ไทย-ฮ่องกง ลงนาม 6 ข้อตกลง ผนึกความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

by ThaiQuote, 29 พฤศจิกายน 2562

ไทย-ฮ่องกง ผนึกความสัมพันธ์เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ร่วมลงนามข้อตกลง 6 ฉบับ ทั้งด้านการค้า การลงทุน ด้านตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมจัดเวทีหารือในทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือกับนางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมคณะ โดยการหารือครั้งนี้เป็นแนวทาง เพื่อใช้เป็นกลไกถาวรในการกระชับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนทั้งสองประเทศ เพื่อใช้เป็นเวทีหารือร่วมกันเพิ่มเติมต่อไปอีกหลายครั้ง โดยครั้งต่อไป ทางฮ่องกงจะเชิญคณะของไทยไปเยือนฮ่องกง เพื่อสร้างมิติใหม่ทั้งสองฝ่าย และในความร่วมมือ จะมีการนัดประชุมระดับสูงร่วมกันอย่างน้อยปีละครั้ง


ทั้งนี้ ฮ่องกงถือเป็นหัวหอกสำคัญในการเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hong Kong - Macao Greater Bay Area: GBA) ภายใต้นโยบาย BRI (ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง) ของจีน ขณะที่ไทยมีสถานะเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากขึ้น ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียนและอินโดจีนหรือ CLMVT เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งในการหารือครั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงไทย-ฮ่องกง มีการลงนามร่วมกัน 6 ฉบับ ประกอบด้วย


1. ความร่วมมือ ด้านการค้าและการลงทุน เพื่อร่วมมือกันผลักดัน ให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านดอลาร์สหรัฐในปี 63 หากเศรษฐกิจดีขึ้นในปีหน้าการค้าทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะการส่งออกข้าวหอมมะลิเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมของไทยออกไปสู่ตลาดโลก รวมทั้งพร้อมเริ่มหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดท่าความตกลงการค้าเสรี (FTA ไทย - ฮ่องกง) การปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชน หลังได้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงในไทยแล้ว วันที่ 1 ก.พ. 63 จะเร่ิมต้นร่วมกันศึกษา FTA อย่างจริงจัง และในปี 64 จะเริ่มวางกรอบการเจรจาร่วมกันได้ ทั้งเรื่องด้านบริการและด้านอื่นเพิ่มเติม

2.การลงนามด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมกัน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการโยกย้ายฐานการผลิตของวิสาหกิจ ฮ่องกงมายังไทย หลังจากในช่วง 20-30 ปีก่อน นักลงทุนสนใจไปลงทุนในจีน นับว่านายเอ็ดเวิรด์ เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ได้นำคณะนักลงทุนชุดใหญ่ของฮ่องกงมาเยือนไทย

3.การลงนามด้านการเงิน เพราะฮ่องกงเป็นตลาดทุนขนาดใหญ่ระดับโลก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเติบโตสูงมากทั้งมูลค่าการซื้อขายและจำนวนหุ้นที่มีศักยภาพ ไทยจึงนำหลักทรัพย์ไทยร่วมทำ cross listing เป็นการสร้างความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เชื่อมโยงข้อมูลการตลาด หรือการทำ regulatory mapping ปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ ด้านการเงินใหม่ ๆ การปกป้องคุ้มครองนักลงทุน เพื่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยไซเบอร์ กรีนไฟแนนซ์ หรือการลงทุนอย่างโปร่งใส หรือส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

4. ความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนไทยและฮ่องกงต่างมี “พลังแห่ง ความสร้างสรรค์” (creative power) อยู่มาก อาทิ การสร้างภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ จึงร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาภาพยนต์ออกสู่เวทีโลก

5. ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เพราะสองฝ่ายมุ่งเน้น การสร้างระบบนิเวศของการพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงต้องลงนามร่วมกันระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วม การบ่มเพาะ Start-up ที่มีศักยภาพ และการมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ Start-up เข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น เพราะฮ่องกงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มและมีกองทุนคอยให้การช่วยเหลือ

6.การลงนามระดับผู้นำ เพื่อความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล มุ่งเน้นด้านอาชีวศึกษาและการยกระดับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือ STEM เพื่อส่งเสริมเพิ่มนักท่องเที่ยว 3 ล้านคน/ปี ภายในปี 64

นางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวย้ำว่า ไทยนับเป็นมหามิตรสำคัญของฮ่องกง จึงได้จัดเวทีหารือร่วมกับหลายครั้ง และเพิ่มความสำคัญ เพราะนายสมคิดเป็นมิตรแท้ ได้ร่วมผลักดันทั้งความร่วมมือ GBA และ BRI ให้คืบหน้ามาต่อเนื่อง สะท้อนการให้ความสำคัญของทั้งสองฝ่าย โดยได้รับแรงผลักดันจากนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือทั้งด้าน เทคโนโลยี นวัตกรรม สตาร์ทอัพ การลงนามร่วมกันครั้งนี้ นับว่าเป็นการสร้างโอกาสร่วมกันสองฝ่ายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเชื่อมโยงตลาดทุน เพราะฮ่องกงมีความเข้มแข็งทางการเงิน แม้ปัจจุบันฮ่องกงยังอยู่บนความขัดแย้งทางการเมือง แต่ขอเน้นย้ำเรื่องการปกครองแบบ One Country Two System

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า ฮ่องกง มองว่าไทยได้พัฒนาการสร้างภาพยนต์ และคนไทยนิยมดูหนังจีนฮ่องกงหลายสิบปีผ่านมา ความร่วมมือในด้านการสร้างภาพยนต์ จึงเป็นเป้าหมายร่วมกันเพราะไทยมีทั้งทำเล และการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งไปสู่การผลักดันผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยก้าวสู่เวทีโลก

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
แครี่ หล่ำ ถึง ทำเนียบฯ ร่วม MOU ไทย-ฮ่องกง