ขบวนการผู้หญิงฯ ชี้แก้รธน.ต้องมีเรื่องเท่าเทียมระหว่างเพศ

by ThaiQuote, 27 มกราคม 2563

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ออกแถลงการณ์ แก้รัฐธรรมนูญต้องบรรจุเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้รับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือ WeMove ได้ออกแถลงการณ์ พร้อมกับองค์กรเครือข่าย โดยเนื้อหาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นนั้น โดยมีข้อเรียกร้องต่างๆดังนี้
“สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีประเด็นในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการที่สร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม ผู้หญิง และเพศหลากหลายอย่างมาก ตลอดช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และองค์กรเครือข่ายได้เสนอหลายประเด็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้รับการยอมรับที่จะบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น ไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตย ขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอและกว้างขวาง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้บัญญัติเรื่องใหม่ๆ ที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย จึงทำให้เกิดปัญหานานัปการตั้งแต่ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น ในการริเริ่มของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และองค์กรเครือข่ายจึงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมกับทุกเพศสภาพ โดยเริ่มการศึกษาวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามีข้อเด่น ข้อด้อยอะไร และในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระนี้ควรมีกระบวนการอย่างไรในแบบที่ผู้หญิงและทุกเพศสภาพต้องการ


ข้อเสนอเชิงหลักการที่ WeMove ห่วงกังวลและต้องการผลักดันเป็นพิเศษ คือ
1) ต้องประกันและบัญญัติเรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ สิทธิชุมชน ความเสมอภาค และความเสมอภาคระหว่างเพศ อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
2) WeMove ยืนยันหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยใช้มาตรการพิเศษเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางโอกาส เช่น การจัดให้มีสัดส่วนของหญิง-ชาย (Gender Quota) โดยให้มีเพศใดเพศหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามในองค์กรตัดสินใจทุกระดับ รวมทั้งในการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. และกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งขอยืนยันการทำนโยบายและงบประมาณของรัฐทุกหน่วยงานที่ต้องคำนึงถึงเพศสภาพ วัยและสภาพของบุคคล (Gender Responsive Budgeting-GRB) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 71 วรรค 4
3) ผู้หญิงและเพศหลากหลายต้องเข้าถึงและได้รับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม ปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้องมีสันติภาพและปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เด็ก และผู้บริสุทธิ์ทุกศาสนา
4) เพิ่มกลไกและประสิทธิภาพของภาคประชาชนในการตรวจสอบนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรอิสระ
5) ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้หลักการข้อเสนอกฎหมาย เอื้ออำนวยต่อประชาชนมากกว่าปัจจุบัน
6) ยืนยันการจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และสุขภาพ
7) เพิ่มอำนาจการตัดสินใจของผู้หญิงในการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
8) ให้บัญญัติสิทธิแรงงานในหมวดสิทธิเสรีภาพ “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน สิทธิด้านหลักประกันในการดำรงชีพทั้งระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน มีระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน รวมทั้งระบบประกันสังคมที่เป็นอิสระ” และรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87, 98, 183 และ 190
ข้อเสนอของ WeMove และองค์กรเครือข่ายต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
1) ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยประชาชนทุกเพศสภาพและทุกภาคส่วน คล้ายคลึงกับสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
2) มีกลไกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางตลอดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ก่อนร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ และหลังจากร่างเสร็จแล้ว
3) ให้ทำประชามติ โดยต้องเผยแพร่อย่างทั่วถึง และให้ประชาชนมีเวลาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ
แถลง วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา


ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
กลุ่มผู้หญิงปากมูน
กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้
เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย
เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
เครือข่ายสตรีพิการ
เครือข่ายองค์กรสตรี 14 จังหวัดภาคใต้
เครือข่ายเยาวชนศูนย์ฟ้าใส
เครือข่ายสตรีชายแดนใต้
เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
มูลนิธิผู้หญิง
มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet)
มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก
สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI)
สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (WePeace)
สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
สมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค
สมาพันธ์ศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต”


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

พท. แนะรัฐบาลเสนองบฯ63 ให้สภาใหม่พิจารณาใหม่แก้วิกฤติ