ชนบทมีความมั่งคั่ง หากพัฒนาถูกทาง ความยั่งยืนจะคืนมา

by วันทนา อรรถสถาวร , 17 ธันวาคม 2565

ชนบทถือเป็นหัวใจหลักของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากมีกระจายอยู่ทั่วไป เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการพัฒนา หากเราสามารถพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง มีความยั่งยืน จะเป็นหนทางสู่การลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

 

 

อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมธรรมชาติ คลุกคลีอยู่กับวิถีชนบทมายาวนาน และมีส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหาชนบทในหลาย ๆ ด้านได้ให้โอกาส Thaiquote สัมภาษณ์พิเศษ เพื่อพูดถึงจุดแข็งจุดอ่อนของชนบท ตลอดจนแนวทางการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนดังรายละเอียดข้างล่างนี้

 

อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิ เกษตรกรรมธรรมชาติ

อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิ เกษตรกรรมธรรมชาติ

ชนบทไทยมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร

ชนบทไทยมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลกที่มีศักยภาพในการเลี้ยงคนและสัตว์ตลอดทุกฤดูกาล สภาพภูมิศาสตร์ของเรามีที่ดินอุดมสมบูรณ์ แม้ในภาคอีสานที่เป็นทุ่งกุลาร้องไห้ ในฤดูฝนก็ยังอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นภูมิประเทศร้อนชื้นทำให้สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่าจุลชีพมีอยู่อย่างมากมาย สามารถย่อยสลายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชโตเร็ว สัตว์โตเร็ว โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่ชายฝั่งน้ำ ถ้าเราหยุดทำลายทะเลแค่ 2-3 เดือนผลผลิตจะพุ่งขึ้นมาถึง 2-3 เท่าเช่นกัน บางชนิดเป็น 10 เท่า โดยสรุปก็คือพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งร้อนชื้นทำให้มนุษย์มีอาหารสมบูรณ์ที่สุด

จุดแข็งประการต่อมาของชนบทได้คือคนไทยมีวัฒนธรรมของการผลิต เรามีทักษะอุตสาหกรรมแปรรูปในครัวเรือน สามารถนำสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในท้องถิ่นมาปรุงเป็นอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อย นับได้ว่ามีทักษะในการปรุง เช่น ปลาร้า เป็นต้น

ประการต่อมาชนบทไทยมีวัฒนธรรมของความเป็นคนใจบุญสุนทาน มีวัฒนธรรมของการแบ่งปัน มีความเอื้อเฟื้อ แต่จากแผนการพัฒนาทำให้ชนบทล่มสลาย เกิดเป็นวิกฤตสังคม สิ่งแวดล้อม และโรคระบาด ทั้งจิตวิญญาณและภูมิศาสตร์ต่างถูกทำลายลง

 

 

จุดอ่อนของชนบทไทยอยู่ที่ไหน

สังคมที่ไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งในการป้องกันการรุกรานในทางสงคราม โดยเฉพาะสงครามทางด้านวัฒนธรรม ทำให้สังคมชนบทเกิดความอ่อนแอ ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตที่ผ่านมาวัดกับโรงเรียนอยู่ด้วยกัน แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยนให้โรงเรียนแยกตัวออกมาจากวัด วันหยุดที่เคยเป็นวันโกนกับวันพระ ก็กลายมาเป็นหยุดเสาร์ อาทิตย์ เป็นการทำลายวัฒนธรรมใจบุญสุนทานออกมาเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมของการแข่งขัน เอาเป็นเอาตาย ค่อย ๆ ทำลายวัฒนธรรมการให้ เพราะตามหลักของพุทธ การให้เป็นเรื่องใหญ่สุด เรื่องทานเป็นจุดแข็งชนบท ยิ่งปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้าไปรุกรานชนบทให้มีวัฒนธรรมกึ่งเมืองกึ่งชนบท สร้างความคิดเรื่องการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย เท่ากับเป็นการทำลายวัฒนธรรมแห่งการให้หรือทานลง กลายเป็นสงครามวัฒนธรรม มีการทำลายป่า ทำลายผืนดิน ทำให้เราเผชิญภัยพิบัติ ความแล้งในชนบท ป่าหมด ดินหมด น้ำหมด ดินเสื่อม พันธุกรรมของพืชอาหารก็หมดไป ความเจริญยุคใหม่วัดด้วยจีดีพี ไม่ได้วัดด้วยอาหารหรือคุณธรรม น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ป่าไม้

เราสามารถแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ได้หรือไม่

จากการพัฒนาที่ยึดการแข่งขันเป็นแกน สุดท้ายก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มั่งคั่ง มีทรัพยากร ที่ดินมากมาย จนคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกิน ปรัชญาทุนนิยมกำลังครอบคลุมโลก ทำให้คนรวยกระจุกตัว ส่งผลให้อาหารขาดแคลนทั้งโลก คนจนไม่มีอาหารจะกิน นำไปสู่การเกิดสงคราม

วิธีแก้คือการให้การศึกษา ซึ่งไม่ใช่แค่การศึกษาในระบบเท่านั้น ต้องให้การศึกษาทุกช่วง จัวหวะของชีวิต ทุกระบบ ทุกวัย ทุกวิธีการ ซึ่งในปัจจุบันโลกออนไลน์สามารถสนับสนุนได้ แต่จะดียิ่งกว่าคือการทำให้ดู ซึ่งปัจจุบันคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ โรคระบาด และการปฏิวัติเทคโนโลยี ได้หันกลับสู่ชนบทเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องสั่งสอนและถ่ายทอดต่อไปคือ การรักษาพันธุกรรมของอาหาร รักษาน้ำ อากาศ เพราะดินดี น้ำดี อากาศเหมาะสม จะไม่ทำให้คนอดอยาก สิ่งต่าง ๆ รอบตัวบ้านเราสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ สำคัญที่สุดคือให้การศึกษาที่ถูกต้อง พอคนมีสัมมาทิฏฐิ ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยาก สำคัญที่สุดอยู่ที่ใจ

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือคนไทยกันเองไม่สนับสนุนเชื่อถือกันเอง สำคัญที่สุดคือทำของเราให้เป็นสากล ปัจจุบันก็เห็นอยู่เรื่องที่เป็นบ้าน ๆ ต่างชาติมายอมจ่ายเงินคืนละเป็นหมื่นเพื่อได้นอนกับชาวบ้าน เพราะฉะนั้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างถูกต้องแม่นยำจึงเป็นเรื่องสำคัญแก้ปัญหาของเราได้

 

 

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของชนบทไทยคือเรื่องที่ทำกิน เราจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ที่ทำกินบ้านเรามีเหลือเฟือ เมื่อเทียบกับจำนวนคน แต่อย่าเอาอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การจัดการเรื่องที่ดินหากไว้ที่ส่วนกลาง เพราะจะปล่อยโอกาสให้กับเศรษฐีมากเกินไป เพราะเศรษฐีบางคนซื้อกันเป็นตำบล หมู่บ้าน เพราะฉะนั้นต้องจำกัด ที่ไหนมีคนอยู่มากห้ามซื้อแพง ต้องทำให้ถูกเพื่อให้คนจนไปอยู่ ถ้าต้องการให้สังคมสงบต้องลดความเหลื่อมล้ำ แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้นำเป็นแนวทางในการออกกฎหมายที่เป็นธรรม เกื้อกูลต่อคนที่มีฐานะที่ต่ำกว่าได้มีโอกาสในที่ทำกินที่เหมาะสม ในต่างประเทศเขามีกฎหมายนี้อย่างชัดเจน แต่บ้านเราไม่มีจึงเกิดปัญหาขึ้นอย่างมากมาย

ปัญหาเรื่องหนีสินที่พอกพูน ควรทำอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ถ้าจะเป็นหนี้ต้องควบคุมความเป็นหนี้ได้ หนี้เป็นอันตรายมาก ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเป็นหนี้ รัฐบาลชุดนี้ไปกู้มาจนเกินวินัยทางการเงิน แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือหนี้ภาคประชาชนหรือหนี้ครัวเรือนประมาณ 90% ของจีดีพี รุนแรงถึงขั้นเกษตรกรเสียที่ดินไปเป็น 100 ล้านไร่ ทุกวันนี้การสูญเสียที่ดินยังมีทุกวัน วันละประมาณ 100 แปลง บางคนเป็นหนี้ 3 ชั่วอายุคน วิธีในการแก้หนี้คือเริ่มต้นจากการนำแรงของตนเองไปแลก ในวัฒนธรรมการลงแขก ที่ไหนเขาต้องการเราก็ไปร่วมด้วย เป็นวัฒนธรรมของการให้ ก็จะทำให้คนอื่นกลับมาช่วยเราตอบแทน

 

 

วิธีการแก้หนี้ต้องเริ่มต้นจาก 1. การตั้งสติหยุดการกู้ให้ได้ก่อน ต้องไม่โลภจนเกินไป 2. ให้รวมตัวกันแล้วไปเจรจากับแหล่งนี้ ให้หาทางหยุดหนี้ที่มีโอกาสทำให้ขนาดของหนี้โตเร็วในลักษณะต้นทบดอก 3. ทำการสำรวจว่าทุนของเรามีอะไรบ้าง เช่น ร่างกายเรายังมีแรง แรงงานของเราไม่ต้องจ้าง 4. ความรู้ เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่นความรู้เรื่องการทำกุ้งแห้ง ความรู้พวกนี้มีอยู่มากมาย เพราะสะสมกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นทวด องค์ความรู้ ภูมิปัญญาเหล่านี้มีค่า แปลงเป็นทุนได้ แต่ที่สำคัญของมีวัฒนธรรมของการแจกจ่าย ในที่สุดคนจะมาซื้อเอง ทั้งหมดนี้มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมของความพอเพียง สุดท้ายก็สามารถปลดหนี้ได้ สำคัญที่สุดคือมีความรอบคอบ รอบรู้ ต้องรู้จักก่อหนี้ และใช้หนี้ให้เป็น อย่าไปรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ นักการเมือง ต้องรู้จักที่จะพึ่งตัวเองเป็นหลัก

อะไรคือความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงระหว่างเมืองกับชนบท แล้วมีแนวทางลดความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างไร

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสัมมาทิฏฐิ แนวคิดที่ว่าให้สร้างคนรวย แล้วความรวยจะล้นไปสู่ชนชั้นล่างนั้น ไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริง มีแต่การกระจุกตัวของคนรวยทั่วโลก คนรวยในประเทศไทยรวยมากขึ้นไปกว่า 10% ในขณะที่บางคนจนลง จนความจนนั้นกระจายไปอย่างกว้างขวางมาก ทั้งนี้เพราะทฤษฎีการพัฒนาประเทศมันผิด ไม่รู้จักพอ หยุดพอไม่ได้ คนรวยก็จะสะสมอาวุธ สร้างความได้เปรียบทางกฎหมายเพื่อให้ตัวเองรวยขึ้น ยิ่งทำให้จนหนักเข้าไปอีก สิ่งสำคัญต้องสร้างให้คนมีสัมมาทิฏฐิที่ดีก็ทำให้ทุกฝ่ายอยู่รอด ไม่ก่อให้เกิดสงคราม ควรส่งเสริมให้คนที่รวยมากกว่าได้อุ้มชูคนที่จนกว่า เพราะสังคมไม่สามารถสร้างให้คนรวบเท่ากันได้ เก่งเท่ากันได้ ดังนั้นเรื่องของการแบ่งปันจึงเป็นสิ่งสำคัญช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

 

 

เราควรทำอย่างไร เพื่อให้ชนบทมีพื้นฐานความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน

สิ่งสำคัญอยู่ที่ Mind Set หรือสัมมาทิฏฐิที่เชื่อว่าสิ่งที่พ่อแม่ บรรพบุรุษเราทำมานั้นดีอยู่แล้ว อย่าไปหลงเชื่อวัฒนธรรมแบบตะวันตก อย่าหลงเชื่อว่าชนชาติอื่นดีกว่าเรา พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ทิ้งมรดกด้านวัฒนธรรมที่มีคุณค่าไว้ให้เรา ฉะนั้นต้องนำมาสืบสาน อนุรักษ์ นำมาพัฒนาต่อ ต้องสร้างความสมดุลของการพัฒนาไม่ให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป การศึกษาต้องทำให้คนรู้จักอารยธรรมรากเหง้าของตัวเอง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มั่งคั่งและเป็นจุดยุทธศาสตร์ ทุกพื้นที่ของเรามั่งคั่งมากตั้งแต่ใต้ดิน พื้นน้ำ ป่า บนฟ้า สำคัญคือคนไทยต้องรู้คุณค่า ใช้และสร้างอย่างมีสติ และจริงจัง ทำให้ชนบทของเรากลับมามั่งคั่ง ยั่งยืน ได้อีกครั้งหนึ่ง.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

โอกาส SME สู่โมเดล BCG สร้าง eco system ใหม่ยกระดับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/248570

“คุณเจริญ รุจิราโสภณ” ผู้บุกเบิกธุรกิจด้วยหลักคิด ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน นำพา ส.ขอนแก่นขยายกิจการไปทั่วโลก
https://www.thaiquote.org/content/248887

วิสัยทัศน์ KBank มุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
https://www.thaiquote.org/content/248955