นำหมุดหมาย 17 ข้อด้านความยั่งยืน มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ-มหานครแห่งเอเชีย”

by วันทนา อรรถสถาวร , 17 กันยายน 2565

กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในมหานครที่มีอัตตลักษณ์เป็นของตนเอง เป็นที่พึ่งพิงด้านแรงงานกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นจึงมีความซับซ้อนด้านประชาสังคม และสิ่งแวดล้อม แล้วการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ผ่านมุมมองผู้บริหารกทม.จะเป็นอย่างไร เพื่อให้ทัดเทียมกับมหานครใหญ่ ๆ ทั่วโลก

 

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ามาบริหารกรุงเทพฯ โดยมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือต้องการสร้างกรุงเทพฯเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งเรื่องการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals : SDGs-2030) ทั้ง 17 เป้าหมาย ตามประกาศของสหประชาชาติ

นายชัชชาติได้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์พิเศษของ Thaiquote โดยระบุว่ากรุงเทพมหานครมียุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งหมด 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

7 ยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืน สอดคล้องกับ SDGs

นายชัชชาติกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างเมืองปลอดภัยและหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ มีเป้าหมายการพัฒนาในปี ๒๕๘๐ คือการเป็น “มหานครหยุ่นตัวที่พร้อมรับกับวิกฤตการณ์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นสู่การเป็นเมืองที่ปลอดภัยของทุกคน และจัดการกับความปลอดภัยสาธารณะที่ครอบคลุมทุกมิติ” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย, ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายภายในปี 2580 คือการเป็น “มหานครแห่งความยั่งยืนเพื่อสุขภาวะที่ดีต่อทุกคน”

นายชัชชาติกล่าวว่า “ กทม.มีเป้าหมายของการยกระดับโภชนาการให้กับคนกลุ่มเปราะบางในชุมชน สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยให้กับทุกคน และมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ส่วนหัวข้อเรื่องระบบนิเวศบนบก เป้าหมายการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เป็นหมุดหมายสำคัญที่เราบรรลุแล้วจากความร่วมมือของภาคประชาสังคม”

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการบริหารเมืองรูปแบบอารยะสำหรับทุกคน กทม. มีเป้าหมายภายในปี 2580 คือ “การสร้างให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ดำเนินการกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสมสำหรับทุกกลุ่มในสังคม ปรับปรุงนโยบายไปสู่การสร้างคุณค่าและพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ส่วนเรื่องของการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของกทม. เราจะสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังรวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) เราต้องการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน” นาย จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวเสริม

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเชื่อมโยงเมืองที่มีความคล่องตัวและระบบบริการสาธารณะแบบบูรณาการ มีเป้าหมายภายในปี 2580 คือ “กรุงเทพมหานครเติบโตอย่างเป็นระเบียบตามผังเมืองรวม ส่งเสริมพัฒนาศูนย์ชุมชนย่อยในเมืองชั้นนอก เติบโตตามผังเมืองอย่างเต็มศักยภาพ เป็นเมืองที่มีรูปแบบการจัดการภูมิทัศน์เมืองอย่างยั่งยืน มีระบบขนส่งมวลชนทั่วถึง สะดวก ประหยัด การจราจรคล่องตัวและมีทางเลือก” พร้อมกับอธิบายต่อไปว่า

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการสร้างเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มีเป้าหมายภายในปี 2580 คือ “การบริหารจัดการเมืองภายใต้แนวคิด Open Government & Collaborative Governance เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการเมืองและขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาของเมืองด้วยข้อมูล” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Partnerships For The Goals) เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน


ยุทธศาสตร์ที่ 6 การต่อยอดความเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการเรียนรู้ มีเป้าหมายภายในปี 2580 คือการเป็น “เมืองหลวงของเอเชีย ในด้านเศรษฐกิจ ศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของเอเชีย รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้และการจัดประชุมและนิทรรศการที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ”

 

นาย จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.

นาย จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.

 

นายจักกพันธุ์กล่าวถึงยุทธศาสตร์ข้อสุดท้ายว่า “ยุทธศาสตร์ที่ 7 การสร้างความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการมหานคร มีเป้าหมายภายในปี 2580 คือ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในการบริหารไปสู่องค์กรที่เน้นความว่องไว คล่องตัว และขับเคลื่อนการทำงานด้วยนวัตกรรม (Agility and Innovation Culture) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น เป้าหมายที่ 16 สันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง (Peace Justice And Strong Institutions) ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดรับชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ” เป็นต้น

ยุทธศาสตร์กระจายเป็น 5 กลยุทธ์หลัก

นายชัชชาติกล่าวว่า นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานครไปสู่มหานครที่ยั่งยืนแล้ว ฝ่ายบริหารยังมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในแต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อให้เข้าแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนผ่านแนวทาง 5 P ประกอบด้วย

1. People คือ คนและสังคม
2. Prosperity คือ ความมั่งคั่งและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
3. Planet คือ สิ่งแวดล้อม
4. Peace สันติภาพและความสงบสุข
5. Partnershipหุ้นส่วนความร่วมมือ

 


นายชัชชาติขยายความกลยุทธ์ดังกล่าวออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติว่า “ขอยกตัวอย่าง เช่น จัดให้มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมทุกโรคของคนเมือง จัดให้มีระบบสุขภาพในทุกระดับได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเรามีโครงการการดูแลสุขภาพเชิงรุกถึงย่านที่อยู่อาศัย หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine นําร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย มีแผนเพิ่มคลินิกโรคคนเมือง ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง ผ่านการพัฒนา อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครเป็น Caregiver” พร้อมกับขยายความต่อไปว่า

กรุงเทพมหานครยังมีแผนจะส่งเสริมด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์ เพราะเราเชื่อว่าหัวใจของเมืองคือแหล่งของโอกาสด้านการจ้างงาน การค้า กทม.จึงจัดหาพื้นที่ทำการค้า โดยกรุงเทพมหานครประสานงานกับเอกชนและภาครัฐในพื้นที่ เพื่อจัดหาพื้นที่เช่าราคาประหยัดสำหรับผู้ค้าที่ต้องการพื้นที่ทำการค้าถาวร มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและบริการสีเขียวของกรุงเทพมหานครมีคุณภาพและมาตรฐาน ตามหลักสากล ผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีทักษะที่ดีในการประกอบอาชีพ และมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึง ผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานครมีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล ยังไม่รวมถึงเรื่องลดความล่อแหลม กลยุทธ์นี้ดำเนินการผ่านโครงการสำรวจและประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เพื่อปรับปรุงและลดความล่อแหลมของสภาพแวดล้อมต่อการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่ กทม. พร้อมกับ โครงการจัดหาพร้อมติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) พร้อมอุปกรณ์ประกอบ ตลอดจน จัดการความเสี่ยงของโครงสร้างและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนทั้งสิ้น”

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่าด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร โดยเรามีแนวทางดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและลดแหล่งกำเนิดมลพิษ ดูแลฟื้นฟูแหล่งน้ำ เน้นลดและควบคุมมูลฝอย แยกขยะระดับเขตครบวงจร ตรวจจับควันดำจากต้นตอ ปลูกต้นไม้ล้านต้นกรองฝุ่น สวนเดินได้ 15 นาที และเพิ่มการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้มีคุณภาพอากาศที่ได้มาตรฐาน

 

“นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีกลยุทธ์ที่โดดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ส่งเสริมให้ประชาสังคมของกทม. มีหุ้นส่วนความร่วมมือ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สร้างระบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณะ” นายจักกพันธุ์กล่าว

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายชัชชาติกล่าวถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกทม.ว่ามิติที่เกี่ยวข้องกับลดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นพันธะสัญญาร่วมกันระหว่างประชาคมโลกนั้น กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับองค์การ JICA ได้จัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 ซึ่งมีขอบเขตการดำเนินงานด้านการลดผลกระทบ ครอบคลุม 4 ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ภาคการจัดการขยะและบำบัดน้ำเสีย และภาคการวางผังเมืองสีเขียว รวมถึงการกำหนดแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 19 จากกรณีปกติ ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมุ่งสู่การเป็น “เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ตามวิสัยทัศน์ “กรุงเทพมหานครเมืองน่าอยู่ มุ่งพยายามในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีนวัตกรรมที่ยั่งยืน พร้อมรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ” ภายใน พ.ศ. 2593

สำนักสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น ดำเนินโครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society เพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการ/กิจกรรมภายใต้แผนแม่บทฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม “คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero)” เพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดจากการมีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานนำร่องในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การลดใช้พลังงานในอาคาร สำนักงาน และยานพาหนะของกรุงเทพมหานคร ปลูกต้นไม้ในพื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์เพื่อดูดซับคาร์บอน เป็นต้น

นายจักกพันธุ์กล่าวเสริมว่าโครงการ GREEN BANGKOK 2030 เป็นหนึ่งในโครงการที่โดดเด่นเพื่อสนับสนุนการลดภาวะเรือนกระจกผ่านการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ เพิ่มพื้นที่สีเขียว 10 ตารางเมตร/คน ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการได้ 7.58 ตารางเมตร/คน, เพิ่มพื้นที่สาธารณะ เข้าถึงได้ภายใน 5 นาที หรือระยะ 400 เมตร ภายในปี 2573 มากกว่าร้อยละ 50 ปัจจุบันดำเนินการได้ร้อยละ 13, เพิ่มพื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมือง ภายในปี 2573 มากกว่าร้อยละ 30 ปัจจุบันดำเนินการได้ร้อยละ 14

เป้าหมายการปรับคาร์บอนเป็นกลางให้กับมหานคร

นายชัชชาติกล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ร่วมกับเมืองโยโกฮามา โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐบาลญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมที่สนับสนุน ได้แก่ 1) การส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บท ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 เป็นการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน 2) การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน และ 3) การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก

 

กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายที่จะดำเนินการในเรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสำนักการโยธาได้จัดทำและเสนอโครงการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) อาคารสำนักการโยธาและอาคารสำนักการระบายน้ำ และกรุงเทพมหานครร่วมโครงการมอบไฟสู่การศึกษา มอบโซลาร์สู่โรงเรียน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้านครหลวง และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้ติดตั้งให้กับโรงเรียนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต เป็นโรงเรียนนำร่องในการประหยัดพลังงานด้วยการใช้พลังงานสะอาดจากแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้โรงเรียนวัดประชาระบือธรรมสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท และยังเป็นพลังงานที่สะอาดช่วยลดมลพิษด้วย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะได้บูรณาการการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมแก่บุคลากรและเยาวชนในสถานศึกษา และต่อยอดไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และโรงเรียนอื่น ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานครต่อไป.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชวนคิดใหญ่ แล้วเริ่มทำจากเล็กๆ และขยายผลให้ไว เพื่อพัฒนาเมืองยั่งยืน

https://www.thaiquote.org/content/248051

โปรตุเกสนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่เพื่ออนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

https://www.thaiquote.org/content/248086

เด็กอาชีวะสุดเจ๋ง! ชัชชาติ มอบรางวัลนวัตกรรมเยาวชน “เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัย”

https://www.thaiquote.org/content/248069