“สุริยา ศิริวงษ์” ผู้สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรผู้ผลิตมังคุด ให้พ้นจากปัญหามังคุดล้นตลาด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

by ThaiQuote, 4 กุมภาพันธ์ 2566

แม้ว่ามังคุดจะได้รับสมญานามว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ ได้รับการยอมรับเรื่องความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ชนิดนี้ แต่มังคุดก็มีปัญหาไม่แตกต่างจากผลไม้ชนิดอื่นคือ เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาด ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากเรื่อยมา

 

 

มังคุดเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ อีกชนิดหนึ่งของตำบลลำเลียง มีพื้นที่ปลูก 1,178 ไร่ เกษตรกรจำนวน 520 ครัวเรือน ผลผลิตเฉลี่ย 700 ตันต่อปี แต่จากปัญหาผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ เกรดส่งออกมีน้อย ทำให้เกษตรกรรายได้ตกต่ำ

จากปัญหาดังกล่าวคุณสุริยา ศิริวงษ์ จึงมีความคิดที่จะรวมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ เพื่อช่วยกันพัฒนาพันธุ์ คัดแยกมังคุด เพื่อการส่งออก ขายในประเทศ และส่วนที่เหลือนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มังคุด ซึ่งปัจจุบันมีมังคุดกวน น้ำมังคุด มังคุดแช่อิ่ม ตัวล่าสุดที่พัฒนาคือเจลลี่มังคุด ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและแก้ไขปัญหาล้นตลาด

 

สุริยา ศิริวงษ์

สุริยา ศิริวงษ์

 

โดยปัจจุบันนี้ ทางกลุ่มมีสมาชิกมังคุดแปลงใหญ่ 53 ราย และ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน 240 ครอบครัว มีการต่อตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี 2546 และจดทะเบียน วิสาหกิจชุมชนในปี 2550 ร่วมกันผลิต จำหน่าย และคัดเกรดมังคุดให้กับพ่อค้ามาประมูลนำไปขาย แบ่งสัดส่วนขายในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 50:50

สำหรับปัญหาใหญ่ของชาวสวนมังคุดปัจจุบันคือราคาตก ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ไซส์ขนาดที่พ่อค้ารับซื้อต้องการ การแก้ปัญหาของกลุ่มมี 3แนวทางคือ

 

 

การควบคุมคุณภาพการผลิตให้ตรงความต้องการตลาด เพราะผลไม้มังคุดปัญหาใหญ่คือเนื้อแก้วยางไหล การแก้มีการจัดวางระบบน้ำให้เหมาะสมในฤดูแล้ง และลดต้นทุนด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักทะลายปาล์ม มูลสัตว์ สามารถลดต้นทุนให้เกษตรกร 2,000 บาท/ไร่/ปี

นอกจากนี้ยังมีกลวิธีให้มังคุด ให้ติดดอก ออกผล เพิ่มผลผลิตอีกด้วย ด้วยวิธีแกล้งมังคุด กล่าวคือมังคุดจะไม่เหมือนผลไม้อื่นๆที่ต้องใส่ปุ๋ยให้น้ำมากเพียงพอถึงออกลูกออกผล แต่มังคุดนั่นถ้าได้รับน้ำและปุ๋ยเต็มที่จะมีแต่ใบ ดังนั่นจะต้องมีการแกล้งมังคุดให้เครียด เจอแล้งร้อน 20-30วันแล้วค่อยให้น้ำ มันจะติดดอกออกผลทันที

 

 

เมื่อได้ผลผลิตออกมาก่อนเข้าสู่ตลาด จะมีการรวมกลุ่มกันช่วยกันคัดเกรดคุณภาพ แยกไซส์ตามที่ตลาดต้องการ มังคุดเบอร์1ผิวมัน หมวกขียวไซส์ใหญ่ 80 กรัม/ผล ไซส์เบอร์2 น้ำหนัก70 กรัมต่อผล เบอร์3มังคุดผิวลาย ลูกเล็กเบอร์ 4 และลูกดำเบอร์5

2.การแก้ปัญหาอีกประการคือ การวางแผนให้ผลิตผลมังคุดออกสู่ตลาดไม่ให้ออกตรงกับภาคตะวันออก และ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจะออกสู่ตลาดช่วงระหว่างกลางของแหล่งผลิตทั้งสองที่ ส่งผลให้กลุ่มชาวสวนมังคุดตำบลลำเลียงได้ราคาดี อาทิในปี 2561 มีราคากิโลกรัม 100 กว่าบาท

 

 

การรวมกลุ่มยังส่งผลดี ชาวสวนได้พบปะพ่อค้าตรง สามารถทำราคาได้สูงกว่าท้องตลาด ซึ่งตลาดส่งออกหลักจะเป็นประเทศจีน เวียดนาม โดยช่วงที่ตลาดต่างประเทศต้องการมากๆจะมีการส่งขายต่างประเทศได้สูงถึงปีละ500ตัน และข้อดีของการรวมกลุ่มการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐทำได้ง่ายขึ้น

3.การแก้ปัญหาราคาตกอีกแนวทางหนึ่งคือ การแปรรูปมังคุด จากมังคุดที่มีขนาดตกไซต์ ลูกเล็ก ลูกลาย มังคุดลูกดำด้วยการนำมาแปรรูปเป็นมังคุดกวนและน้ำมังคุด สมาชิกกลุ่มจะนำมังคุดมาแกะเนื้อแช่แข็ง แล้วเอาเนื้อมาเพิ่มมูลค่ากวน 1 กล่องขนาด 200 กรัมมีมูลค่าขายมังคุดผล กิโลกรัมละ 50 บาท และการแปรรูปเป็นน้ำมังคุด เท่ากับขายมังคุดผลกิโลละ100บาท โดยกลุ่มจะมีรายได้จากการขายมังคุดแปรรูปเดือนละ 20,000 บาท ซี่งเป็นเงินสวัสดิการสมาชิกในกลุ่ม

 

คุณสุริยาเล่าให้ฟังว่าอุปสรรคในระยะแรก ๆ ของการรวมกลุ่มคือความยากลำบากในการเข้าสู่ระเบียบปฏิบัติของการรวมกลุ่มจะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คุณสุริยาจึงต้องทำเป็นตัวอย่าง โดยในระยะเริ่มต้นรวมกลุ่มกันประมาณ 10 คน โดยพยายามที่จะร่วมกันคัดสายพันธุ์ที่ดี มีการพัฒนาสายพันธุ์ ใส่ใจในการเพาะปลูก เมื่อผลลัพธ์ออกมาดี สมาชิกคนอื่น ๆ ก็เริ่มเข้ากลุ่ม โครงการรวมกลุ่มนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2546 และคุณสุริยาเริ่มเป็นประธานกลุ่มตอนปี 2550 ซึ่งพอขึ้นมาเป็นประธานกลุ่มก็รณรงค์ส่งเสริมให้มีการแปรรูป

“สินค้าเกษตรหากไม่มีการแปรรูป ช่วงที่ล้นตลาดจะมีปัญหามาก ถูกกดดันให้ขายราคาถูก ทำให้ขาดทุน แต่ถ้าหากมีการแปรรูป อย่างน้อย ๆ ก็สามารถประกันราคาให้กับทางกลุ่มได้ ปัจจุบันนี้หากราคามังคุดต่ำกว่ากิโลกรัมละ 12 บาท ทางกลุ่มรับซื้อหมด เพื่อนำมาแปรรูป การมีประกันราคาให้กับทางกลุ่มสร้างความมั่นใจ และความมีเสถียรภาพด้านราคา” คุณสุริยากล่าว

 

 

การแปรรูปนำมาซึ่งปัญหาด้านการตลาด ทางประธานกลุ่มได้แก้ปัญหาคือส่งเสริมให้มีการขายในพื้นทื่และพื้นที่ใกล้เคียงก่อน ปกติมังคุดจะมีระยะเวลาในการออกตลาดประมาณ 3 เดือนคือ มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม พอพ้นจากฤดูการขายแล้วก็นำมังคุดที่มีการแช่แข็งไว้นำออกมาขาย แต่การทำตลาดมังคุดแช่แข็ง ต้องมีการวางแผนและประมาณการอย่างดี เพราะหากขายไม่หมด จะมีปัญหาเรื่องต้นทุนค่าตู้แช่ ทำให้ไม่คุ้มที่จะนำไปแปรรูป

ในสายตาของคุณสุริยาต้องการที่จะพัฒนามังคุดให้มีการแปรรูปได้หลากหลาย เพื่อแก็ปัญหาเรื่องภาวะล้นตลาดของมังคุดได้อย่างยั่งยืน โดยมองว่ามังคุดมีสรรพคุณทางยา ซึ่งมีศักยภาพในอนาคตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ยังถือว่ามีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก ไม่ค่อยมีคนนำมาแปรรูป หากสามารถฉกฉวยโอกาสนี้สร้างแบรนด์ของกลุ่มให้เข้มแข็งติดตลาดก็เป็นทางออกที่ดี และต้องไปในอนาคตจะวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องลองกองล้นตลาด โดยจะพัฒนาลองกองเป็นน้ำพร้อมดื่มและไวน์

คุณสุริยาเล่าให้ฟังว่า แม้ว่าปัจจุบันนี้ได้แก้ไขปัญหาเรื่องมังคุดล้นตลาดได้แล้วในระดับหนึ่ง แต่เรื่องคุณภาพมาตรฐานก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากพื้นที่การเพาะปลูกในขณะนี้เป็นพื้นที่เอกสารสิทธิ์ การขออย. การตั้งโรงงานแปรรูปให้ได้มาตรฐานยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่ ตอนนี้ได้มาตรฐานของพัฒนาชุมชนเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคตก็มองอยู่ เพราะหากต้องการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศต้องมีมาตรฐานรองรับ ตอนนี้กำลังดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อสร้างโรงงานให้ได้มาตรฐานและสามารถผลิตได้ครบวงจร โดยทางอบจ.จังหวัดจะให้งบประมาณมา แบบต่าง ๆ ก็ออกมาแล้วตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการขอใช้พื้นที่สาธารณะอยู่

จากประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหามังคุดล้นตลาดและความพยายามในการนำมังคุดมาแปรรูปทำให้ปัจจุบันคุณสุริยามีประสบการณ์มากมายในหลากหลายตำแหน่งผู้นำชุมชน โดย 1.เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลําเลียง เมื่อปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน 2.ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 3.ประธานเครือข่ายมังคุดของจังหวัดระนอง 4.รองประธานเครือข่ายมังคุด 14 จังหวัดภาคใต้ 5.ประธานแปลงใหญ่มังคุด หมู่ที่ 9 ตำบลลําเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และ 6.ประธานคณะทำงานด้านพืชเศรษฐกิจของสภาเกษตรกรจังหวัดระนอง

 

 

ทางคณะกรรมการคัดสรรของมูลนิธิสัมมาชีพ จึงคัดสรรมอบรางวัลปราชญ์สัมมาชีพประจำปี 2565 เพราะมีผลงานสำคัญในฐานะเป็นผู้นำของชุมชนในวิสาหกิจชุมชนมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง เป็นเรื่องของการให้ความสนใจต่อการจัดการผลิตผลไม้ของชุมชน ซึ่งก็คือ มังคุด ด้วยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การทำน้ำมังคุดพร้อมดื่มแบบเข้มข้น มังคุดแช่อิ่มอบแห้ง มังคุดกวน เยลลี ไอศกรีมมังคุด แชมพูจากมังคุด

อีกทั้งมีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิจัยการผลิตสารสกัดแทนนินจากเปลือกมังคุดเพื่อนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ยาแต้มสิว ซึ่งเป็นงานที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการในปัจจุบัน รวมทั้งการสร้างแบรนด์ Queeny เป็นของชุมชน

ผลการดำเนินงานของวิสากิจชุมชนภายใต้การนำของคุณสุริยา ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสมาชิกและเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาของเกษตรกรในตำบลลำเลียง จนในปัจจุบันโรงงานแปรรูปมังคุดของวิสาหกิจสามารถรองรับผลผลิตมังคุดของชุมชนทั้ง 7 ตำบลของอำเภอกระบุรี พร้อมกับได้ประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ทั้งจังหวัดระนอง และการส่งเสริมในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อไปเพิ่มเติมสร้างประสิทธิภาพ

 

 

ด้วยความสามารถของการดำเนินงานดังกล่าว เป็นผลให้วิสาหกิจชุมชนได้รับรางวัลจากหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ เช่น เกียรติบัตร “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มังคุดหวานเพื่อการส่งออก” รางวัลเครือข่ายดีเด่น ประเภท สนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรม จากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ กระบุรี ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชนะเลิศ “การคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด” ประจำปี 2559 ประเภท วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลําเลียง จากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดระนอง และเป็นแปลงต้นแบบ โครงการศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า (อำเภอกระบุรี) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งได้รับโครงการยกระดับแปลงใหญ่มังคุด หมู่ที่ 9 ตำบลลําเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ให้เป็นศูนย์ต้นเรื่องมังคุด ฯลฯ

คุณสุริยามีหลักคิดว่า “ทำดีต้องได้ดี” อาจจะช้าหน่อยแต่ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับมา ความดีที่สร้างมาอาจไม่ได้กลับมาเป็นเงินทอง ซึ่งปัจจุบันคิดว่าความดีเหล่านั้นได้ย้อนกลับมาหาแล้ว ได้รับรางวัลและเกียรติต่าง ๆ เราต้องเชื่อมั่นในความดี ส่วนหลักการบริหารกลุ่มให้เข้มแข็งคือความโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับเงินทอง.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ชัยพร พรหมพันธุ์” ปราชญ์สัมมาชีพ เรียนน้อย แต่ค้นคิดเครื่องมือทุ่นแรง ทำนาต้นทุนต่ำ จนเป็นชาวนาเงินล้าน
https://www.thaiquote.org/content/249355

“ป้าเหงี่ยม” ผู้รักษาภูมิปัญญาการย้อม “ผ้าหม้อห้อม” ต่อยอดให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ สวยงาม สร้างอาชีพให้ชุมชน
https://www.thaiquote.org/content/249300

สั่งสมความรู้ จนบ่มเพาะเป็นภูมิปัญญา “ปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ” คืนชีวิตให้ดิน
https://www.thaiquote.org/content/249245