คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเกมสู่ระดับโลกได้

by ThaiQuote, 15 สิงหาคม 2562

คนไทยนับเป็นหนึ่งที่มีความสามารถในการสร้างเกม ตัวอย่างเช่น Home Sweet Home ที่ได้ไปสร้างชื่อเสียงให้กับผู้พัฒนาชาวไทยได้เขย่าขวัญชาวโลกมาแล้ว นายกสมาคมเกมไทยมองว่าแนวโน้มการทำเกมในอนาคตจะเป็นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และเชื่อว่าคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถต่อยอดไปสู่ในระดับโลกได้

นายพลเทพ เศรษฐีวรรณ นายกสมาคมเกมไทย ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมเปลี่ยนไปมากไม่จำเป็นต้องนำเกมลงในแผ่นซีดีและขายตามหน้าร้านอีกต่อไป แต่สามารถทำในรูปแบบดิจิตอลดาวน์โหลดและขายได้ทั่วทั้งโลก ทำให้การแข่งขันในตลาดเกมกว้างขึ้นสู่ระดับโลก

แต่สิ่งที่ผู้พัฒนาจะต้องคำนึงคือ ต้องแบ่งกลุ่มของผู้ที่เล่นให้ชัดเจน หากพัฒนาเกมแล้ววางเป้าหมายออกมาไม่ชัดเจนหรือกลุ่มผู้เล่นที่ไม่ชัดเจน อาจไม่สามารถตอบสนองไปยังผู้เล่นได้

ทั้งนี้อุตสาหกรรมเกมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เกมจากบริษัทพัฒนาขนาดใหญ่และเกมจากผู้พัฒนารายย่อย(Indie Game) ซึ่งเกมที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากในประเทศไทยยังคงเป็นเกมที่มาจากบริษัทผู้พัฒนารายใหญ่ของโลกซึ่งการสร้างเกมเกมหนึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ทุนในการสร้างอย่างน้อย 300 ล้านบาท เกมเหล่านี้สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยให้กับบริษัทสูงถึง 154 ล้านบาทต่อวัน ในขณะที่เกมสำหรับผู้พัฒนารายย่อยจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-10 ล้านบาท ซึ่งตัวเลข 10 ล้านบาทนี้ถือว่าเป็นตัวเลขงบประมาณที่มหาศาล

สำหรับการพัฒนาเกมในประเทศไทย เนื่องจากต้นทุนการสร้างเกมของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก จึงอาจทำให้เกมในประเทศไทยที่ผลิตออกมาเป็นเกมเฉพาะกลุ่ม มากกว่าเกมที่ผลิตจากบริษัทรายใหญ่ๆ ซึ่งสำหรับเกมที่ผลิตโดยบริษัทขนาดเล็กรายได้เฉลี่ยใจอยู่ที่ประมาณ 1-5 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอัตราความนิยมในช่วงเวลานั้นๆของแต่ละเกมด้วย

ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีเกมจากผู้พัฒนาชาวไทยก้าวเข้าไปสู่ระดับโลกอย่างเกม Home sweet home ซึ่งเป็นเกมแนวสยองขวัญที่ทำให้ชาวต่างชาติหลอนไปกับผีไทยได้ไม่แพ้ชาติอื่นๆ

ด้านนายนพ ธรรมวานิช ผู้แทนสมาคมจากภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ระบุว่า ไทยมีการเรียนการสอนด้านดิจิทัลคอนเทนต์มากที่สุด มีฟรีแลนซ์ด้านการสร้างเนื้อหาดิจิทัล(Digital Content Creator)สูงถึง 300,000 คน ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เติมโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งบริษัทใหญ่ และ กลุ่ม Start-up

สำหรับประเทศไทยเองก็จะมีกลุ่ม ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเนื้อหาดิจิตอล เป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่เริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆในการสร้างตัวละครหรือคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นและถูกใจผู้ใช้ ซึ่งข้อมูลจากบริษัท LINE พบว่าประเทศไทยมีผู้ผลิตสติ๊กเกอร์ในการใช้งานบน LINE สูงถึงกว่า 4 แสนราย และในกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหาเหล่านี้ก็สามารถที่จะก้าวเข้าไปตีในตลาดโลกได้

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล(DEPA) ที่สำรวจแนวโน้มการเติบโตของมูลค่าเนื้อหาดิจิทัลไทย(Digital Content) ในปี 2561 คาดว่าจะแตะที่ระดับ 27,000 ล้านบาท และจะมีมูลค่าสูงถึง 29,358 ล้านบาท ในปี 2562 โดยสาขาอุตสาหกรรมแอนนิเมชั่นและเกมคาดว่าจะมีการเติบโตประมาณร้อยละ 9 แล้วจะยังคงเติบโตอีกร้อยละ 9 ในปี 2562 ในขณะที่สาขาตัวละครหรือ Character ไทยคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 11 ในปี 2561