“กาแฟถ้ำสิงห์” มีจุดเด่นเป็นโรบัสต้าตามสายพันธุ์คือ เข้ม หอม ไม่มีสิ่งปลอมปน

by วันทนา อรรถสถาวร , 4 มีนาคม 2566

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์ พัฒนา “กาแฟบ้านสิงห์” ให้สะอาดปลอดภัยได้รสโรบัสต้าสายพันธุ์แท้ จนกลายเป็นสินค้า GI สร้างตลาด สร้างแบรนด์เป็นของตนเอง ประกันรายได้เกษตรกรกาแฟต้นละ 600 บาท

 

“นิคม ศิลปศร” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์ เล่าถึงที่มาของ “กาแฟถ้ำสิงห์” ที่เลื่องชื่อเรื่องรสชาติของกาแฟโรบัสต้าที่แท้จริง โดยเล่าให้ “Thaiquote” ฟังว่า พื้นที่ตำบลบ้านสิงห์มีการปลูกต้นกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจหลักตั้งแต่ปี 2510 สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมาเจอวิกฤตเมื่อปี 2532 จากเหตุการณ์พายุเก ก่อนพายุเกก็ราคาตกต่ำ เกษตรกรเริ่มเบื่อมีการโค่นทิ้ง หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือทุเรียน และใหดินเสื่อมสภาพเพราะมีการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก ก็เป็นอีกผลกระทบหนึ่งของชาวถ้ำสิงห์ ตนเองจึงได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งเพื่อหันมาฟื้นฟูกาแฟถ้ำสิงห์ให้กลับมาโด่งดังอีกครั้งหนึ่ง ตามคำขวัญของจังหวัดชุมพร “ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรมฯ ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก”

 

 

แต่ช่วงปี 2550-51 กาแฟแทบจะหมดไปจากชุมพร จึงนั่งจับเข่าคุยกับคนที่เข้าใจปัญหา มีความเห็นตรงกัน และร่วมที่จะเข้าร่วมก่อร่างสร้างไร่กาแฟกันใหม่ โดยวิเคราะห์และประเมินว่าการจัดทำกลุ่มที่ผ่านมา ไม่มีการคัดคน ทำให้พอทำกลุ่มไปสักระยะ กลุ่มก็ล่ม จึงทำให้กลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์ในระยะแรก ๆ จะต้องมีคุณสมบัติ “หัวไว ใจสู้” เชื่อฟังกัน ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สมาชิกและคณะกรรมการต้องเชื่อฟังประธานเป็นหลัก จึงสามารถทำให้กลุ่มเข้มแข็งได้ เมื่อรวมตัวเป็นกลุ่มแล้ว ก็ดำเนินการปลูกกาแฟ โดยมีเป้าหมายนำกาแฟมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อนนำออกสู่ตลาดไปจัดจำหน่าย

 

 

นอกจากนี้คุณนิคมยังเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมของสมาชิก คือไม่ให้ปลูกเชิงเดี่ยว แต่เน้นปลูกแทรกผสมผสานไปกับพืชชนิดอื่น ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกต้นทุเรียนเป็นหลัก และปลูกต้นกาแฟเสริมทำหน้าที่เป็นพืชห่มดินช่วยแบ่งเบาภาระการระบาดของโรคแมลง ไม่ปลูกเป็นจำนวนมาก แต่ปลูกเท่าที่เกษตรกรจัดการได้ ดูแลได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน เพื่อให้เก็บมาขายได้ทุกวัน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กลุ่ม นอกจากนี้ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์ได้ทำประกันราคาให้กาแฟต้นละ 600 บาท ทำให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกเกิดความมั่นใจ

 

 

พฤติกรรมที่ทางคุณนิคมเข้าไปเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือขั้นตอนของการเก็บเกี่ยวจะไม่ใช้การรูด แต่ใช้การเด็ดทีละเม็ด แยกสีของเมล็ดกาแฟเป็นเหลือง ส้ม แดง การเก็บเกี่ยวในลักษณะนี้จะได้รสชาติของกาแฟโรบัสต้าที่โดดเด่น ไม่มีความขมหรือกลิ่นสาปที่เกิดจากสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ นำมาขายที่กลุ่มกิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าท้องตลาดเท่าตัว โดยโรงคั่วทั่วไปรับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท

 

 

คุณนิคมเล่าว่าสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างกาแฟโรบัสต้าของถ้ำสิงห์ที่แตกต่างจากที่อื่นคือ กระบวนการของการคัดเลือก ทำความสะอาดและอบแห้ง โดยเมล็ดกาแฟสดที่ได้มา ทางกลุ่มจะนำมาล้างน้ำ เมล็ดที่จมจะรับซื้อ ส่วนเมล็ดที่ลอยจะคืนเกษตรกรไป เมล็ดกาแฟส่วนที่จมก็จะนำมาทำแห้งด้วยการดรายด์ ผ่านตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 50-85 องศาเซ็นเซส ใช้เวลาในการอบ 15-17 ชั่วโมง จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการอบโดยพลังงานแสงอาทิตย์อีกประมาณ 5-7 วัน และจะนำมาวัดความชื้นให้ไม่เกิน 10% และจัดใส่เข้ากระสอบบ่มไว้อีก 1 ปี ทำให้กาแฟของถ้ำสิงห์ค่อนข้างสะอาด มีรสชาติเป็นตามสายพันธุ์คือเข้ม หอม และไม่มีสิ่งปลอมปน เช่น เชื้อรา หรือกลิ่นต่าง ๆ จะไปอยู่ในเมล็ดได้

 

 

 

 

ด้านการตลาดทางกลุ่มมีศูนย์กระจายกาแฟถ้ำสิงห์เป็นของตนเอง เป็นสินค้า OTOP ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีขายผ่านระบบออนไลน์ ทั้งบนเฟซบุ๊กและไลน์ มีร้านกาแฟสดถ้ำสิงห์ทั้งหมด 6 สาขา โดยเฉพาะสาขาที่เขามัทรี มีทิวทัศน์ที่สวยงาม เมื่อมาประกอบกับกาแฟรสดี ทำให้นักท่องเที่ยวอยากรู้จักถ้ำสิงห์ ส่งผลให้ปัจจุบันนี้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร

นอกจากนี้กาแฟถ้ำสิงห์ยังได้รางวัลมาตรฐาน GI ด้านกระบวนการผลิตสะอาด ปลอดเชื้อรา ดื่มแล้วปลอดภัย และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาได้รางวัล อ.ย.อะวอร์ด ปี 2022

 

 

ความสำเร็จของกาแฟถ้ำสิงห์เริ่มต้นจากการรวมตัวของคนที่มีแนวคิด “หัวไว ใจสู้” ประมาณ 20 คน บุกเบิกกันมาจนปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์มีสมาชิกทั้งหมด 651 คน เงินทุนหมุนเวียนที่ได้จากการระดมหุ้นอยู่ที่ 3,380,000 บาท ทุกเดือนมีนาคมจะมีการปันผล โดยการนำรายได้ประมาณ 70% ปันเป็นผลประโยชน์ให้สมาชิก ผลตอบแทนตามมูลค่าหุ้น โดยกำหนดให้แต่ละคนมีหุ้นไม่เกิน 100 หุ้น ๆ ละ 100 บาท ปีที่แล้วได้หุ้นละ 7 บาท ปีนี้ได้ 6 บาทกว่า เพราะเงินส่วนหนึ่งนำไปซื้อเครื่องจักรในการอบ ช่วงก่อนโควิดได้หุ้นละ 14 บาทเลยทีเดียว

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์มีสินค้าเป็นกาแฟในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหมดประกอบด้วย กาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด กาแฟแคปซูล กาแฟดริป ปุ๋ยกาแฟสำเร็จรูป

 

 

คุณนิคมบอกว่า ปัญหาอุปสรรคใหญ่อยู่ที่ราคากาแฟของถ้ำสิงห์จะสูงกว่าท้องตลาด เพราะทางกลุ่มรับซื้อเมล็ดกาแฟจากกลุ่มในราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ภายใต้ระบบการเก็บเกี่ยวที่ทางกลุ่มกำหนด นอกจากนี้ยังต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก ทำความสะอาด และบ่ม

“จากการรับซื้อในราคาที่สูง มีต้นทุนกระบวนการคัดเลือกทำความสะอาดทำให้ต้นทุนสูง จึงต้องขายในราคาที่สูงไปด้วย พ่อค้าที่มาซื้อกาแฟรับราคาไม่ได้ อันนี้ถือเป็นอุปสรรคหลัก จึงแก้ไขด้วยกลไกการตลาด ด้วยการเน้นขายตรงจากร้านOTOP ที่ไปเปิดร้านค้าต่าง ๆ” คุณนิคมกล่าว

 

 

กาแฟของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์เกือบ 99% ทำการตลาดเอง ตั้งแต่กระจายขายยังสาขา OTOP ของตนเอง 6 แห่ง ขายผ่านออนไลน์ แปรรูปกาแฟให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อข้ามขั้นตอนของพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ราคาแข่งขันได้เมื่อถึงมือผู้บริโภค

“ต้นทุนกาแฟทางกลุ่มอยู่ที่ 150 บาท แต่ของท้องตลาดอยู่ที่ 60-70 บาท ถ้าเราต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางก็จะถูกกดราคา ดังนั้นเราจึงหาทางออกด้วยการแปรรูปจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 ทำให้เราอยู่ได้ ในอนาคตมีโครงการที่จะสร้างรถจัดจำหน่ายไปยังตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นการขยายช่องทางตลาดให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มออกจำหน่ายที่อยุธยา ประจวบคีรีขันต์ สมุทรปราการ เพชรบุรี ” คุณนิคมกล่าวพร้อมกับเสริมว่า

“การตั้งกลุ่มของเรานอกเหนือจากการฟื้นฟูกาแฟถ้ำสิงห์คือการยกระดับรายได้ให้กับสมาชิก และไม่เอาเปรียบสมาชิก กลุ่มใช้แนวคิเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแกนในการดำเนินการ ปลูกพืชผสมผสานไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างคนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ และรายได้ส่วนหนึ่งจัดสรรเพื่อช่วยสาธารณะในชุมชน เช่น สนับสนุนกีฬา ช่วยการศึกษา เป็นต้น”

สำหรับเป้าหมายในอนาคตต้องการขยายเครือข่ายสมาชิกเกษตรกรผลิตกาแฟให้มากกว่านี้ เพราะพื้นที่จังหวัดชุมพรเหมาะแก่การปลูกต้นกาแฟ ทางกลุ่มจะสร้างแบรนด์ “ถ้ำสิงห์” ให้เข้มแข็ง ด้วยการรับเมล็ดกาแฟที่ได้ใบรับรอง GI มาทำ ส่วนกาแฟจากพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดชุมพรจะส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างแบรนด์ของตนเอง เพื่อให้เกิดแบรนด์ที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งก็ส่งมาให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์กระจายไปยังแบรนด์ใหญ่ เช่น อเมซอน หรือโรงคั่วรายใหญ่ เป็นต้น

“ในแต่ละปีทาง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์รับผลผลิตไม่เกิน 100 ตัน แต่ปลายปีนี้วางเป้าที่ 300 ตัน เพราะเห็นว่าคนเริ่มรู้จักโรบัสต้าคนนิยมมากขึ้น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านสิงห์มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคนดื่มกาแฟโรบัสต้าว่าไม่จำเป็นต้องมีรสขื่น หากเราคัดเลือกและทำความสะอาด อบเมล็ดกาแฟเป็นอย่างดี เราจะได้ดื่มรสชาติของโรบัสต้าอย่างแท้จริง” คุณนิคมกล่าวในที่สุด

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร “สมุทรสงคราม” ด้วยนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม”
https://www.thaiquote.org/content/249530

“สุริยา ศิริวงษ์” ผู้สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ผลิตมังคุด ให้พ้นจากปัญหามังคุดล้นตลาด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ
https://www.thaiquote.org/content/249421

“KonnThai.com” แพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรผลผลิตเกษตรอินทรีย์กับผู้ซื้อ ภายใต้ดิจิทัลเทคโนโลยี
https://www.thaiquote.org/content/249591