รัฐบาลติดตามสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำใกล้ชิด พร้อมรับมือจากเอลนีโญลากยาวถึงปีหน้า

by ThaiQuote, 26 มิถุนายน 2566

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำใกล้ชิด กำชับเตรียมพร้อมรับมือฝนน้อยจากเอลนีโญ เร่งกักเก็บน้ำ ส่งต่อให้ถึงปีหน้ามากที่สุด

 

วันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์น้ำแลการวางแผนบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ล่าสุด รัฐบาล โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ฯลฯ ติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปี 2567

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในปี 2566 และ 2567 จะคล้ายกับสถานการณ์น้ำเมื่อปี 2562 ซึ่งเกิดสภาวะเอลนีโญต่อเนื่องจนถึงปี 2563 ทั้งนี้ใช้ข้อมูลในปี 2563 เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2567 สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี โดยมุ่งกักเก็บน้ำต้นทุนส่งต่อไปยังปี 25667 ให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งหากยังคงมีปริมาณฝนน้อยต่อเนื่องถึงปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันคาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2566 ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณเพียง 60-70% เท่านั้น ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำสำรองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า จากข้อมูล กอนช.และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนและเกษตรกร เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อมทุกด้านอยู่เสมอเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้เข้าใจสถานการณ์น้ำทั้งในปีนี้และปีหน้า ส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกเพียงหนึ่งรอบ เพื่อสงวนน้ำไว้สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รวมถึงป้องกันการยืนต้นตายของไม้ผล ไปจนถึงการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศ พร้อมขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเพาะปลูกจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทานได้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวเบาที่มีอายุสั้นและเก็บเกี่ยวได้เร็ว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาแหล่งน้ำของตนเองเพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงด้วย

“ข้อมูล สทนช. ระบุพื้นที่ประสบภัยแล้ง ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยแล้ง เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ซึ่ง รัฐบาล โดย สทนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่เพจเฟซบุ๊คของ สทนช. หรือแจ้งไปยัง สทนช.ทั้ง 4 ภาค โดยจะมีการติดตามตรวจสอบและประสานงานให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาโดยเร็วที่สุด” นายอนุชา กล่าว

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ”ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมเป็นสินค้า GI จังหวัดศรีสะเกษ
https://www.thaiquote.org/content/250550

ม.มหิดล พร้อมร่วมยกระดับ "เสื่อกก" สู่ "สินค้า GI" ชิ้นแรกของจ.อำนาจเจริญ
https://www.thaiquote.org/content/250532

ก้าวข้ามการ ‘ฟอกเขียว’ ปรับธุรกิจ รับแนวทางสหประชาชาติเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
https://www.thaiquote.org/content/250528