รีไซเคิล “แผงโซลาร์เซลล์แบบครบวงจร” ต้นแบบการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

by ThaiQuote, 23 พฤศจิกายน 2564

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดผลสำเร็จการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แบบครบวงจร ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเป็นต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

 

แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งกันอย่างแพร่หลายในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะเริ่มชำรุดหรือหมดอายุและหมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า โดยภายในระยะ 5 ปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากหลักพันตัน/ปี เป็นหลักหมื่นตัน/ปี

 

 

หากมีกระบวนการจัดการและเทคโนโลยีการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นวัตถุดิบทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ และยังเป็นการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย

 

 

“ในปีนี้ กพร. สามารถพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างครบวงจร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแต่งแร่และโลหะการที่มีความเชี่ยวชาญ โดยสามารถรีไซเคิลส่วนประกอบต่าง ๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ เศษกระจก โลหะผสมซิลิกอน เงินบริสุทธิ์ ทองแดงบริสุทธิ์ อะลูมิเนียม และผงเงิน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย” “กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

 

 

สำหรับความสำเร็จดังกล่าวจะช่วย พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตาม BCG Model หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy ของรัฐบาล

 

“การปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาปริมาณสำรองทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ ด้วยการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining) เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรทดแทน” “นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์” อธิบดี กพร.กล่าว

 

 

จากการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบครบวงจร เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล กพร. ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียรวมกว่า 70 ชนิด

 

โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจ เฉลี่ยปีละกว่า 300 ราย สร้างธุรกิจใหม่ (Start-up) และยกระดับผู้ประกอบการ (Level-up) โดยก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปใช้ 150-200 ล้านบาทต่อปี