“ชัยพร พรหมพันธุ์” ปราชญ์สัมมาชีพ เรียนน้อย แต่ค้นคิดเครื่องมือทุ่นแรง ทำนาต้นทุนต่ำ จนเป็นชาวนาเงินล้าน

by วันทนา อรรถสถาวร , 27 มกราคม 2566

ลุงชัยพร พรหมพันธุ์ เป็นเกษตรกร ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ประกอบอาชีพทำนาขายข้าวในพื้นที่ 108 ไร่ ตามแนวทางเกษตรปลอดภัยและลดต้นทุน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์จนประสบความสำเร็จ ขายข้าวได้ราคาดี ถูกเรียกว่า ชาวนาเงินล้าน

 

ก่อนประสบความสำเร็จเป็นชาวนาเงินล้าน ลุงชัยพร มีความลำบากตามประสาครอบครัวชาวนาดั้งเดิม เคยทำงานรับจ้างเป็นช่างกลึงนาน 3 ปี เมื่อไม่ดีขึ้นจึงวกกลับบ้านเกิดมาช่วยครอบครัวปลูกข้าวขายบนที่นาผืนเก่า 8 ไร่

 

ชัยพร พรหมพันธุ์

ชัยพร พรหมพันธุ์

 

หลังแต่งงานย้ายมาอยู่บ้านภรรยาและยังยึดอาชีพทำนาใช้สารเคมีบนพื้นที่ 25 ไร่ แต่ได้ข้าวน้อย ขายขาดทุน มีหนี้สินพอกพูนสะสมปีต่อปี พยายามค้นหาความรู้ใหม่มาพลิกเปลี่ยนการทำนา โดยหวังให้ได้ข้าวมากขึ้น มีคุณภาพ และขายได้ราคาดีเพื่อปลดหนี้สินแล้วลืมตาอ้าปาก กลายเป็นชีวิตชาวนาใหม่มีความสุขมั่นคงพอเพียง สามารถส่งลูกสาว 2 คน และลูกชาย 1 คน จบการศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหน้าที่การงานมั่นคง ทั้งที่ตัวเองจบเพียงชั้น ป.4

ลุงชัยพรบอกกับ Thaiquote ว่า การที่ตนเองได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์สัมมาชีพในฐานะชาวนาที่ใช้ความรู้ภูมิปัญญา พรแสวงในการคิดค้นเครื่องมือสิ่งประดิษฐ์เพื่อมาช่วยอำนวยความสะดวก และหาแนวทางในการลดต้นทุน จนสามารถทำนาได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

 

“ผมทำนาแบบลดต้นทุน สารเคมีไม่ใช้ ใช้แต่สารชีวภาพ เดิมทำนาแบบใช้สารเคมีมา 6 ปี และทำตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง แต่ระหว่างที่ทำนาอยู่นี้ก็เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ใช้สารเคมี ทำอยู่ 6 ปีไม่มีกำไร เพราะที่ไม่เหมาะ เป็นที่ราบลุ่ม น้ำมาน้ำก็ท่วมนาน ท่วมแต่ละครั้งครึ่งปี ทำให้คิดได้ว่าการทำผสมผสานแบบนั้นไม่ลงตัว ได้กำไรน้อย กำไรไร่ละ 500-1,000 บาท แล้วต้องกินทั้งปี ก็อยู่ไม่ได้ ทำให้ต้องหาแนวทางการทำนาใหม่ ก็หันไปศึกษาแนวทางการทำนาโดยใช้สมุนไพรควบคุมแมลง ต้นแบบคืออาจารย์เดชา ศิริภัทร” ลุงชัยพรเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่หันเหมาทำนาแบบใช้สมุนไพรและเกษตรผสมผสาน มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก แต่จะมีการใช้สารเคมีบ้างเท่าที่จำเป็น

ลุงชัยพรเป็นลูกชายคนโต เล็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่พ่อไปฝากอู่โรงกลึงทำให้ได้วิชาช่าง ทำเครื่องได้ อ๊อกได้ กลึงได้นิดหน่อย ทำให้มีวิชาตรงนี้ มีเครื่องไม้เครื่องมือมาก จึงไปช่วยพ่อทำให้เห็นว่าการใช้สมุนไพรควบคุมแมลงดีที่ว่า ลงทุนน้อย และไม่เป็นเพลี้ย จึงนำมาทดลองทำที่ที่นาของตนเองราวประมาณ 8 ไร่ ในปี 2532 โดยแบ่งทำเป็น 2 ส่วนหนึ่งทำนาที่ใช้สารเคมี อีกส่วนหนึ่งที่ทำโดยใช้สมุนไพร่กำจัดแมลง ปรากฏว่าในปีนั้น เพลี้ยระบาดทำให้นาที่ทำด้วยปุ๋ยเคมีเสียหายหมด แต่ในขณะที่แปลงนาที่ทำด้วยสารอินทรีย์กลับไม่ได้รับผลกระทบ และให้ผลผลิตที่มากด้วย จากนั้นมาก็เลือกทำนาที่ใช้สมุนไพรควบคุมแมลง และได้รับโล่เกษตรกรดีเด่นในปี 2538 และตั้งจุดยืนอย่างเหนียวแน่นว่าทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี

 

 

ทำนาได้ 4-5 ปีมีกำไรเหลือ จึงไปซื้อเครื่องยนต์ 10 ล้อเก่ามาปรับแต่งขับส่งของเป็นอาชีพเสริม ในแต่ละสัปดาห์ได้เงินเป็นหมื่น ๆ รายได้จากการทำนาแทบไม่ได้ใช้ จนมีเงินเหลือสามารถซื้อนาได้ตั้งแต่ปี 2539 และมีเงินเหลือส่งลูกเรียนจบปริญญาโทได้ทั้ง 3 คน รายได้ต่อ ๆ มาก็สามารถเก็บหอมจนสามารถซื้อที่นาเพิ่มได้อีกเป็น 100 ไร่

“ผมถือว่าเป็นต้นแบบของการทำนาโดยไม่เผาฟาง ฟางที่ได้ก็นำไปไถกลบกลายเป็นปุ๋ย นอกจากนี้จากความรู้เรื่องช่างทำให้ผมทำเครื่องมือในการทำนาโดยทุ่นแรงลงได้ เช่น ทำเครื่องกรุยดินด้วยมอร์เตอร์ที่เราไปซื้อมาประกอบเป็นรถ ทำหน้าที่เป็นคันไถมอร์เตอร์ ไม่ต้องไปซื้อเครื่องสำเร็จที่ต้องจ่ายเงินหลักแสนหลักล้าน ทำที่ปรับที่นาให้เรียบ ไม่ต้องวิดน้ำบ่อย ผมทำอุปกรณ์ต่าง ๆ นับ 10 รายการ แต่ละอย่างก็ทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่ต้องใช้แรงงานคน ทำงานด้วยตัวคนเดียวได้ ” ลุงชัยพรเล่าด้วยความภูมิใจกับการเป็นนักประดิษฐ์ชาวนา

 

 

อีกหนึ่งเคล็ดลับของการทำนาในสไตล็ของลุงชัยพรคือไม่มีการเผาฟาง แต่จะไถกลบฟางตอนหน้าน้ำมา ทันทีน้ำมาท่วมก็ลงมือไถกลบฟาง น้ำท่วม 3-4 เดือนจะทำให้ฟางเปื่อยย่อยสลาย เป็นปุ๋ยหมักอยู่ในดินที่นา

นอกจากนี้การใช้สมุนไพรหมักมาไล่แมลงทำให้สสภาพของดินมีความสมดุล ทำให้เกิดเชื้อนูโมเรียเกิดขึ้นในแปลงนา ทำให้หนองตาย ก็เลยส่งเชื้อให้ลูกสาวไปทำวิจัย พอรู้ว่าเป็นเชื้ออะไรแล้ว ก็นำมาเพาะเลี้ยง เป็นหัวเชื้อฉีดในแปลงนาของตัวเองทำให้หนอนตาย แปลงนางดงาม หัวเชื้อดังกล่าวยังได้แบ่งปันให้เกษตรกรที่สนใจด้วย ซึ่งหัวเชื้อนี้ไม่มีการซื้อขาย ไม่จัดส่ง ใครสนใจก็มาขอที่บ้าน ส่วนได้ไปแล้วก็กำชับว่าไม่ให้ขายต่อ ให้แบ่งปันไป เชื้อดังกล่าวช่วยให้การทำนาได้ลดต้นทุนมาก ทำนากว่า 100 ไร่ใช้เงินทุนทำเชื้อเพียง 700 กว่าบาทเท่านั้น

 

 

“ราคาข้าวเราไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่ต้นทุนการผลิตเราสามารถกำหนดได้ ถ้าเราทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด เราก็จะมีรายได้เหลือเป็นกำไรมากตามนั้น” ลุงชัยพรเล่าจากประสบการณ์

เคล็ดลับที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ลุงชัยพรทำนาไม่เหมือนกับเกษตรกรทั่วไปคือ จะไปคุยกับโรงสีว่าต้องการข้าวประเภทอะไร จะทำตามที่โรงสีต้องการ ข้อดีคือเรารู้ราคาขายคร่าว ๆ อยู่แล้ว และเรามั่นใจว่ามีคนซื้อ เพราะเป็นความต้องการของโรงสี ในขณะที่ชาวนาทั่วไปจะทำนาตามใจตัวเอง ข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือจากที่ลุงชัยพรขับรถสิบล้อส่งข้าว ทำให้รู้จักกับโรงสีต่าง ๆ มากมาย ทำให้ได้มีโอกาสได้โทรศัพท์ไปถามโรงสีแต่ละแห่งต้องการข้าวพันธุ์อะไร ราคาเท่าไหร่ แต่ละโรงสีให้ราคาไม่เท่ากัน ทำให้ลุงมีทางเลือกในการส่งข้าวเข้าโรงสี

 

 

“ผมทำนาด้วยตัวเอง ทำคนเดียว ข้อดีของการทำนาด้วยตัวเองคืองานเราจะประณีต ไม่ดีเราไม่เลิก ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ถ้าเราไปจ้างผู้จัดการนา เขามาทำให้เรา เขาสู้เราทำเองไม่ได้ ผมแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง ปัญหาเรื่องราคา ก็มีการวางแผนเรื่องโรงสีไว้ก่อน เรื่องต้นทุนก็จะทำด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนูโมเรีย ไซโคเดอร์ม่าร์ น้ำปูนใส ทำฮอร์โมนไข่ ฮอร์โมนนมสด แคลเซี่ยมโมล่อน ทุกอย่างในการทำนาเราสามารถผลิตเองได้หมด เมื่อต้นทุนทุกอย่างเราควบคุมได้ ก็ทำให้ได้ราคาไม่ขาดทุน” ลุงชัยพรบอกถึงกระบวนการพึ่งตนเองในการทำนา พร้อมกับเล่าต่อว่า

นาที่ทำกว่า 105 ไร่ได้ผลผลิตประมาณกว่า 100 ตันต่อฤดูการผลิต ถ้าปีไหนน้ำเหมาะสมทำนาได้ 2 รอบจะได้ข้าวประมาณมากกว่า 200 ตัน นาในแต่ละฤดูลงทุนประมาณ 2 แสนบาท แต่ขายได้กว่า 8 แสนบาท ตกกำไรรอบละกว่า 5-6 แสนบาท การทำนาในแต่ละรอบต้นทุนตกประมาณ 2,600 บาทต่อไร่ แต่เกษตรกรทั่วไปต้นทุน 6,700 บาทต่อไร่ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะทำเอง แต่ต้องการทำนาแบบผู้จัดการนา การทำนาด้วยตนเองอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ ที่ตัวเองประดิษฐ์ขึ้นมานากว่า 100 ไร่ใช้เวลาประมาณกว่า 20 วันก็ทำเสร็จ ไม่ต้องเสียค่าจ้าง เพราะเราทำเอง แต่ถ้าต้องจ้างคนอื่นต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่า 60,000 บาท

 

 

“ผมภูมิใจในความเป็นชาวนาของผม ภูมิใจที่เป็นต้นแบบได้ทุกเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นการประกอบรถเทเลอร์ไปใช้ทำนา ตอนคิดมันยาก แต่พอเราคิดได้แล้วก็เป็นต้นแบบให้คนอื่นทำตามได้ ตอนนี้ทุกบ้านไปนาก็ใช้รถเทเลอร์ ตอนนี้ก็ทดลองทำรถหว่านข้าว จะนำไปทดลองใช้ในนาเราและนาของเพื่อนเกษตรกรด้วยกันว่าทำได้หรือไม่ ผมจะยึดหลักว่าหากมีปัญหาอะไร ผมจะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาของเราด้วยตนเอง แล้วมันก็แก้ได้ อุปกรณ์ทุกอย่างที่ประดิษฐ์ออกมา ทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทั้งนั้น”ลุงชัยพรพูดถึงพรสวรรค์ในการเป็นคนนักประดิษฐ์ ดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ มาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ป้าเหงี่ยม” ผู้รักษาภูมิปัญญาการย้อม “ผ้าหม้อห้อม” ต่อยอดให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ สวยงาม สร้างอาชีพให้ชุมชน
https://www.thaiquote.org/content/249300

สั่งสมความรู้ จนบ่มเพาะเป็นภูมิปัญญา “ปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ” คืนชีวิตให้ดิน
https://www.thaiquote.org/content/249245

ปราชญ์จัดการน้ำแห่งตำบลดงขี้เล็ก ส่งเสริมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน ลดปัญหา หลาก ท่วม แล้ง อย่างยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/249185