CPF ชู 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่"

by วันทนา อรรถสถาวร , 22 ตุลาคม 2565

การดำเนินธุรกิจบนฐานของความยั่งยืน นอกจากจะเป็นแนวโน้มของการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างธุรกิจสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยกมาตรฐานขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

 

ปัจจุบัน ทุกกลุ่มธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก รวมทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก อย่าง"บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)" หรือ ซีพีเอฟ ได้ประกาศเป้าหมายและกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เป็นแผนปฏิบัติการ ในช่วงปี 2021 - 2030 (พ.ศ. 2564-2573) ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ

เว็บไซต์ "ThaiQuote" สัมภาษณ์ "คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ สะท้อนมุมมองและวิสัยทัศน์ ในการนำความยั่งยืน เป็นเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ

CPF ชู 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่"

คุณวุฒิชัย เริ่มต้นเล่าว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มีวิสัยทัศน์เป็น “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” และมุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารให้มนุษย์ ดังนั้น ความยั่งยืนจึงต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว ซึ่งในธุรกิจอาหารมีประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กร ทั้งความปลอดภัยของอาหาร คุณภาพในการผลิตอาหาร การดูแลห่วงโซ่อุปทาน ให้เกิดกระบวนการความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) รวมถึงการใช้นวัตกรรมมาบริหารจัดการกระบวนการทางธุรกิจ หรือกระบวนการผลิตทั้งหมด เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

 

คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ

คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ

 

บริษัทฯ นำกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน คือ "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่" เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการผลิตอาหาร และยึดปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มองประโยชน์ของประเทศ ประชาชน และบริษัทเป็นแนวปฏิบัติ

เสาหลักแรก ด้านอาหารมั่นคง ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ข้อมูลในเชิงการตลาดกับผู้บริโภค นโยบายสวัสดิภาพสัตว์ ด้านสังคมพึ่งตน บริษัทให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ความเคารพในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ในการดูแลพนักงานและแรงงาน การดูแลเกษตรกร รวมไปถึงการดูแลชุมชนโดยรอบพื้นที่ตั้งของสถานประกอบการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ด้านดิน น้ำ ป่า คงอยู่ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่เราให้ความสำคัญ เพราะธุรกิจอาหารแตกต่างจากธุรกิจอื่น คือ การทำธุรกิจอยู่บนฐานของทรัพยากร ดังนั้น การที่ธุรกิจต้องพึ่งพาทรัพยากร จึงต้องดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดด้วย เพื่อเป็นฐานการผลิต เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนและสามารถส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ มีการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการดูเรื่องซัพพลาย เชน เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพไปด้วยกัน ส่งเสริมคู่ค้าจัดหาอย่างรับผิดชอบต่อโลก และการจัดการขยะ เพื่อให้เกิดวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยเฉพาะการเกิดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งเรื่องการปลูกป่า การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนในธุรกิจอาหารของเรา

 



เป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เน้น "ลงมือทำ"

กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ พัฒนาจาก 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน (อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ ) มาสู่เป้าหมายและกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action กำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ ระหว่างปี 2021-2030 (พ.ศ. 2564-2573) ที่มีเป้าหมายชัดเจน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มองเป้าหมายไปที่ ปี 2030 เช่นเดียวกัน ซึ่งภายใต้เป้าหมายและกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ทำให้ซีพีเอฟสามารถตอบโจทย์เป้าหมาย SDGs ได้ครบทั้ง 17 ประการ พร้อมกันนี้ ซีพีเอฟยังเดินตามแนวนโยบายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย

หัวใจของกลยุทธ์ Sustainability in Action คือ การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็น "ทศวรรษแห่งการลงมือทำ" ของซีพีเอฟ ที่มุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหาร พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholder) รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน ในการสร้างความสำเร็จตามเป้าหมาย รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรทางสังคม เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนพร้อมกัน ในเป้าหมายเดียวกัน เพื่อสร้างพลังที่เป็นหนึ่งเดียว (Unity) ขับเคลื่อนในความยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษยชาติ

 

 

คุณวุฒิชัย ยังได้ยกตัวอย่างเป้าหมายการดำเนินงานในแต่ละด้านที่ถูกกำหนดไว้ชัดเจน ภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action อาทิ ด้านอาหารมั่นคง ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภคโดยร้อยละ 40 ของยอดขายต้องมาจากผลิตภัณฑ์สีเขียว (CPF Green Revenue) การเรียกคืนสินค้าเป็นศูนย์ การเข้าถึงผู้บริโภคจำนวน 35 ล้านรายต่อวัน ด้วยอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ดี รวมไปถึงด้านสวัสดิภาพสัตว์ ที่กำหนดว่าร้อยละ 100 ของฟาร์มสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องได้รับการเลี้ยงดูในระบบคอกขังรวม

ด้านสังคมพึ่งตน มีเป้าหมาย ดำเนินการสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมให้แก่พนักงานและคนในสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า จะมีความชัดเจนในเรื่องของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) คือ ร้อยละ100 มีการดำเนินการตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิ มนุษยชนอย่างรอบด้านในทุก 3 ปี ซึ่งรวมถึงการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงสูงของบริษัทที่อาจกระทบต่อเรื่องของสิทธิมนุษยชน

 

 

ด้านการบริหารทรัพยากรที่เป็นเลิศ มีเป้าหมายดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า อาทิ กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบและเผาให้เป็นศูนย์ การจัดหาอย่างรับผิดชอบต่อโลก โดยร้อยละ 100 ของวัตถุดิบหลักสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ร้อยละ 100 ของวัตถุดิบหลักมาจากพื้นที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ร้อยละ 100 ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุอาหารที่นำมาใช้ จะต้องสามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือ นำมาใช้ใหม่ หรือสามารถย่อยสลายได้ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ มีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟู พื้นที่ป่าต้นน้ำ ในโครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" ต.พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าไปแล้ว 6,971 ไร่ อนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟู พื้นที่ยุทธศาสตร์ป่าชายเลน ในโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” ซึ่งดำเนินการไปแล้วในจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร พังงา และสงขลา

ESG ยกมาตรฐานองค์กรสู่การยอมรับระดับสากล

นอกจากกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ที่ซีพีเอฟนำมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจแล้ว ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ยังให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์ฯสำหรับบจ. ทั้งเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ การส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานในเรื่องของ ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ

 

 

E: Environmental คือ การดูแลและรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี ไม่สร้างผลกระทบใดๆ และส่งเสริมการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม S: Social คือ การสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม ให้ประโยชน์ต่อสังคม ทำให้สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือในด้านสังคม ตามแนวทางและความสามารถของบริษัท และ G: Governance คือ ความโปร่งใส ดำเนินธุรกิจด้วย มีจริยธรรม สร้างผลประกอบการที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งการดำเนินการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ

ESG เป็นแนวทางเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทุกบริษัทในการทำธุรกิจ เป็นภูมิต้านทานที่ดี ช่วยลดโอกาสของความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัท นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้มีโอกาสประเมินด้านความยั่งยืน ผ่านดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลก เช่น DJSI (Dow Jones Sustainability Index ) ที่ประกอบด้วยเกณฑ์มาตรฐานระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ สะท้อนการดำเนินงานของบริษัท และนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

 

เดินหน้าดำเนินธุรกิจ ขานรับแนวทาง BCG Economy Model ของรัฐบาล

ภายใต้ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน คุณวุฒิชัย บอกว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับโมเดล BCG ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจโดยคำนึงถึงความหลากหลาย ทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และกระบวนการความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ

ในส่วนของซีพีเอฟเอง มีการพัฒนาหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ในกระบวนการผลิตที่ใส่ใจและคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาบำรุงพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี การใช้ประโยชน์จากโปรไบโอติกส์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งรวมถึงแนวคิดในกระบวนการของเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การใช้พลังงานทดแทนก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร การหมุนเวียนน้ำมาใช้ในธุรกิจเลี้ยงกุ้ง และการดำเนินโครงด้าน สิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเล ซึ่งนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ เปลี่ยนขยะเป็นของที่มีมูลค่าเพิ่ม คือ โครงการ CPF Restore the Ocean ร่วมพิทักษ์ทะเลโลก ที่เปิดตัวไป ตั้งแต่ ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

กระบวนการ BCG ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ทำทั้งในกระบวนการภายใน (In Process) และดำเนินการต่อเนื่องไปถึงผู้บริโภคด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เ ป็นการสนับสนุนแนวคิดทางด้าน BCG ที่จะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และเกิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

 

ผู้บริโภค ชุมชน ซัพพลาย เชน และพนักงาน ได้ประโยชน์

คุณวุฒิชัย ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า เรื่องของความยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นซีพีเอฟ หรือบริษัทต่างๆ องค์กรต่างๆ ที่ดำเนินการมา เกิดประโยชน์และผลกระทบในเชิงบวกทั้งสิ้นตามลักษณะของธุรกิจ

ในส่วนของซีพีเอฟเอง ดำเนินธุรกิจอาหาร “กระบวนการด้านความยั่งยืนตามแนวคิดของเรา คือ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่มนุษยชาติ ลดความเสี่ยงของการขาดแคลนอาหาร เป็นหลักประกันที่จะทำให้กระบวนการทางธุรกิจของบริษัท สามารถผลิตอาหาร ที่มีคุณภาพและโภชนาการที่ดี เลี้ยงคนทั้งโลกได้อย่างต่อเนื่อง”

ขณะเดียวกัน ความยั่งยืนทำให้เราแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดในเชิงของนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตสินค้าคุณภาพที่ดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีโภชนาการที่ดี ในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นี่ คือ ประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้บริโภคและประชาชนทุกคน ที่ได้ประโยชน์จากกระบวนการขับเคลื่อนความยั่งยืนของบริษัท รวมไปถึง ซัพพลาย เชน ที่จะได้ประโยชน์จากการได้พัฒนาตัวเองไปสู่การสร้างธุรกิจได้รับการยอมรับในมาตรฐานสากล และขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเองให้เกิดความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืน

ซีพีเอฟ ยังได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนตามหลักของความยั่งยืน นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ซึ่งนั่นก็คือ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์์ และภาพรวมของการจ้างงาน ก็ได้รับประโยชน์จากแนวทางความยั่งยืนของเรา นั่นหมายถึงว่า ซีพีเอฟจะดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิดหรือแนวปฎิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักประกันของการจ้างงาน การใช้ แรงงานตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นตัวอย่างของการดำเนินการและมีผลในเชิงบวกกับผู้มีส่วนได้เสียของเราทั้งหมด ในเรื่องของความยั่งยืน นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคง

ที่สำคัญ คือ บริษัทฯ ดูแลพนักงาน ส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาและเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับองค์กร และเติบโตไปกับองค์กร.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ESG 100” เครื่องหมายการันตีบริษัทมหาชน ก้าวสู่การบริหารที่ยั่งยืน เปิดโอกาสธุรกิจเชื่อมต่อทั่วโลก
https://www.thaiquote.org/content/248119

เอ็กโก กรุ๊ป เร่งขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติให้พร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน
https://www.thaiquote.org/content/248251

นำหมุดหมาย 17 ข้อด้านความยั่งยืน มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ-มหานครแห่งเอเชีย”
https://www.thaiquote.org/content/248179