วิสัยทัศน์ KBank มุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

by วันทนา อรรถสถาวร , 10 ธันวาคม 2565

“กสิกรไทย” เป็นหนึ่งในธนาคารของไทยที่ออกมาประกาศจุดยืนเรื่องความยั่งยืน พร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ

 

 

Thaiquote ได้สัมภาษณ์คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับเป้าหมายความยั่งยืนของธนาคารและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เชิญติดตามได้เลย

 

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

 

เป้าหมายความยั่งยืนในอนาคตของ "กสิกรไทย" คืออะไร

ธนาคารมีความเชื่อว่า การทำธุรกิจบนหลักธนาคารแห่งความยั่งยืนจะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ธนาคารจึงนำแนวคิด “หลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน” เป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ KBank เพราะทุกอย่างที่ธนาคารทำ ธนาคารทำด้วย Purpose นี้ โดยธนาคารมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมี ESG เป็น Pillar สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อเสริมสร้างสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ มาตรฐานสากล และสร้างความยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business) ให้ยั่งยืนเช่นเดียวกัน

 

 

กสิกรไทยมีมาตรการอย่างไรที่เกี่ยวกับความยั่งยืนแล้วสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า พันธมิตร ตลอดจนผู้ร่วมทุนได้ให้ความไว้วางใจ

ธนาคารกสิกรไทยดำเนินการบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน ด้วยมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า พันธมิตร ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ด้วยการกำหนด นโยบาย (Policy) ที่คณะกรรมการธนาคารมีการทบทวนและปรับปรุง

 

เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ธนาคารประกาศไว้ การวางโครงสร้างองค์กร (Governance) ที่มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG ให้บรรลุตามนโยบายและเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม การวางกลยุทธ์ (Strategy) ด้วยการนำแนวคิดธนาคารแห่งความยั่งยืนเป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ และกำหนดให้การดำเนินงานด้าน ESG เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ K-Strategy

 

การกำหนดเป้าหมาย (Target) ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ที่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนผ่านบาลานซ์สกอร์การ์ด รวมทั้ง การประกาศความมุ่งมั่น (Commitment) มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ที่สะท้อนเจตนารมณ์แน่วแน่ของธนาคาร

นอกจากนี้ ด้านกระบวนการทำงาน (ESG Process) ธนาคารมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ครอบคลุมเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไปและเครดิตประเภทสินเชื่อโครงการ การเปิดเผยข้อมูล (Reporting) โดยใช้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลในระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่ 56-1 One Report ของกลต. GRI Standards Taskforce on Climate-related Disclosures – TCFD เป็นต้น และการประเมินผล (Benchmarking) โดยเปรียบเทียบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกับมาตรฐานระดับโลก เช่น DJSI, CDP, Bloomberg Gender Equality Index เป็นต้น

 

 

ธนาคารมีบทบาทอย่างไรต่อการสร้างความยั่งยืน

จากบริบทการดำเนินธุรกิจทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงมุ่งสู่วิถีแห่งความยั่งยืนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้บริโภคนำประเด็นความยั่งยืนมาประกอบการตัดสินใจ นักลงทุนใช้เกณฑ์ ESG ประกอบการพิจารณาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศออกมาตรการด้าน ESG ที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะทําให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) มาอย่างต่อเนื่อง จึงเล็งเห็นความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนและโอกาสต่อเศรษฐกิจไทย

 

ได้ประกาศ KBank ESG Strategy 2566 วางยุทธศาสตร์เรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ทั้งนี้ การที่ธนาคารเป็นต้นน้ำของระบบเศรษฐกิจ จึงถือเป็นภารกิจที่จะต้องทำเรื่องนี้ต่อไปให้มากขึ้น ด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น และขอชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะความยั่งยืนเป็นงานที่ไม่สิ้นสุดและทำคนเดียวไม่ได้ โดยธนาคารพร้อมจะเป็นผู้สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ผ่านการประสานศักยภาพทั้งด้านเทคโนโลยี พันธมิตร และความร่วมมือกับภาคส่วนสำคัญต่าง ๆ ใน Ecosystem เพื่อช่วยให้ลูกค้า สังคม และประเทศ เดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

 

 

ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียวออกมาเป็นจำนวนมาก จึงอยากทราบว่าสินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของท่านมีขอบข่ายการให้สินเชื่ออย่างไร ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

ธนาคารกสิกรไทยจัดโครงการรณรงค์เพื่อสนันสนุนสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อชวนคนไทยและภาคธุรกิจเข้าสู่การใช้ชีวิตแบบ Green Lifestyle ได้ง่ายขึ้น โดยจัดสินเชื่ออย่างครบครันพร้อมโปรโมชั่นพิเศษ โดยธนาคารได้นำเสนอสินเชื่อสีเขียวให้แก่ลูกค้าบุคคลธรรมดาและลูกค้าธุรกิจ ซึ่งดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งลดมลภาวะและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และยึดมั่นต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ

ธุรกิจหรือกิจการประเภทใดที่สามารถขอสินเชื่อดังกล่าว มีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร

ธนาคารกสิกรไทยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนธุรกิจสีเขียว ดังที่แสดงไว้ในตารางด้านล่าง และได้นำเกณฑ์สำหรับคำจำกัดความสินเชื่อสีเขียวจากหลักการว่าด้วยสินเชื่อสีเขียว (Green Loan Principles – GL) ที่สมาคมตลาดสินเชื่อ (LMA) เป็นผู้กำหนดมาปรับใช้

  

 

บริการสินเชื่อสีเขียวสำหรับธุรกิจ รายละเอียดและอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างไร และคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่จะสมัครขอสินเชื่อ

 บริการสินเชื่อสีเขียวสำหรับธุรกิจ
ธนาคารมีสินเชื่อพิเศษหลายผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการได้แก่ สินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงาน (โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟ) ซึ่งมีจุดเด่น 3 ประการคือ
(1) ใช้พลังงานสะอาดเพื่อประโยชน์ 2 ต่อ: ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้โดยการขายไฟฟ้าให้แก่รัฐบาล ทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
(2) ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 12 ปี: วงเงินสินเชื่อสูงสุด 100% ของวงเงินลงทุนของโครงการ รวมถึงค่าที่ปรึกษาและค่าดำเนินโครงการโดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ
(3) ลดการชำระคืนโดยไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด: รับประกันการประหยัดพลังงานโดยบริษัทที่เป็นมืออาชีพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถชำระคืนเงินกู้ได้โดยไม่เป็นภาระต่อกระแสเงินสด
 คุณสมบัติของธุรกิจที่จะขอสินเชื่อรับประกันการประหยัดพลังงาน (โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟ)
(1) ผู้ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือบริษัทที่ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่รัฐบาลและได้รับอัตราพิเศษในการซื้อและจัดหาไฟฟ้าที่โครงการผลิต
(2) โครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรับประกันผลการผลิตและการประหยัดไฟฟ้าโดยบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน
(3) โครงการลงทุนด้านโซลาร์เซลล์ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดค่าไฟฟ้าในธุรกิจของตนเองหรือการขายไฟฟ้าให้แก่โครงการของรัฐบาล
(4) โครงการที่มีการรับประกันการประหยัดพลังงานหรือการผลิตไฟฟ้าโดยบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงานที่ตรงตามเกณฑ์ของธนาคาร

 

 

สินเชื่อสีเขียวให้กับบุคคลธรรมดามีเกณฑ์การพิจารณามีอย่างไรบ้าง

ภายใต้โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม “Go Green Together” ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียวสำหรับลูกค้าประเภทบุคคลธรรมดา รวมทั้งผู้ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟสำหรับที่อยู่อาศัย หรือต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงานจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยทั่วไปจะมีเกณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 30 ปี และอายุของผู้กู้ไม่เกิน 70 ปี.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“คุณเจริญ รุจิราโสภณ” ผู้บุกเบิกธุรกิจด้วยหลักคิด ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน นำพา ส.ขอนแก่นขยายกิจการไปทั่วโลก
https://www.thaiquote.org/content/248887

ไทยได้อะไรจากการประชุม COP 27
https://www.thaiquote.org/content/248821

หนุน SME เข้าสู่ ESG และ SDG ลดต้นทุน สร้างโอกาสและแต้มต่อให้ SME ไทยในห่วงโซ่ความยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/248700