เกษตรอินทรีย์คลองตัน PGSต้นแบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

by วันทนา อรรถสถาวร , 1 เมษายน 2566

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS จ.สมุทรสาคร” สร้างสังคมเครือข่าย เพื่อการผลิตเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม สร้างความยั่งยืนให้กับสมาชิก ด้วยผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลาดที่เข้มแข็ง 

 

“สุรนุช บุญจันทร์”ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ ที่เป็นแกนนำรุ่นบุกเบิกการทำเกษตรอินทรีย์ให้สัมภาษณ์กับ Thaiquote ฟังว่า ทางกลุ่มได้เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2558 แล้วยกระดับเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในปี 2560 โดยตอนปี 2558 ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏมีทุนมาให้เราดำเนินการให้ทำโครงการผู้นำตามธรรมชาติหรือผู้นำชุมชน โดยให้ทุนเรียนปริญญาตรีในด้านผู้ประกอบการทางสังคม การเข้าไปเรียนได้เรียนเรื่อง PGS และต่อมาก็ให้ทางบ้านแพ้วเป็นชุมชนต้นแบบ โดยได้รับการสนับสนุนจากสวนเงินมีมา ซึ่งทางทีมสนับสนุนต้องการทำชุมชนเกษตรอินทรีย์ แต่ทีมเราพยายามหลบ ไม่อยากทำ เพราะทีมได้เริ่มตั้งแต่ 2549 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายก็ได้จัดทำเป็นเวที โดยมีเวทีต่าง ๆ ประมาณ 4-5 เวทีที่ตำบลคลองตัน ซึ่งการรวมกลุ่มในครั้งนี้มีความเข้มแข็ง สอนให้เราได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการตรวจแปลง กระบวนการนำเสนอ การหาช่องทางทางการตลาด สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร จากการผลิตแบบเคมี 100% เป็นเกษตรอินทรีย์ ตรงจุดนี้ทำให้เกิดชุดความรู้ เป็นการสนับสนุนของรัฐที่ทำให้เกิดเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็งสามารถสร้างชุดความรู้ในการผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และส่งเสริมให้ผลผลิตของเราสามารถเข้าสู่โรงพยาบาล ทำให้เราสามารถตั้งหลักได้

 

 

 

ในระยะแรกของการทำเกษตรอินทรีย์ปัญหาสำคัญคือความไม่เข้าใจในการตรวจแปลง แต่เราใช้วิธีทำไปเรียนไป บางทีชาวบ้านไม่ลชินกับเรื่องของเอกสาร โดยมีเราที่พอจะรู้บ้างก็ต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนเขา ปัญหาประการต่อมาคือผลผลิตของเราในระยะแรก ๆ มีน้อย การออกไปตระเวรตามตลาดอตก.นั้นมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง บางทีก็ไม่คุ้ม ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงระยะแรก ๆ ของการทำเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคยังไม่ค่อยรับรู้ และเปิดกว้างสำหรับตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เท่าที่ควร สินค้าไม่น่ารับประทานเท่ากับสินค้าที่ปลูกมาจากระบบเคมี

 

 

คุณสุรนุชกล่าวว่า “ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือจำนวนผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์นั้นน้อยกว่าสินค้าที่ปลูกมาจากระบบเคมี ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่ง ปกติเกษตรเคมีเก็บแต่ละรอบได้ 2,000 กิโลกรัม แต่สำหรับเราเก็บได้ 200 กิโลกรัม ผลผลิตลดลงไปเยอะมาก และยังมีส่วนที่เสียอยู่ในแปลงด้วย สิ่งที่เราเรียนรู้คือต้องขจัดส่วนที่เสียออกนอกแปลง เพื่อให้แปลงสะอาด ถ้าพวกเราไม่อดทน จะอยู่ไม่ได้”

แต่ว่าหลังจากที่ปรับกระบวนการปลูกไปเรื่อย ๆ จนเข้ากรอบเลย 2 ปีไปแล้ว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ระบบนิเวศแปลงคือโรคจะเริ่มน้อยลง มีบางรายที่มีการหยอดสารเคมีลงไปบ้างแต่เป็นจำนวนน้อยมากกว่าเมื่อก่อน เพื่อเป็นการคุมโรคไว้ได้ และควบคุมปัญหาดังกล่าวด้วยมาตรการระยะการเก็บเกี่ยว หลังจาก 3 ปีไปแล้ว ถ้าเป็นนาข้าวก็ไม่ต้องใช้สารเคมี ผลผลิต 70 ถังต่อปี

 

 

นอกจากนี้ทางชุมชนยังได้ปราชญ์อีกคนหนึ่งที่มีความรู้เรื่องการปราบศัตรูพืชด้วยการคิดค้น “สามเมา” ซึ่งสามารถทดแทนสารเคมีได้ทั้งหมด

 

 

ทางด้านเหตุผลในการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจนั้น ต้องการให้มีการทำงานเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความชัดเจนเรื่องการบริหารจัดการ และประกอบกับทางราชการเข้ามาสนับสนุนทั้งในแง่งบประมาณ ความรู้เรื่องการจัดการแปลง และมีคนเข้ามาให้คำแนะนำมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือของกลุ่มดังกล่าวได้นำช่องทางการขายผ่านโรงพยาบาลเข้ามาด้วย และเป็นหนึ่งในตลาดที่สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS จ.สมุทรสาครมาจนทุกวันนี้

จุดแข็งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือระบบการจัดการ PGS ซึ่งได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่ง PGS เป็นการให้การรับรองแบบมีส่วนร่วม จากผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ค้าปลายทาง มาตกลงสร้างกติการ่วมกันในเรื่องของการผลิตว่า อยู่ ณ จุดตรงไหนที่ทุกฝ่ายรับได้ เพื่อนำไปเป็นมาตรฐานในการตรวจแปลง

 

 

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS จ.สมุทรสาคร” เริ่มต้นจาก 9 แปลง พื้นที่การเพาะปลูกประมาณ 40 ไร่ มาจนปัจจุบันมี 60 รายกินพื้นที่การเพาะปลูก 500 ไร่ ในระยะแรกเน้นการทำพืชจำพวกผลไม้ ปัจจุบันเน้นมาทำในกลุ่มผักด้วย ส่วนรายได้ในระยะแรก ๆ มีการออกร้าน ออกตลาดนัดรายได้จะตกประมาณ 10,000 กว่าบาท ปัจจุบันงบปิดยอดประมาณกว่า 4,000,000 บาทต่อปี

ตลอดการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 กลุ่มพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางระบบ PGS ได้ดำเนินกิจกรรมสะท้อนรูปธรรมอย่างชัดเจนทั้งแนวทางและเป้าหมายในอนาคต โดยเกิดการจ้างงานคนชุมชนและสมาชิกในกระบวนการผลิต ส่งผลให้สมาชิกและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลผลิตให้กลุ่มวิสาหกิจฯ

 

 

สิ่งสำคัญ เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% มีแนวคิดในการจัดระบบสวัสดิการที่ดีสำหรับสมาชิกและชุมชน โดยนำผลกำไร 30 % ใช้ในการปันผลและการจัดการองค์ความรู้ จนได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guaruntee Systems : PGS) มารับประกันคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคว่า ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ

ด้วยรูปธรรมที่ชัดเจนในช่วงการปรับตัวมา 4 ปีนั้น สิ่งสำคัญคือ ส่วนหนึ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มเป้าหมายที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ “เกษตรกรรมยั่งยืน” โดยเป็นความยั่งยืนทั้งในมิติคุณภาพชีวิตของสมาชิก อีกทั้งชุมชนเกษตรกรได้จัดระบบสวัสดิการให้ชุมชนสมาชิกด้วยตนเอง รวมถึงมั่นใจว่าผลผลิตมีตลาดรองรับ ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งด้านการผลิต การตลาด และจำนวนสมาชิกที่จะเข้ามาร่วมมากขึ้นในอนาคต

“ความยั่งยืนที่สำคัญที่สุดคือการรวมกลุ่มทำให้มีรุ่นพี่รุ่นน้อง รายใหม่ที่เข้ามาได้เห็นประสบาการณ์ทำงานที่ประสบความสำเร็จแล้ว ย่อมมีความมั่นใจในการเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังส่งเสริมให้สมาชิกขอใบรับรองชนิดต่าง ๆ มาเพื่อเป็นการยกระดับผลผลิตให้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ ส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายมาตรฐานร่วมกัน”คุณสุรนุชกล่าว

 

 

ผลลัพธ์การดำเนินงานดังกล่าว การร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงเป็นข้อสรุปของชีวิตเกษตรกรที่มีส่วนร่วมสร้างพลังแบบกลุ่ม เป็นพลังสามารถทำให้ท้องถิ่นยืนด้วยขาตัวเองได้ชัดเจน แม้ในปี 2563 การระบาดของโควิดทำให้ผู้คนเดือดร้อน เศรษฐกิจปากท้องย่ำแย่ คนตกงานกราดเกลื่อน แต่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ยังฝ่าฟันเอาตัวรอดอยู่ได้ นั่นมาจากพลังร่วมกลุ่มได้ผนึกแรงช่วยเหลือกัน เพื่อก้าวเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่ในอนาคต คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

เปิดใจ กลอย “กรรวี สกลทัศน์” หัวเรือใหญ่บริษัทฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กับหัวใจนักพัฒนา
https://www.thaiquote.org/content/249832

“ธนาคารน้ำใต้ดิน” พื้นที่อุ้มน้ำไม่ให้ท่วม และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดินในเวลาแล้ง
https://www.thaiquote.org/content/249770

“กาแฟถ้ำสิงห์” มีจุดเด่นเป็นโรบัสต้าตามสายพันธุ์คือ เข้ม หอม ไม่มีสิ่งปลอมปน
https://www.thaiquote.org/content/249652