หนุน SME เข้าสู่ ESG และ SDG ลดต้นทุน สร้างโอกาสและแต้มต่อให้ SME ไทยในห่วงโซ่ความยั่งยืน

by วันทนา อรรถสถาวร , 12 พฤศจิกายน 2565

“สิ่งที่เป็นห่วงคือต้นทุนค่าประกอบการของเอสเอ็มอี และค่าครองชีพของประชาชน และกลุ่มแรงงานที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น”-แสงชัย ธีรกุลวาณิช-

 

 

สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น พลังของการขับเคลื่อนหลักที่หมุนให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ส่วนหนึ่งมาจากเอสเอ็มอีไทย Thaiquote จึงได้เชิญคุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย มาเล่าถึงสถานการณ์ของเอสเอ็มอีไทยหลังยุคโควิด และความพร้อมของ SME ไทยต่อห่วงโซ่ความยั่งยืน เมื่อสังคมโลกในยุคหน้าการดูแลโลกเป็นสิ่งจำเป็น

 

คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

 

สถานการณ์เอสเอ็มอีไทยหลังโควิด

คุณแสงชัยเล่าให้ฟังว่า สถานการณ์ของเอสเอ็มอีไทยทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะยังไม่ค่อยดีมากนัก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังดำรงอยู่ ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นไปอีก สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

แม้ว่าหลายประเทศเปิดประเทศให้มีการเดินทางติดต่อกันมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยวดีขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงคือต้นทุนค่าประกอบการของเอสเอ็มอี และค่าครองชีพของประชาชน และกลุ่มแรงงานที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยลบ แม้ว่าเศรษฐกิจจะดีกว่าช่วงโควิดแล้วก็ตาม โดยภาพรวมก็จะฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ

นอกจากนี้ปัญหาใหม่ที่เอสเอ็มอีไทยต้องเผชิญคือปัญหาหนี้เสีย สถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อนหน้านี้เป็นหนี้ดีมาโดยตลอดแล้วมาเสียช่วงโควิด กลุ่มเหล่านี้มีประมาณ 2.1 ล้านราย ในยอดนี้นอกเหนือจากเอสเอ็มอียังรวมถึงประชาชนทั่วไปอีกด้วย โดยมองว่าหากภาครัฐมีความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาหนี้กลุ่มนี้ เพื่อการฟื้นฟูให้สามารถกลับมาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ กลุ่มนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจำนวน 2.1 ล้านรายไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ

 

 

ด้านสถานการณ์การส่งออกของเอสเอ็มอีไทยยังไปได้ด้วยดี แต่จะมีผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาแพงมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับพลังงาน จะเห็นได้ว่าตัวเลข 6 เดือนที่ผ่านมา ดุลการค้าไทยติดลบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขติดลบส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกของไทยยังมีความเข้มแข็ง ในปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกโดยรวมประมาณ 8 ล้านล้านบาท คิดแล้วเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของ GDP

ยอดการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของ 8 ล้านล้านบาท ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในย่านอาเซียน ดุลการค้าของเอสเอ็มอีติดลบมาโดยตลอด เพราะต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า ในขณะที่รายใหญ่มีศักยภาพมากกว่าจึงทำให้สัดส่วนการส่งออกกว่า 88% เป็นของรายใหญ่

 

 

ผลกระทบด้าน ESG และ SDG

คุณแสงชัยบอกว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีความรู้เรื่อง ESG และSDG ดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง ส่วนกลุ่มที่เป็นไมโครซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดาจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือมองอีกด้านหนึ่งหากเป็นเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลจะมีความใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับ ESG มากกว่าเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดา และในอนาคตหากเอสเอ็มอีไทยไม่มีการปรับตัวก็จะได้รับผลกระทบเพราะอนาคต ESG จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และวิถีธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ climate change ภาวะเรือนกระจก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค จะเป็นโอกาสหากเราปรับตัวได้ และใช้ประโยชน์เป็น และจะเป็นอุปสรรค หากเราปรับตัวไม่ได้ ไม่สามารถนำพาธุรกิจของเราไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับเรื่องการเพาะปลูก และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถดูแลและจัดการได้โดยง่าย เราต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอี ภาคเอกชน และส่วนของราชการเข้าใจและช่วยกันขับเคลื่อนให้กระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สำหรับเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะมีความตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้ และดำเนินการมาเป็นอย่างดี

ส่วนเรื่องของธรรมาภิบาล เป็นปัญหาใหญ่ของทั้งเอสเอ็มอีไทยและทุกภาคส่วนของประเทศไทย เราต้องทำให้เรื่องธรรมาภิบาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นอีของคนไทย หากเราสามารถทำให้เกิดธรรมาภิบาลในวงกว้างก็จะทำให้สังคม ธุรกิจ และภาพรวมโดยทั่วไปสามารถพัฒนาไปอย่างยั่งยืน

การพูดถึงเรื่องของ ESG ยังหมายรวมถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ ประเทศไทยเราได้ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นสตรีมากขึ้น ความเท่าเทียมกันของแรงงาน ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยก็เข้ามามีบทบาทในการสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เช่น ดูแลแรงงานอย่างเท่าเทียม ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก เป็นต้น

 

การเชื่อมโยงห่วงโซ่ความยั่งยืนในระดับโลก

คุณแสงชัยเล่าให้ฟังว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในการนำเอาเรื่อง ESG เพื่อมาเป็นแต้มต่อให้ตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น คาร์บอนเครดิต ตนเองอยากให้ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้และสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยได้นำคาร์บอนเครดิตเป็นข้อได้เปรียบในการทำการค้ากับต่างประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้เข้าสู่มาตรการสากลของการส่งออก เป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกและเชื่อมโยงกับตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางเอสเอ็มอีไทยได้มีการปรับตัวเรื่องแรงงานไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย

นอกจากนี้เรื่องของพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของเอสเอ็มอีไทย ถ้าเรามองออกไปในระดับโลกจะเห็นว่าในยุโรปกว่า 70% เป็นพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสีเขียว ถ้าหากโครงสร้างพลังงานประเทศไทยกว่า 75% ยังเป็นพลังงานที่มาจากฟอสซิล สิ่งที่เราต้องดำเนินการคือรณรงค์ให้ชุมชนภาคประชาสังคมหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียวให้มากขึ้น ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น เพราะภูมิประเทศไทยมีแดดตลอดทั้งปี พลังต่อมาเป็นพลังงานที่ได้จากขยะ แต่จะต้องส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักคัดแยกขยะเป็นอย่างดีตั้งแต่ในระดับครัวเรือน และต้องมีกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบจากภาครัฐหรือองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำขยะเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน และยิ่งถ้าหากเกษตรกรและเอสเอ็มอีได้แต้มต่อจากการใช้พลังงานสีเขียว ก็จะส่งเสริมให้ต้นทุนการใช้พลังงานต่ำลง

 

 

ข้อเสนอแนะที่อยากจะเสนอต่อรัฐบาลคือการส่งเสริมภาคประชาสังคมให้มีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสีเขียวให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในวงกว้างด้วยการส่งเสริมด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำประมาณ 1-2% เพื่อเป็นการสับเปลี่ยนมาเป็นพลังงานสะอาด ในมิติของชุมชนส่งเสริมให้มีการจัดทำโซลาฟาร์มชุมชน จัดสรรให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณมาจัดตั้งโซลาฟาร์มชุมชนได้ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของพลังงาน ภาครัฐก็จะประหยัดค่าการผลิตไฟฟ้า ชุมชนก็ประหยัดค่าไฟฟ้า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ภาครัฐมีความสามารถที่จะทำได้เพียงแต่ว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“อายิโนะโมะโต๊ะ” ใช้เทคโนโลยีผลักดันสู่การเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนกับ 5 แนวทางลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
https://www.thaiquote.org/content/248637

โอกาส SME สู่โมเดล BCG สร้าง eco system ใหม่ยกระดับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/248570

CPF ชู 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่"
https://www.thaiquote.org/content/248482