เตรียมพร้อม รับ “เอลนีโญ” เฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำ-ฝนทิ้งช่วง อย่างใกล้ชิด

by ThaiQuote, 10 มิถุนายน 2566

ที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 1/2566 ติดตามความก้าวหน้าในการเตรียมรับมือสถานการณ์ “เอลนีโญ” ที่จะเกิดตั้งแต่ มิ.ย.2566 – ก.พ.2567 จะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น

 

หลายจังหวัดอาจประสบภัยแล้ง โดยปีนี้คาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ 5% และอาจมีฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย. – ก.ค.66 จึงเน้นย้ำทุกหน่วยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและฝนทิ้งช่วงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่ กอนช. คาดการณ์ไว้
.
การรับมืออย่างเป็นรูปธรรมและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ยังเน้นย้ำการกักเก็บน้ำในทุกแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หารือร่วมกับกรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำภาคการเกษตรอย่างประณีต เตรียมแปลง ปรับรอบการส่งน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน พิจารณาตามหลักการ 1 รอบการเพาะปลูก หากมีรอบที่ 2-3 ต้องมีมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำให้ถึงฤดูแล้งปี 2567/68 ทั้งนี้ การดำเนินงานตามมาตรการฤดูแล้งที่ผ่านมาในภาพรวมค่อนข้างเป็นไปตามแผนและเกิดผลกระทบไม่มากนัก
.
ขณะเดียวกัน ยังคงดำเนิน 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 รองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยด้วย หน่วยงานที่ยังไม่ได้รับงบประมาณขอให้จัดทำแผนปฏิบัติการสำรองการบริหารจัดการน้ำหลาก ให้กรมชลประทาน ประชาสัมพันธ์แผนการส่งน้ำ จัดรอบเวรการส่งน้ำตามปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรร ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งติดตามการพิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทน หรือ ชดเชยความเสียหายจากการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองโดยเร็ว ควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน เช่น พื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ลุ่มต่ำและต้องปลูกพืชเร็วกว่ากำหนดพิจารณาใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดการใช้น้ำ และเตรียมแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 12 มาตรการที่ครม.อนุมัติได้แก่

มาตรการที่ 1 : คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง (มี.ค. 2566 เป็นต้นไป) โดยประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในช่วงมีนาคม-ธันวาคม 2566 และประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากช่วงฝนทิ้งช่วงในช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม 2566
มาตรการที่ 2 : บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในสิงหาคม 2566) เตรียมความพร้อมการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก หลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงิน ค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายในพื้นที่เอกชน
มาตรการที่ 3 : ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ ในแหล่งน้ำ/เขื่อนระบายน้ำและจัดทำ แผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) ทบทวน ปรับปรุงหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำ สำหรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกลุ่มลุ่มน้ำ เช่น จัดทำแผนบริหารจัดการนำ้ระดับลุ่มน้ำในพื้นที่นำร่อง (ลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก) ติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทุกขนาด และจัดทำแผนการบริหาร จัดการน้ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในช่วงภาวะวิกฤต
มาตรการที่ 4 : เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (ก่อนฤดูฝน และตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่ (1) เตรียมความพร้อมซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ และระบบระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งาน (2) ซ่อมแซม ปรับปรุง สถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน (3) ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ
มาตรการที่ 5 : เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่ (1) เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร (2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำในพื้นที่เสี่ยง ในช่วงฝนทิ้งช่วง เช่น วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้อง กับปริมาณน้ำต้นทุน
มาตรการที่ 6 : ตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน และตลอดช่วงฤดูฝน) ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรง ของคันกั้นน้ำ ทำนบ และพนังกั้นน้ำ พร้อมทั้งซ่อมแซมและปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมใช้งาน
มาตรการที่ 7 : เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ของทางน้ำ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) เช่น จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักรเครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ ในการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และขยะในลำน้ำ ขุดลอกคูคลอง
มาตรการที่ 8 : ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่ สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่ (1) ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและจัดเตรียมพื้นที่อพยพอย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่ (2) ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย เพื่อเตรียมความพร้อม และบริหารจัดการสถานการณ์ (3) จัดทำแผนการฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
มาตรการที่ 9 : เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 ) เร่งเก็บน้ำ/สูบทอยน้ำส่วนเกิน ในช่วงปลายฤดูฝนไปเก็บ และพัฒนา แหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ และบ่อน้ำตื้น
มาตรการที่ 10 : สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน)
มาตรการที่ 11 : การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) ประชาสัมพันธ์ในการเตรียมความพร้อม รับสถานการณ์ช่วงฤดูฝนให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้และเข้าใจ
มาตรการที่ 12 : ติดตาม ประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี ยังได้มีข้อสั่งการให้ประชาสัมพันธ์การเตรียมการในส่วนของมาตรการต่างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และให้แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอย่างทันท่วงทีในช่วงฤดูฝนนี้ด้วย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสงครามในยูเครนเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงทุกวัน
https://www.thaiquote.org/content/250421

เทคโนโลยีโดรนตรวจจับช้างแบบอัตโนมัติ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI เพื่อประเมินและป้องกันช้างป่า
https://www.thaiquote.org/content/250419

อุทยานธรณีโคราช ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แห่งที่สอง
https://www.thaiquote.org/content/250426