คณะกรรมการทะเลชาติ มีมติควบคุมการสร้าง “กำแพงกันคลื่น”

by ThaiQuote, 22 พฤษภาคม 2563

ดร.ธรณ์ เผย คณะกรรมการทะเลชาติ เห็นชอบให้มีการควบคุมดูแลการสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันชายหาด ก่อนดำเนินงาน ต้องขอนุญาตจากกรมทะเล

 

วันที่ 22 พ.ค.63 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม แชร์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า คณะกรรมการทะเลชาติ มีมติเห็นชอบให้มีการควบคุมดูแลการสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันชายหาด

 

โดยโพสต์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

“ตามที่สัญญากันไว้ วันนี้จะมีข่าวดีเรื่องกันเซาะชายฝั่ง ข่าวดีมาแล้วครับ คณะกรรมการทะเลชาติมีมติเห็นชอบให้มีการควบคุมดูแลการสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันชายหาด

เพื่อความเข้าใจ ต้องเขียนยาวหน่อย ขอเพื่อนธรณ์อ่านจนจบ จากนั้นปิ๊งแน่ครับ

เริ่มเรื่องจากชายฝั่งแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีความเปลี่ยนแปลงทั้งจากธรรมชาติ และผลกระทบจากมนุษย์

เมื่อ 10-20 ปีก่อน เรามีการสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งก็แตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม

ยุคนั้นมี EIA คอยคุม การก่อสร้างริมฝั่ง/ในทะเล ยาวเกิน 200 เมตร ต้องผ่าน EIA

แม้มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ระบบยังมีการคัดกรองควบคุม

แต่ปัญหาแท้จริงเริ่มในปี 56 เมื่อกระทรวงทรัพยากรฯ มีมติยกเลิกการทำ EIA กับกรณีดังกล่าว

ผมไม่ทราบว่ายกเลิกทำไม แต่ผลของการยกเลิกเป็นที่ทราบกัน และกรมทะเลเขียนไว้ในเอกสารเสนอที่ประชุมทะเลชาติ

“การก่อสร้างเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ลุกลามไปเรื่อย เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ฯลฯ”

เน้นย้ำว่านี่คือข้อความของกรมทะเล ผมสรุปมา ไม่ได้คิดขึ้นหรือเขียนขึ้นเอง

ซึ่งตรงนี้เห็นตรงกัน ทั้งหน่วยงานรับผิดชอบ นักวิชาการ ฯลฯ

เมื่อมันไม่มีการคุมการคัดกรอง ปัญหาเกิดเยอะมาก ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

คำตอบคิดแบบง่ายๆ คือก็เปลี่ยนประกาศให้มาคุมอีกครั้ง

แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะการยกเลิกแล้วกลับมาทำใหม่ เป็นไปได้ยากในแง่กฎหมาย

เราจึงต้องมุ่งหน้าไปในสิ่งที่ดีกว่า เป็นสากลมากกว่า กล่าวคือรื้อระบบทั้งหมด

เราเริ่มมาตั้งแต่ครั้งผมเป็น สปช.ปี 58 (สภาปฏิรูป)

ต่อเนื่องยาวนานจนมาเป็นแผนปฏิรูปประเทศ/ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างระบบใหม่มาให้ได้

ระหว่างนั้น สองแรงแข็งขันคือศศิน และ อ.บอย ออกเดินทางทั่วไทยเพื่อทำแผนที่หาด/กลุ่มหาดทั้งหมด

สุดท้าย เราช่วยกันผลักดันจนเข้าวาระของคณะกรรมการทะเลชาติเพื่อเสนอ ครม.

ก้าวแรกที่เข้าคือปี 61 ครม.มีมติรับทราบแนวทางป้องกันและแก้ไขกัดเซาะ

จนมาถึงวันนี้ เรานำงานทั้งหมดเข้า กก.ทะเลชาติ เพื่อพิจารณา ทั้งการจัดทำกลุ่มหาด แบ่งนั่นนี่ อันเป็นกระบวนการที่ต้องมี

แต่ที่สำคัญสุดคือ ร่างประกาศกระทรวง กำหนดว่า...อ่านดีๆ นะครับ

ให้พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่ง... เป็นเขตมาตรการป้องกันการกัดเซาะ

ห้ามมิให้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่น/เขื่อนป้องกันตลิ่ง เว้นแต่จัดทำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในที่นี้คือ Enviromemtal Checklist จัดนำเสนอเพื่อขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเล

หมายถึงว่า เรากำลังจะมีอะไรบางอย่างมาดูแลการก่อสร้างประเภทนี้ทั้งหมด

ไม่ใช่ให้สร้างไปก่อน พอบางแห่งเกิดปัญหาก็มาวุ่นวาย เหมือนที่้เคยเกิดมาตลอดในช่วง 6-7 ปี

และพอสร้างไปแล้วก็ยากต่อการแก้ไขหรือหยุดยั้งเพราะ กม.ไม่เปิดช่อง หรือเปิดไว้ก็นิดเดียว ยากที่จะเกิดผลปฏิบัติได้

การวิ่งวุ่นไปทุกทิศทาง เป็นข่าวหาดนี้ ต่อไปหาดนั้นหาดโน้น มันมองไม่เห็นจุดจบ

แต่ตอนนี้เรากำลังจะมีประกาศฉบับนั้น กำลังจะมีจุดจบ

และยังมีอีกหลายกระบวนการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ต้องไปใช้เป็นแนวทาง ต่อเนื่องถึงสำนักงบประมาณ ฯลฯ

ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าห้ามสร้าง แต่ก่อนสร้างต้องมีการพิจารณาว่าควรไหม โดยทำอย่างรอบคอบ และกรมทะเลมีอำนาจในการพิจารณา

นี่คือการแก้ไขแบบมองไปข้างหน้าจนครบ ปิดแก๊ปที่เราเคยมีมาในอดีต

ผมจึงดีใจมากที่ผ่าน กก.ทะเลชาติ

ผมยังเสนอว่า โครงการที่สร้างอยู่ตอนนี้มีปัญหา ขอให้คณะอนุกรรมการกัดเซาะ ที่มีทั้งบอยและศศินอยู่ด้วย ลองไปพิจารณา

ทั้งหมดนี้ กรรมการทะเลชาติรับมติทั้งหมด

ซึ่ง กก.ชาติในที่นี้ มีท่านรองนายกประวิตรเป็นประธาน ท่าน รมต.วราวุธเป็นรองประธาน ท่านปลัดกระทรวง/ท่านอธิบดี ทุกคนอยู่พร้อมในที่ประชุมวันนี้

และมี กก.ระดับปลัดกระทรวงในแทบทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น คมนาคม มหาดไทย ท่องเที่ยว กองทัพเรือ ฯลฯ

เพราะฉะนั้น นี่คือการประชุมระดับสูงสุด และต่อจากนี้ก็เข้า ครม.

เป็นอันว่าการทำงานต่อเนื่องยาวนานของหลายต่อหลายคน จะส่งผลสักที

ต้องบอกไว้ว่า ในเรื่องนี้ ผมแค่คอยช่วยผลักดันตรงนั้นตรงนี้ คนทำจริงมีอีกเยอะ จนไม่สามารถบอกได้หมด

คำขอบคุณจึงควรส่งตรงไปให้หลายคนที่ช่วยกันมาตลอด นับตั้งแต่ปี 58

ยังรวมถึงทุกท่านในกรรมการชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่พยายามเรื่องนี้มาตลอด

สำหรับผม ตอนนี้ก็ยิ้มครับ ดีใจที่ปิดจ๊อบแผนปฏิรูปประเทศที่ทำมานานได้อีกเรื่อง

และอยากบอกไว้ หลายเรื่องในเมืองไทยมันไม่ง่ายหรอ ยิ่งเกี่ยวข้องกับ กม.มันยิ่งยาก

แต่ถ้าเราไม่ละความพยายาม มุ่งหน้าทำไปเรื่อยๆ สักวันมันจะสำเร็จ

ดีใจมากครับ เลยเลือกภาพหาดแถวระยองยังยังสดใสสบายตามาให้เพื่อนธรณ์ดู

เป็นนิมิตหมายว่า ในอนาคตเราจะยังเก็บหาดดีๆ แบบนี้ไว้ให้ลูกหลานเราไปเดินจูงมือกันได้ครับ

หมายเหตุ - รายละเอียดในประกาศแบบเป๊ะๆ รอให้เป็นทางการก่อนนะครับ”

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ