“ประชานิยมสุดโต่ง” ประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย

by วันทนา อรรถสถาวร , 6 พฤษภาคม 2566

“นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่แตกต่างจากคนอื่นของเราคือไม่ประชานิยม ไม่ลดแลกแจกแถม เราอยากจะช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพราะฉะนั้นการใช้นโยบายที่แจกทั่วไปหมดกับคนทุกกลุ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อันนี้เราไม่เห็นด้วย” -เกียรติ สิทธิอมร-

 

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ เกียรติ สิทธิอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายและประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ สามารถติดตามได้ดังนี้

 

เกียรติ สิทธิอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ

เกียรติ สิทธิอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ

 

เน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบจำเพาะเจาะจง

นโยบายหลักของประชาธิปัตย์ เราจะไปช่วยเหลือเจาะกลุ่มเลย เช่น กลุ่มเกษตรกร หนี้ของชุมชน เรามีธนาคารชุมชน ทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน มีโครงการที่จะดูแลชาวนาไร่ละ 2,000 บาท จำนวน 15 ไร่ต่อครอบครัว เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน เอสเอ็มอีปรับโครงสร้างหนี้ เราไม่เห็นกับการพักหนี้เป็นการทั่วไป เพราะคนที่ไม่จำเป็นต้องพักหนี้ก็จะขอด้วย เราต้องใช้ภาษีของประชาชน แต่การปรับโครงสร้างหนี้เราดูความเหมาะสมของแต่ละกรณี

ประเด็นที่สอง เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องกันว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้โต พรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นเดียวกันต้องโตให้ได้ 5% ที่ต่างกันคือทุกพรรคใช้งบประมาณ แต่ของประชาธิปัตย์ไปเกลี่ย ไปปลดล็อคเงินที่อยู่ในระบบมาได้ 1 ล้านล้านบาท เช่นกองทุน กบข. ปลดล็อคมาได้ 2-3 แสนล้านบาท เพื่อให้เจ้าของเงินแทนที่จะไปกู้ธนาคารก็นำมาจ่ายหนี้ ซื้อบ้าน ปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนต่าง ๆ สามารถเกลี่ยมาได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนเอสเอ็มอี ช่วยด้วยการเพิ่มทุน ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ตอนนี้เขาอ่อนแออยู่จากโควิด จึงต้องเข้าไปช่วย อีก 2 แสนล้านมาจากเศรษฐกิจที่จะโต

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความแตกต่างมาก ๆ คือไม่เพิ่มภาษี เพราะเราไปเกลี่ยมาไม่จำเป็นต้องกู้ จุดนี้เป็นจุดที่แตกต่างมาก นอกจากนี้เรายังมีนโยบาย 16 ข้อสำหรับดูเศรษฐกิจฐานราก

“นโยบาย 10,000 บาท เป็นนโยบายที่ใช้เงินมาก และให้กับคนอีก 35 ล้านคนที่ไม่มีความต้องการ อันนี้เราไม่เห็นด้วย”


นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและ PM2.5

เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศไปแล้วคือปฏิวัติเขียว ขบวนการผลิตทุกอย่างในอนาคตของเราต้องสอดคล้องกับการปฏิวัติเขียวของสหประชาชาติด้วย เช่น การท่องเที่ยวก็ต้องเป็นการท่องเที่ยวในนโยบายสีเขียวหรือ ECG Tourism ทางพรรคประการแล้วว่า โตแบบสีเขียว โตอย่างสะอาด โตอย่างยั่งยืน

ในเรื่องที่เกี่ยวกับ PM2.5 มีปัญหาอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกเผาโดยเราเอง ประเด็นต่อมาเผาโดยต่างชาติ หรือเงินลงทุนของเราในต่างประเทศ การแก้ปัญหาตรงนี้ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นกับเกษตรกรของเรา เราต้องตอบโจทย์เขาด้วย เขาเผาเพราะอยากได้เร็ว และไม่มีเครื่องมือ แต่ละชุมชนต้องมีเครื่องมือการเก็บเกี่ยวที่สนับสนุนด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และถ้ามีอย่างนั้นแล้วเขายังเผา เราจะขึ้นบัญชีจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ในส่วนของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนของไทยหรือของต่างประเทศ ถ้าเผาแล้วเกิดผลกระทบมาถึงประเทศไทย เราไม่ซื้อผลผลิตของเขา แต่เราต้องทำความเข้าใจก่อน ซึ่งเดี๋ยวนี้รู้ไม่ยาก ใช้ดาวเทียมจับก็รู้แล้วว่ามาจากไหน

ประเด็นที่ 3 ที่ต้องทำคือมีข้อตกลงกันระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง ต้องพัฒนาเป็นความตกลงของภูมิภาคให้ได้

 

 

3 เดือนแรกจะเข้ามาแก้ไขปัญหาพลังงานแพง

สิ่งแรกที่จะเข้ามาทำคือปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องปัญหาพลังงานราคาแพง ข้าวของสินค้าอุปโภคบริโภคแพง สามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น กำไรโรงกลั่นตอนนี้สูงเกินไป ก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสูงกว่าปิโตรเคมีเท่าตัว ถ้าเรามีโอกาสเข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลดูแลกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของ และกระทรวงพลังงานในฐานะผู้ถือหุ้น ต้องเข้าไปทำตามนโยบาย ไม่ใช่ปล่อยให้ปิโตรเคมีทำกำไรมากมาย ในขณะที่เป็นต้นทุนภาระให้กับประชาชน ปิโตรเคมีจ่ายเงินค่าก๊าซเข้าโรงงานตัวเองเพียงครึ่งหนึ่งที่จ่ายเข้าโรงไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไฟฟ้าต้องลดลงมายูนิตละ 1-1.50 บาท ต้นทุนก๊าซต่อปีประมาณ 50,000 ล้านบาทที่ไม่เป็นธรรมอยู่ อันนี้ต้องแก้ไข และเมื่อต้นทุนพลังงานลดลงมา จะทำให้ค่าครองชีพ ทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ลดลงด้วย อีกส่วนหนึ่งที่ต้องแก้ไขคือส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากในประเทศไทยยังสูงอยู่


จุดยืนในการเข้าร่วมรัฐบาล

ทางพรรคประชาธิปัตย์ของเรามีจุดยืนในการเข้าร่วมรัฐบาล เรารอให้ประชาชนพูดก่อน รอผลออกมาก่อนว่าแต่ละพรรคได้ส.ส. กี่คน จึงสามารถเห็นหน้าเห็นตาในการจัดตั้งรัฐบาลได้ อันนี้เป็นสูตรสำเร็จ เงื่อนไขของเราคือจะต้องเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

การยกเลิก ม. 112 ประชาชนหลายคนเห็นว่าการยกเลิก ม. 112 คือการไม่เอาสถาบัน เราไม่ต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้

 

 

ม.112 ถ้าต้องการมาคุยกันเพื่อเป็นการยกระดับให้สถาบันดีขึ้น เรายินดี แต่ไม่ใช่นำมาเป็นเงื่อนไขในการหาเสียง ในบรรยากาศนี้แม้แต่การแก้ไขก็ยังไม่เห็นด้วย นโยบายประชานิยมที่สุดโต่งก็ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอันนี้เห็นด้วย แต่ต้องเป็นการแก้ไขที่ผ่านกระบวนการของสสร. ที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ประชาธิปัตย์เราทำดีทุกวัน ให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ ส่งผู้สมัครลงทุกพื้นที่ สำหรับผลโพลที่ออกมา เราให้ความเคารพ เราอยากเห็นประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจ หันมาศึกษาดูเรื่องนโยบายของพรรคเป็นสำคัญ นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ตอบโจทย์ทุกข้อที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ เรื่องภาคเกษตร ทุกอย่างมีความชัดเจน ทุกอย่างต้องโตด้วยความเก่งไม่ใช่โตด้วยการพึ่งพา นโยบายของเราสะท้อนในสิ่งเหล่านั้น.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ชนบทมีความมั่งคั่ง หากพัฒนาถูกทาง ความยั่งยืนจะคืนมา
https://www.thaiquote.org/content/249035

“กาแฟถ้ำสิงห์” มีจุดเด่นเป็นโรบัสต้าตามสายพันธุ์คือ เข้ม หอม ไม่มีสิ่งปลอมปน
https://www.thaiquote.org/content/249652

เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร “สมุทรสงคราม” ด้วยนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม”
https://www.thaiquote.org/content/249530