม่เอาผ้าใบปิด ตามปกติเวลาเทลงเรือจะค่อยๆขยับเรือแล้วดึงผ้าใบปิดที่ละส่วน แต่กลางคืนเขาใช้วิธีลักหลับ เทพรวดทีเดียวไม่มีผ้าใบคลุม “ แหล่งข่าวระบุ

ผมถามต่อไปว่า อย่างวัดหรือโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ก่อฝุ่นละอองแบบนี้ ทำไมไม่มีการร้องเรียน แหล่งข่าวกล่าวว่า มีการร้องเรียนไม่ใช่ไม่มี แต่พระเจ้าอาวาสที่เคยร้องเรียน เคยถูกตำหนิจากเจ้าคณะจังหวัดในการเข้ามายุ่งกับปัญหานี้ ส่วนวัดและโรงเรียนที่เหลือ ทางเจ้าของท่าเรือ โรงงาน ก็ใช้วิธีการที่อุดหนุนเงินกับทางวัดและโรงเรียน ทุกอย่างมันก็คือจบ

 

 

นอกจากนี้ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ วิธีการล้างตัวถังเรือโยง แหล่งข่าวอธิบายว่า การล้างเรือก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องจับตา ทั้งนี้ เรือ 1 ลำใช้ทั้งขนขึ้นและบรรจุกลับลงเรือ ใช้ทั้ง การขนถ่านหิน หัวเชื้อปุ๋ยเคมีต่างๆ วิธีล้างคือใช้เครื่องสูบน้ำจากในแม่น้ำเข้าสู่แท็งค์เรือประมาณครึ่งแท็งค์ ถือว่าเป็นการล้างแล้ว จากนั้นจึงสูบน้ำออกกลับคืนยสู่แม่น้ำป่าสักอีกครั้ง!!

 

 

จากนั้น ผมย้ายตัวเองไปยังวัดเสด็จ จุดฝั่งตรงข้ามท่าเรือถ่านหินในพื้นที่ ตรงนี้เองที่ผมได้เห็น ของจริง ของปัญหาถ่านหิน จากเรือโยงฝั่งตรงข้ามกับวัด รถแบ็กโฮทำหน้าที่ตักถ่านหินขึ้นจากแท็งค์เรือโยงโดยตรง ใช่แล้ว เป็นการตักโดยตรงแบบเดียวกับการตักทรายก่อสร้าง ไม่มีการปกปิดใดๆ ไม่มีการใช้ระบบปิดในการควบคุมฝุ่นละอองจากถ่านหินแม้แต่นิดเดียว

ไม่แปลกใจกับปัญหาที่ยังคงอยู่ …
ติดตามตอนต่อไป.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
สิงคโปร์สุดล้ำปลูกพืชบนหลังคารถเมล์ หวังช่วยลดอากาศร้อน