“เสริมสร้างพาวเวอร์” เติบโตตามเทรนด์สีเขียว บุกตลาดพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ

by วันทนา อรรถสถาวร , 23 กรกฎาคม 2565

“เสริมสร้างพาวเวอร์” บริษัทพลังงานสะอาดสัญชาติไทย เติบโตต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพบุกตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เตรียมยึดหัวหาดอาเซียน

 

ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือแม้แต่พลังชีวมวล กำลังเป็นเทรนด์และเป็นที่เรียกร้องของประเทศต่าง ๆ เพื่อร่วมกันช่วยลดโลกร้อน และลดปัญหาด้านมลพิษ

Thaiquote ได้สัมภาษณ์คุณวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดสัญชาติไทยที่มีศักยภาพขยายทั้งในประเทศและประเทศต่าง ๆ ในย่านเอเชีย

 

 

ธุรกิจของเสริมสร้างพาวเวอร์มีกี่ประเภทอะไรบ้าง

SSP ทำธุรกิจพลังงานหลายรูปแบบ โดยกว้าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. โซล่าร์หรือพลังงานแสงอาทิตย์แบ่งเป็น 2 แบบ คือโซล่าร์ฟาร์มหรือโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ กับ โรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้านหรือหลังคาโรงงานต่าง ๆ หมวดที่ 2 เป็นกลุ่มของพลังงานลม มีอยู่ 25% เป็นพลังงานลมที่มุกดาหาร และยังมีในต่างประเทศคืออยู่ที่ประเทศเวียดนาม ส่วนธุรกิจในหมวดที่ 3 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

แต่ละประเภทมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด

ศักยภาพของพลังงานแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นพลังงานที่ง่ายที่สุดถ้าเทียบกับอีก 2 หมวด แต่พลังงานแสงอาทิตย์ก็จะใช้พื้นที่พอสมควร ใช้พื้นที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานในหมวดอื่น ๆ เมื่อเทียบกับต่อหน่วยพลังงานที่ผลิตได้ พลังงานแสงอาทิตย์จะใช้พื้นที่ที่มากกว่า พลังงานลมก็ใช้มาก แต่พลังงานลมเวลาใช้จะใช้พื้นที่เป็นจุด ๆ ไป ศักยภาพการผลิตต่อหน่วยพลังงานแสงอาทิตย์จะน้อยที่สุด แต่การจัดการจะง่ายที่สุด การลงทุนก็จะถูกกว่าพลังงานทางเลือกอีก 2 หมวด เหตุผลที่โซล่าให้พลังงานที่น้อยกว่า เพราะสามารถผลิตในเวลาตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น ในเวลาที่ไม่มีแสงแดดหรือแสงแดดไม่พอ การผลิตพลังงานก็ทำไม่ได้หรือได้ก็น้อย นอกจากนี้แต่ละประเทศก็มีศักยภาพในการให้พลังงานไม่เหมือนกัน และยังขึ้นอยู่กับฤดูกาลอีกด้วย

ตัวที่ให้พลังงานต่อหน่วยที่สูงขึ้นมาอีกคือลม สามารถผลิตได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ต้นทุนที่ผลิตก็จะสูงกว่าโซล่า ความไม่แน่นอนก็สูงกว่า ไม่ได้มาตลอดเวลา แต่เวลาลมมาเวลามาทีก็แรง และลมจะมีเป็นฤดูกาล ค่อนข้างตรงข้ามกับโซล่า คือช่วงที่ดีของลมก็อาจจะไม่ใช่ช่วงที่ดีของโซล่า สภาพเช่นนี้จะเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในแถบเอเชีย

ตัวที่สามารถผลิตพลังงานได้ตลอดคือชีวมวล ตราบใดที่เรามีวัตถุดิบใส่เข้าไป จำพวกวัสดุทางการเกษตร ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องรอว่ามีแดดหรือมีลมหรือไม่ แต่มีเรื่องของราคาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมา แม้ว่ามีมลภาวะออกมาแต่ก็น้อย เมื่อเทียบกับการผลิตพลังงานด้วยฟอสซิลประเภทอื่น ๆ เช่น ถ่านหิน สิ่งที่ใกล้กันกับการผลิตพลังชีวมวลคือ โรงงานผลิตพลังงานด้วยขยะ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีกฎเกณฑ์ว่าโรงไฟฟ้าประเภทนี้จะปล่อยมลพิษได้ไม่เกินขอบเขตที่กำหนดไว้

 

 

ประเภทของพลังงานที่ดำเนินการมากที่สุดของ SSP คืออะไร


SSP เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ 2012-13 ดำเนินการมาประมาณ 10 ปีแล้ว โครงการแรกคือโรงงานโซล่าที่ลพบุรี และเติบโตจากการทำธุรกิจพลังงานโซล่ามาโดยตลอด แต่บริษัทมีวิสัยทัศน์ว่า SSP ไม่ได้ทำธุรกิจแต่เพียงพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ณ.เวลานั้นเป็นช่วงของการทำพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า พลังงานลมและพลังงานชีวมวลเข้าถึงค่อนข้างยาก จาก 2015-2020 ธุรกิจดำเนินแต่โซล่า และเริ่มมีโครงการที่เป็นพลังงานลมเข้ามาเมื่อปลายปีที่แล้ว (2021) จากการพัฒนาโครงการเอง และมีการซื้อกิจการเพิ่มเติม เช่นเดียวกัน พลังงานชีวมวลก็เป็นการซื้อกิจการเข้ามา ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับโซล่าเหลือ 75-77%

ธุรกิจ 3 กลุ่มพลังงานนี้ กลุ่มไหนที่มีศักยภาพมากที่สุด

ทุกประเภทมีศักยภาพหมด ความต่างขึ้นอยู่กับสถานที่แต่ละประเทศที่เข้าไป เท่าที่ลงทุนมีบางประเทศที่ไปมีแต่โซล่าแล้วไม่มีลมก็มี เพราะกระแสลมไม่ได้มีทุกประเทศ ส่วนชีวมวลมีศักยภาพในทุกประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศมีวัตถุดิบตัวไหนที่จะส่งเสริมการทำพลังงานชีวมวลได้มากกว่า ทุกประเทศมีความแตกต่างกัน

แผนการลงทุนของ SSP เป็นอย่างไร

บริษัทเข้าตลาดปี 2017 ดำเนินธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว 5 ปี เริ่มเติบโตจากการทำพลังงานโซล่าในประเทศไทย แต่เรามองว่าการทำพลังงานทดแทนไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่ในประเทศไทย เพราะเป็นกิจการที่ทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรไปทำยังประเทศที่น่าลงทุน เพราะโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานทดแทนล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนด้วยนโยบายภาครัฐ ถ้านโยบายของภาครัฐไม่ชัดเจน ก็จะไม่เกิดโรงงานพลังไฟฟ้าทางเลือกเกิดขึ้น ตอนเข้าตลาดใหม่ บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 40 เมกต์ จึงต้องใช้ความพยายามในการหาการเติบโตที่เหมาะสมกับขนาดของบริษัท เพื่อให้เติบโตไปอย่างยั่งยืนได้ การเติบโตไม่ใช่การเติบโตที่ใหญ่เกินตัว การเข้ามาเพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อหาทุนในการสนับสนุนให้เราเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ และอำนาจการจัดการส่วนใหญ่ยังเป็นของเราอยู่ เราตั้งเป้าว่าทำอย่างไรที่จะเต็มการเติบโตนี้ บนพื้นฐานที่ว่าบริษัทสามารถเดินหน้าไปได้ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรา

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้เรามองว่า ณ เวลานั้นนโยบายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในประเทศยังไม่ชัดเจน จึงหันไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นที่มาของการไปลงทุนในญี่ปุ่น ตามมาด้วยมองโกเลีย เวียดนาม อินโดนีเซีย

 

 

ในกลุ่มประเทศทางเอเชีย มีประเทศไหนที่ยังมีศักยภาพและ SSP สามารถขยายต่อไปได้อีก

ทุกประเทศมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน เช่นในอาเซียนด้วยกันนี้ เมียนมาก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก ในโซนอาเซียนด้วยกันการผลิตพลังงานโซล่าดีหมด สปป.ลาวก็มีน้ำมาก เวียดนามาก็มีศักยภาพด้านลมและโซล่าที่ดีมาก ส่วนมาเลเซียเองก็มีศักยภาพของโซล่า ก๊าซ ปาล์ม ไบโอแมส อินโดนีเซียพลังงานด้านโซล่าทำได้ และยังมีลมในบางพื้นที่ พลังงานใต้ภิภพก็มี ฟิลิปปินส์ก็มีพลังงานลมและโซล่า ชีวมวล หรือในกรณีของญี่ปุ่นค่าแสงเข้าน้อยกว่าเรา แต่ศักยภาพเขามากกว่าเรา แต่ละประเทศก็จะมีประเภทของพลังงานมากน้อยที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ตลอดจนกฎหมายของแต่ละประเทศจะสนับสนุนประเภทไหน และไม่อนุญาตประเภทไหน โครงการจะเกิดในท้องถิ่นต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกันไป

ทิศทางการลงทุนอีก 5 ปีข้างหน้าของ SSP เป็นอย่างไร

ตอนนี้โครงการที่อยู่ในแผนก็มีที่ญี่ปุ่นยังเหลืออีก 1 โครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 ส่วนในอินโดนีเซียก็มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน และมีการขยายกันอย่างต่อเนื่อง พลังงานทดแทนที่เวียดนามก็เป็นตลาดที่ SSP คุ้นเคยแล้ว ก็พร้อมที่จะขยายกรอบการลงทุนที่เวียดนาม ส่วนในเมืองไทยก็จะมีการลงทุนในส่วนของขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม หรือแม้แต่พลังงานทดแทน ทาง SSP ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วม

 

 

ทางบริษัทมีนโยบายด้านความยั่งยืนอย่างไร

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ SSP จะไม่ทำโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เพราะได้มีการตกลงไว้กับธนาคารที่ขอสินเชื่อไว้ ซึ่งธนาคารเหล่านี้เป็นธนาคารระหว่างประเทศ เราเองก็จะไม่ทำสิ่งใดที่ก่อให้เกิดโลกร้อน บริษัทถือเป็นหน่วยผลิตพลังงานสะอาดทั้งหมด และทาง SSP ก็จะเดินหน้าในการลงทุนธุรกิจประเภทนี้ต่อไป บวกกับว่าทางบริษัทก็มีนโยบายที่จะลงทุนธุรกิจในประเภทนี้ และแตกย่อยไปยังสาขาอื่น เช่น ที่เกี่ยวข้องกับ EV และซัพพลายเชนต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทกำลังศึกษาว่าจะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้มากน้อยแค่ไหน ส่วนของ SSP มีเงินทุนเพียงพอที่จะขยับขยายไปสู่การลงทุนในประเภทดังกล่าวได้

นอกจากนี้ทางบริษัทก็ยังมองไปถึงสุขภาวะที่ดีของสังคม (Wellness) มองถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ eco-System ที่กำลังดำเนินการอยู่

 

 

การดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทาง SSP ได้วางแนวทางไว้อย่างไร

จริง ๆ บริษัทก็อยู่ในธีมของ ESG เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของสังคม และธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม ธุรกิจของบริษัทก็อยู่ในหมวดนี้อยู่แล้ว สิ่งที่บริษัทจะทำคือพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก เรื่องของสังคมคือการจัดตั้งโรงงานในแต่ละพื้นที่ ก็มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะจ้างงานคนในท้องถิ่นมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศที่ไปลงทุน ตัวอย่างเช่นโรงงานที่เวียดนาม มีพนักงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นคนไทยอยู่ 10 คน ส่วนที่เหลือเป็นการจ้างงานจากคนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนกิจการ มีการส่งผ่านด้านความรู้ไปยังคนท้องถิ่น ในประเทศไทยที่ไปทำพลังงานแสงอาทิตย์บนผืนน้ำ ก็มีการทำทางระบายน้ำที่ดี ตัวอย่างเช่นลพบุรี โรงงานของ SSP อยู่บนทางน้ำไหลผ่าน ไม่ใช้ทางน้ำท่วม มีการขุดลอกคลองธรรมชาติ สิ่งนี้ทำเพื่อชุมชน มีการกักเก็บน้ำทั้งหน้าแล้งหรือหน้าฝน มีชาวบ้านที่ทำเกษตรกรรมใกล้กับพื้นที่ผลิตพลังงานของ SSP ช่วงหน้าแล้งชาวบ้านต้องการน้ำ เขาขอน้ำจากเรา เราก็ให้ ช่วงที่ฝนมาก เขาต้องการให้เราช่วยรับน้ำไปบ้างไหม เราก็ทำให้ มีการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโรงงเรียนต่าง ๆ ในลพบุรี และส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำงานของเรา หรือที่มองโกเลียเอง SSP ก็มีคนท้องถิ่นในการทำงาน และมีการส่งเสริมให้คนท้องถิ่นมาดูงานในประเทศไทยหรือญี่ปุ่น แต่เนื่องจากติดเรื่องโควิด ทำให้หลายโครงการด้านการสร้างสรรค์ของเราทำงานไม่เต็มที่

ส่วนเรื่องธรรมาภิบาลก็เป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายบริหารของ SSP ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แม้ว่าธุรกิจนี้หุ้นส่วนใหญ่เป็นของครอบครัว แต่ด้านการบริหารจัดการดำเนินการในฐานะของมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญ มองถึงกำไรที่ดีที่สุดให้กับนักลงทุน ประธานกรรมการก็ไม่ใช่คนของครอบครัว และคณะกรรมการบริหารหรือการจัดการในอีกหลายโครงการก็ไม่ใช่เรื่องของครอบครัว มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะทำเอาผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่คณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของการต่อต้านคอรัปชั่น ทั้งหมดนี้คือแนวทางการบริหารของ SSP

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

ไทยพบฝีดาษลิงรายแรกแล้ว ศึกษาโรคนี้มีอาการอย่างไร ติดต่อทางไหนได้บ้าง
https://www.thaiquote.org/content/247628

ไม่แพ้ใครในโลก! นักวิจัยไทยพัฒนาPlaque - Guard: ขนมสุนัขเสริมโพรไบโอติก ป้องกันปัญหาสุขภาพทางช่องปาก
https://www.thaiquote.org/content/247633

“มณีแดง” ยาอายุวัฒนะฝีมือคนไทย หวังย้อนเซลล์ชราคนอายุ 75 เยาว์วัยเหมือน 25 ปี
https://www.thaiquote.org/content/247541