โอกาส SME สู่โมเดล BCG สร้าง eco system ใหม่ยกระดับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

by วันทนา อรรถสถาวร , 29 ตุลาคม 2565

“การออกสินเชื่อตัวนี้มาต้องการที่จะสร้าง eco system ให้คนได้ตระหนักถึงการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตรงจุดนี้ทำให้เปิดกว้างค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการค้า”-คุณชาตรี เวทสรณสุธี-

 

 

ปัจจุบันนี้ทุกฝ่ายหันมาพูดถึงระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ยืนอยู่บนฐานของ BCG แต่การจะไปสู่จุดนั้นได้ ต้องมีการปรับปรุงระบบกระบวนการผลิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เข้าสู่ BCG ได้ ส่งผลให้จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อปรับปรุง SME D Bank เข้าใจถึงปัญหา จึงออกสินเชื่อ BCG ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทย

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษคุณชาตรี เวทสรณสุธี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เกี่ยวกับสินเชื่อ BCG

 

คุณชาตรี เวทสรณสุธี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

คุณชาตรี เวทสรณสุธี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

 

คุณชาตรี บอกว่าสินเชื่อตัวนี้เริ่มต้นจากภาครัฐบาลต้องการให้เอกชนทำธุรกิจแล้วตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีนโยบายเกี่ยวกับ BCG ประกอบกับปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ดังนั้นรัฐบาลจึงประสงค์ที่จะชูนโยบาย BCG บนเวทีการประชุมด้วย

BCG เป็นเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยมีทั้งหมด 3 โมเดลประกอบด้วย

1. Biology เป็นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนาภาคการผลิต 2. Circular นำเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะที่เหลือจากการผลิต นำมาผลิตใหม่ หมุนเวียนใหม่ 3. Green จากค่าพลังงานที่แพงในรอบปีนี้ หลายธุรกิจ หลายโรงงาน ก็แสวงหาพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ต้นทุนพลังงานลดลง เช่น การติดโซล่ารูฟ

 

คุณชาตรี บอกว่าทางธนาคารได้ศึกษาโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้มีระยะหนึ่ง จนเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ออกโปรแกรมสินเชื่อ BCG Loan ประมาณ 1,000 ล้านบาท โปรแกรมนี้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการมาก ใช้เวลาแค่ 2 เดือนวงเงินก็หมด ส่งผลให้ทางธนาคารต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารเพื่อสนับสนุนสินเชื่อนี้อีก 10,000 ล้านบาท สินเชื่อตัวนี้ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG โดยตรง ตลอดจนการนำ BCG มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตัวเอง หรือครอบคลุมการดูแลไปจนถึงกลุ่มคู่ค้าที่ต้องการเข้าสู่โมเดล BCG เจตนาของธนาคารต้องการให้เกิดการรับรู้และใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างแพร่หลาย

 

 

“การออกสินเชื่อตัวนี้มาต้องการที่จะสร้าง eco system ให้คนได้ตระหนักถึงการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตรงจุดนี้ทำให้เปิดกว้างค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการค้า” คุณชาตรีกล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างว่า

ภาคการค้าที่เกี่ยวข้องจาก BCG หากร้านหนึ่งเป็นร้านโชห่วยขนาดใหญ่ อยู่ในต่างจังหวัด ต้องเปิดแอร์ต้อนรับลูกค้า ทำให้เสียค่าไฟในราคาที่แพง แล้วต้องการลดต้นทุนด้วยการติดโซล่าร์รูฟ ทางธนาคารก็จะให้สินเชื่อเพื่อไปติด หรือในกรณีที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีหลายโรงแรมที่ให้ความสนใจเรื่องลดค่าไฟ ก็ถือเป็นลูกค้าของธนาคาร ดังนั้นสินเชื่อตัวนี้ทางธนาคารค่อนข้างเปิดกว้าง หรือแม้กระทั่งทางโรงแรมทำแพคเก็จที่เกี่ยวข้องกับ BCG เช่นการปลูกต้นไม้ การรักษาแนวปะการังก็สามารถมาขอสินเชื่อเพื่อทำการสนับสนุนโครงการดังกล่าวได้ ธนาคารอยากฝากบอกผู้ประกอบการว่าเรื่อง BCG เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและโลกของเรา ช่วงแรกอาจเป็นเรื่องของอีเว้นท์ แต่ทางธนาคารอยากให้มองโครงการในระยะยาวไว้ด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวธุรกิจจริง ๆ

 

 

เกณฑ์การพิจารณาที่ธนาคารจะให้สินเชื่อ

คุณชาตรี บอกว่า เกณฑ์สำคัญประการแรกต้องพิจารณาว่าลูกค้าเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือไม่ ประการต่อมาเมื่อเข้าสู่ BCG Model แล้ว อาจจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากพันธมิตรธุรกิจจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ต้องทำธุรกิจแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งการพิจารณานิติบุคคลที่ 3 ปี ยังหมายรวมถึงประสบการณ์การทำธุรกิจดังกล่าวในฐานะของบุคคลธรรมดามาก่อนนี้ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่จะแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ตลอดจนปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทางธนาคารเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการที่อาจจะอ่อนแออยู่ ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์ของสินเชื่อตัวนี้ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการที่เป็น NPL ในอดีต สินเชื่อนี้เปิดกว้างให้สามารถเข้ามาร่วมได้

 

ความแตกต่างระหว่าง SME D Bank ที่ให้สินเชื่อ BCG เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่น

คุณชาตรี เล่าว่า แม้ว่ามีธนาคารพาณิชย์อื่นเปิดสินเชื่อในลักษณะนี้หลายแห่ง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ต้องมาช่วยกัน ความต่างมีอยู่ 2 มุม มุมแรกเป็นเรื่องของการพัฒนา ทั้งนี้เนื่องจาก SME D Bank เป็นสถาบันการเงินของรัฐ วัตถุประสงค์จึงไม่ใช่เพียงแค่ให้สินเชื่อเท่านั้น ทางธนาคารยังมีภารกิจที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้วย การเป็นนักพัฒนาของธนาคารจะเก่งด้านการเงิน แต่พอถึงขั้นตอนการให้คำแนะนำเชิงลึก ๆ บางเรื่อง ธนาคารจำเป็นต้องของความช่วยเหลือจากหน่วยงานพันธมิตร หน่วยงานพันธมิตรที่เข้ามาร่วมกับทางธนาคารมีอยู่หลายราย ตั้งแต่หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก สถาบันอาหาร ลูกค้าที่สนใจมาขอสินเชื่อจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เพราะพันธมิตรจะมีความสามารถช่วยกลั่นกรองผู้ประกอบการที่กำลังทำ BCG ให้เข้าสู่โปรแกรมของธนาคารได้ ถ้าหากลูกค้ายังอยู่ในช่วงเวลาของการพัฒนาหรือการยกระดับ หน่วยงานพวกนี้ก็จะกลับมาเป็นพี่เลี้ยงให้ ส่วนนี้คือมุมของการพัฒนาโดย SME D Bank มีโปรแกรม SME D โค้ช ซึ่งจะมีกูรูที่มีประสบการณ์ที่เคยทำ BCG ประสบความสำเร็จแล้วมาคอยเป็นพี่เลี้ยง เช่น บางโรงงานต้องการติดโซล่ารูฟ แล้วไม่รู้ว่าควรติดลักษณะไหน ก็จะมีทีมที่ปรึกษามาให้คำปรึกษา หรือวิธีการพัฒนาธุรกิจ BCG ตั้งแต่เริ่มต้นเลยต้องพัฒนาอย่างไรก็จะมีทีมเข้ามาให้คำปรึกษาเช่นกัน

 

คุณชาตรี ชี้แจงว่า จุดที่ต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจุดที่สองคือ โปรแกรมสินเชื่อไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะคนมาขอสินเชื่อ แต่มองไปถึงคู่ค้าของผู้ประกอบการด้วย ตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการไม่ได้ทำ BCG ตรงเสียทีเดียว แต่คู่ค้าทำกิจการที่ตรงมากกว่า ทาง SME D Bank ก็จะพิจารณาให้ เพราะธนาคารคาดว่าในอนาคตก็อาจจะต้องเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่นไปซื้อวัตถุดิบจากคนที่นำวัสดุเหลือทิ้งมาผลิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BCG ทางธนาคารก็จะให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการที่ไปซื้อวัตถุดิบนั้น เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากธนาคารมองการส่งเสริมในลักษณะที่เป็น eco system

นอกจากนี้การให้สินเชื่อในรอบนี้เป็นการให้ที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่มิติของการลงทุน เพราะบางครั้งการทำ BCG จะต้องใช้เม็ดเงินที่มาก เช่น ต้องการนำน้ำเสียมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ก็เปิดโอกาสมาใช้สินเชื่อตัวนี้ได้ หรือมี 1 โรงงานแล้ว และต้องการมาขยายอีกก็ขอสินเชื่อได้ อีกประการหนึ่งก็เป็นไปได้คือผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่นแล้วต้องการที่จะรีไฟแนนซ์กับทาง SME D Bank เพราะเห็นว่าไม่มีค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยถูกก็สามารถมาขอได้ สรุปแล้วก็คือไม่ว่าจะเป็นลงทุน ปรับปรุง หรือรีไฟแนนซ์สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด

ทางด้านรูปแบบของสินเชื่อมีหลายรูปแบบตั้งแต่ Fixed Loan สินเชื่อหมุนเวียน หรือสัญญาค้ำประกัน (LG) รวมถึงตัวหลักที่ได้มาจากทางกระทรวงการคลังคือเม็ดเงิน ปกติธนาคารจะดูแลลูกค้าไม่เกิน 15 ล้านบาท แต่สำหรับสินเชื่อตัวนี้สามารถเปิดเพดานได้ถึง 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีโปรแกรม BCG ในระดับกลางสามารถเข้าสู่วงเงินสินเชื่อนี้ได้

นอกจากนี้สินเชื่อยังส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นซัพพลายเชนให้กับรายใหญ่ที่ดำเนินการส่งออกไปทางยุโรป แล้วเขาต้องการ ESG ตลอดห่วงโซ่อุปทานก็สามารถมาขอสินเชื่อกับทางธนาคารได้

 

 

คุณสมบัติของคนที่มาขอสินเชื่อ

1. ธนาคารจะให้สินเชื่อกับผู้ที่อยู่ใน eco system โดยตรง เป็นผู้ประกอบการที่ลงมือทำโดยตรงกับอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่มีส่วนเข้าไปผลักดันให้เกิด BCG
2, ต้องได้รับการแนะนำมาจากสถาบันที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร
3. ทำธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสินเชื่อ BCG คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะสร้างแรงกดดันให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่สินเชื่อ BCG จะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ จึงออกแบบโปรแกรมให้ปลอดดอกเบี้ยใน 1 ปีแรก และมีอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้นอยู่ที่ 3.99% แต่จะต้องทำนิติกรรมสัญญาให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนธันวาคมนี้

เงื่อนไขต่อมาคือสามารถให้เม็ดเงินกู้สูงถึง 50 ล้านบาทเพื่อให้สามารถครอบคลุมการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เข้าสู่ BCG ทั้งกระบวนการ

 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญสำหรับสินเชื่อ BCG คือระยะเวลาการชำระเงินเปิดไว้ให้ถึง 12 ปี สาเหตุที่ให้เวลานานเพราะการลงทุนโครงการ BCG กว่าจะให้ผลตอบแทนคืนกลับมาต้องใช้เวลานาน และเปิดเงื่อนไขให้ทางผู้ประกอบการขอให้ธนาคารปลอดชำระเงินกู้ได้ถึง 2 ปี

นอกจากนี้หากทางผู้ประกอบการสามารถนำเสนอโครงการเพื่อขอกู้ให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีนี้ ทาง SME D Bank ก็จะปลอดการชำระค่าธรรมเนียมให้

“ส่วนสิทธิพิเศษของลูกค้าที่ใช้บริการเงินกู้ BCG ของธนาคาร SME D Bank คือโปรแกรมให้คำแนะนำ ฝึกอบรม ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย มีการทำเรื่องจับคู่ธุรกิจ” กล่าวในที่สุด

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

CPF ชู 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่"
https://www.thaiquote.org/content/248482

เอ็กโก กรุ๊ป เร่งขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติให้พร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน
https://www.thaiquote.org/content/248251

“เสริมสร้างพาวเวอร์” เติบโตตามเทรนด์สีเขียว บุกตลาดพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ
https://www.thaiquote.org/content/247644