“คุณเจริญ รุจิราโสภณ” ผู้บุกเบิกธุรกิจด้วยหลักคิด ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน นำพา ส.ขอนแก่นขยายกิจการไปทั่วโลก

by วันทนา อรรถสถาวร , 3 ธันวาคม 2565

ในปีนี้ มูลนิธิสัมมาชีพ ได้จัดงานมอบรางวัล "ต้นแบบสัมมาชีพ" ครั้งที่ 8 ประจำปี 2565 ให้แก่ คุณเจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ และบริษัทในกลุ่ม ในฐานะเป็นบุคคลที่สร้างธุรกิจด้วยตนเอง ได้รับการยอมรับจากสังคมในการประกอบอาชีพสุจริตดำเนินธุรกิจตามหลักสัมมาชีพ ยึดหลักการทำธุรกิจบนความถูกต้องดีงาม ไม่เอาเปรียบผู้อื่น

 

 

"คุณเจริญนับเป็นบุคคลที่น่ายกย่อง เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นตัวอย่างของการสู้ชีวิต ก่อร่าง สร้างตัว ด้วยการยึดหลักสัมมาชีพ ทำธุรกิจโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เอาเปรียบสังคม ร่วมมือกับท้องถิ่น ชุมชน จนประสบความสำเร็จ นำพาบริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาเป็นบริษัทด้านอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำอันดับต้น ๆ ของประเทศ นี่คือบทบาทของบุคคลต้นแบบสัมมาชีพที่เติบโตไปพร้อมกับท้องถิ่น ชุมชน และประเทศ" นายประเสริฐบุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวชื่นชมในขณะที่มอบรางวัลบุคคลสัมมาชีพดีเด่นประจำปีนี้

 

 

ปัจจุบัน บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์รายใหญ่ของไทย ที่ประสบความสำเร็จด้านบริหารจัดการ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผลการดำเนินงานในงวดครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น1,519 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ใช้แบรนด์สินค้าภายใต้ชื่อ ส.ขอนแก่น

Thaiquote ได้สัมภาษณ์พิเศษคุณเจริญ รุจิราโสภณกับความเป็นมา และแนวคิดการดำเนินธุรกิจ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นบริษัทอาหารชั้นนำที่มีฐานการผลิตไปทั่วโลก

ก่อนที่จะมาสร้างอาณาจักร ส.ขอนแก่นนั้น คุณเจริญเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเครือซีพี เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจอาหารคนให้กับทางเครือซีพี เป็นคนบุกเบิกธุรกิจไส้กรอก หมูแฮม ครั้นพออายุเกือบ 40 ปี ก็คิดที่จะออกมาตั้งตัว

คุณเจริญบอกว่าการตั้งตัวนั้นต้องดูความพร้อมของเรา ว่าเรามีอะไรบ้าง เช่น มีเงินทุนเท่าไหร่ มีบ้านช่อง รถยนต์ โกดังหรือไม่ เพื่อเป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ แต่สำหรับผมไม่มีอะไร ทุนก็คือประสบการณ์ ทรัพย์สินคือ หนึ่งสมอง สองมือ เริ่มต้นจากเงินฝากอยู่ประมาณ 3 แสนบาท

 

 

ส่วนการเลือกสินค้าขึ้นมาดำเนินธุรกิจนั้นต้องดูว่าปัจจัยความพร้อมของเรามีแค่ไหน ของเราตอนเริ่มต้นทุนน้อยหรือเรียกได้ว่าไม่มีทุน เราจึงทำตามขีดจำกัดเท่าที่ทุนจะเอื้อเราได้ แต่ถ้าเราเลือกได้ เราจะเลือกธุรกิจที่มีอนาคต เติบโตในวันข้างหน้าได้ เราจะเริ่มจากธุรกิจท้องถิ่น เติบโตไปสู่ธุรกิจระดับโลก ฉะนั้นเราก็มองว่ามีสินค้าอะไรที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้

 

“อีกหลักคิดหนึ่ง เมืองไทยเป็นเมืองที่ฟ้าประทาน ดินดำน้ำชุ่ม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สิ่งเหล่านี้คือโอกาสในการทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม”

 

ถ้าไปทำธุรกิจที่ผิดกับศักยภาพของประเทศ เราก็จะได้ผลผลิตที่แตกต่างไป ตัวอย่างเช่น ทุเรียนที่สร้างยอดขายมากมายให้ประเทศนั้น ปลูกในประเทศไทยจะได้รสชาติอร่อย แต่ถ้าปลูกในประเทศอื่น รสชาติจะต่างไป เพราะมีดินที่ไม่เหมือนเมืองไทย ฉะนั้นธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรจึงเติบโตมีรายได้หลักแสนล้าน ทางส.ขอนแก่นก็ทำธุรกิจอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรเช่นกัน

ส.ขอนแก่นเป็นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่ทำจากปลายน้ำย้อนไปสู่ต้นน้ำ เพราะว่าบริษัทไม่มีทุนจึงทำส่วนที่สำเร็จรูปก่อน พอประสบความสำเร็จก็ขยายจากปลายน้ำไปสู่ต้นน้ำ เป็นวิสัยที่เราจะทำได้

ในระยะแรกมีปัญหาเรื่องบุคลากร เพราะยังเป็นบริษัทเล็ก คนเก่งเขาจะเลือกบริษัทที่มีชื่อเสียง เพราะการแข่งขันธุรกิจนั้น ความสำคัญอยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่ทุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เราต้องทำงานมากกว่าคนอื่น คนอื่นว่ายตามน้ำ แต่เราต้องว่ายทวนน้ำ แต่ก็ถึงจุดหมายปลายทางเดียวกัน

จุดแข็งของส.ขอนแก่น

การทำธุรกิจต้องมีวิสัยทัศน์ด้วย การทำธุรกิจต้องมองออกไปว่าเราจะโตได้อย่างไร เหตุผลที่เลือกการทำหมูหยอง กุนเชียง แต่ผมมีแนวคิดว่าเมื่อเราเริ่มขายหมูหยองได้ และเมื่อขายได้มาก ๆ ก็ไปทำฟาร์มเลี้ยงหมู ทำอาหารสัตว์ และสามารถพัฒนาไปสู่ตลาดส่งออกได้ในที่สุด

 

 

ในระยะเริ่มแรกที่ขายหมูหยอง กุนเชียง คนที่กินคือคนที่ไม่ค่อยมีเงิน คนมีเงินไม่กิน เพราะเขามองว่าเป็นสินค้าแบกะดินไม่สะอาด ไม่กล้ากิน แต่สำหรับส.ขอนแก่นปรับภาพใหม่หมด ต้องทำให้คนมีสตางค์กล้ากิน จึงได้ยกระดับมาตรฐานสินค้า ยกคุณภาพสินค้าให้คนมีอันจะกินเชื่อ เราเริ่มจากกลุ่มระดับสูงก่อน ค่อยมาระดับกลาง ระดับล่าง จากเล็กไปหาใหญ่ จากแคบไปหากว้าง หมายความว่าส.ขอนแก่นทำการตลาดจนโดดเด่นในประเทศไทย แล้วก้าวไปสู่เอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกาในที่สุด

ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำส.ขอนแก่นนั้น ผมมีความเชื่อว่าเมืองไทยถ้าทำดี ๆ เรามีลูกค้ากว่า 67 ล้านคน แต่คนที่ชอบกินหมูหยอง กุนเชียง พันกว่าล้านคนอยู่ในเมืองจีน ประกอบกับคนจีนมีอยู่ทั่วโลก ในวันนี้ ส.ขอนแก่นได้เริ่มไปตั้งฐานในประเทศจีนแล้ว

 

“เราต้องมีวิสัยทัศน์ มองว่าใช่ ทำถูกวิธี แล้วมันจะโต”

 

หลักการทำงานของผม ผมให้ความสำคัญกับคน คนที่มาร่วมงานกับเรา เราต้องดูแลเขา ทุกวันนี้พนักงานระดับแผนกขึ้นไปสามารถรักษาที่บำรุงราษฎร์ได้ เราดูแลให้เพราะมีประกันสุขภาพที่ดี ถ้าคนมีกำลังใจในการทำงาน มีความสุขกับงาน ผลงานก็ออกมาดี ทุกวันนี้เราโตด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ

“คนเก่งมี 2 ประเภท ประเภทที่เก่งอยู่แล้วมาทำงานให้เรา ก็ทำให้เราไปได้เร็ว กับอีกประเภทหนึ่งเราต้องสร้างคนเก่ง ส่งเสริมคนเก่ง

หลักปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ

 

“เป็นเรื่องพื้นฐานมาก เราต้องมีความซื่อสัตย์ก่อน ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ซื่อสัตย์ต่อผู้มีส่วนได้เสียในกิจการของเรา ต่อมาคือความขยัน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถ้าเราต้องการความสำเร็จ เราต้องทำงานมากกว่าคนอื่น ประเด็นต่อมาคือความอดทน หนทางไปสู่ความสำเร็จนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หนทางเต็มไปด้วยกรวดหิน ดังนั้นต้องขยัน อดทนฝันก็เป็นจริงได้”

 

เป้าหมายในอนาคต

ในวันนี้ผมทำเพื่อบริษัท จากนี้ไปผมทำเพื่อประเทศชาติ ผมต้องการนำอาหารไทยไปสู่ครัวโลก เพราะอาหารไทยไม่มีใครไม่ชอบ ทุกชาตินิยมชมชอบ แต่หากินไม่ค่อยจะได้ ไม่ค่อยมีคนนำไปวางขาย และที่วางขายก็ไม่อร่อย ผมต้องแก้ปัญหาว่าสิ่งที่ผมทำต้องอร่อย และนำไปขายถึงบ้านเขาให้ได้ นี่คือสาเหตุที่ขยายธุรกิจไปทั่วโลก สิ่งที่ได้คือบริษัทได้เงิน ประเทศชาติได้ชื่อเสียง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย วันนี้ผมทำเพื่อประเทศชาติ กำไรของผมพอแล้ว ขณะนี้ส.ขอนแก่นตั้งฐานผลิตไปทั่วโลก ที่ยุโรปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ อเมริกามีบริษัทอยู่ที่นิวยอร์ก ในเมืองจีนมีบริษัทที่กวางเจา ฮ่องกงก็มีบริษัท และยังมีอีกหลายแห่งที่มีฐานการผลิต เราจะทำธุรกิจอาหารที่เรามีความถนัด มีอาหารไทยเป็นตัวยืน อาหารพร้อมรับประทาน

 

 

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะทำธุรกิจต้องมีข้อมูล ต้องผลิตสินค้าที่ขายได้ อย่าขายสินค้าที่ผลิตได้ ตัวอย่างเช่น สินค้าชุมชนส่วนใหญ่ผลิตจากสินค้าที่ปู่ย่าตายายถ่ายทอดมา แต่วัตถุประสงค์และดีไซน์ในการใช้งานไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่เป็นแบบเดิม ๆ ในขณะที่ทุกนาทีโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โลกเปลี่ยน เราต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ การผลิตออกมาแล้วหาตลาดไม่ได้ ทำให้เราเสียเวลากับมัน ถ้าตลาดต้องการเราก็ต้องตอบสนองต่อตลาด แต่รายเล็กต้องรวมกันแล้วเราจะแข็งแรง เราต้องผลักดันให้รัฐมีส่วนเชื่อมระหว่างคนที่มีทุน มีตลาดมาฉุดผู้ที่ด้อยโอกาส ผลิตเป็นแต่ขายไม่เป็น ถ้ารัฐนำจุดนี้มาแก้จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด เอกชนที่มีศักยภาพไม่ควรไปแย่งอาชีพเกษตรกรทำงาน แต่ควรช่วยเหลือด้านการตลาด การหาลูกค้า ป้อนความต้องการของลูกค้าให้เกษตรกรสามารถผลิตได้ตรงกับความต้องการน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

หนุน SME เข้าสู่ ESG และ SDG ลดต้นทุน สร้างโอกาสและแต้มต่อให้ SME ไทยในห่วงโซ่ความยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/248700

“อายิโนะโมะโต๊ะ” ใช้เทคโนโลยีผลักดันสู่การเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนกับ 5 แนวทางลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
https://www.thaiquote.org/content/248637

CPF ชู 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่"
https://www.thaiquote.org/content/248482