PM2.5 วิกฤตหนัก ‘พัชรวาท’ สั่ง ‘จิสด้า’ หา Hotspot มอนิเตอร์ ต้นตอเผา

by ESGuniverse, 15 ธันวาคม 2566

“พัชรวาท” สั่งด่วนให้ กรมควบคุมมลพิษ ประสาน “จิสด้า” ใช้ Hotspot(จิสด้า) สแกน 52 จังหวัด ตรวจจับต้นตอฝุ่นPM 2.5 ด้านจิสด้าเตือน 1-2 วันนี้ค่าฝุ่นเข้าขั้นวิกฤต ห่วง 7 เขต กทม.ค่าเกินมาตรฐาน ระดับสีส้ม ห่วงแรงงานกลางแจ้ง วิน ไรเดอร์ รับเคราะห์ปอดแย่ ครม.เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด 22 ฉบับ

 

 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการด่วนไปยังกรมควบคุมมลพิษ เพื่อประสานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) หลังพบ 52 จังหวัดของประเทศไทย มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีค่าคุณภาพอากาศระดับสีแดงหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานทุกเขต โดยพบค่าฝุ่นระดับสีแดง 7 เขต ได้แก่ หนองแขม พระโขนง บางนา ดอนเมือง ลาดพร้าว หลักสี่ บึงกุ่ม และมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้มกว่า 40 เขต

โดยกรมควบคุมมลพิษจะใช้ข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น ทั้งข้อมูลของจุดความร้อน (hotspot) และแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินจาก จิสด้า และข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่นอื่น ๆ เพื่อชี้เป้าหมายแหล่งกำเนิด PM2.5 ในรายจังหวัด พร้อมกำชับให้มีการกำกับ การประเมินสถานการณ์ในการแก้ปัญหาและรายงานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยต่อไป

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเตือนว่าช่วงนี้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับวิกฤตคุกคามสุขภาพประชาชน ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจราจร วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ แรงงานก่อสร้างที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เสี่ยงกระทบสูงสุด สั่งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เตรียมพร้อมสำรองหน้ากากอนามัย/N95 ล่าสุดพิษณุโลก นนทบุรี สมุทรสาคร เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 แล้ว ขณะที่กรมอนามัย- กรมควบคุมโรค เร่งสื่อสารความเสี่ยงวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัยถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้าน

จากการคาดการณ์คุณภาพอากาศในช่วง 1-2 วันนี้ ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ โดยล่าสุดมี 28 จังหวัดที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ครม.ไฟเขียวร่างสู้ฝุ่น PM2.5 เร่งออกกม.รอง 22 ฉบับ

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ กล่าวว่า กำชับให้ดำเนินการเร่งด่วนตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 ทั้ง 11 มาตรการ

นอกจากนี้เตรียมกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

โดยจะส่งต่อไปให้ยังผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ละจังหวัดโดยตรงให้ป้องกันและแก้ไขปัญหาตามมาตรการต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด

ก่อนหน้านี้เมื่อ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ....และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามที่ทส.เสนอ

สาระสำคัญในเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ....เพื่อเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ

โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ครอบคลุม ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ และใช้เครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

นอกจากนี้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด ที่มีทส.ร่วมเป็นคณะทำงาน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ในเรื่องนี้

รวมทั้งจัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว รวม 22 ฉบับโดยเร็วด้วย

 

 

เที่ยงที่ผ่านมา ค่าฝุ่นในประเทศเกินค่ามาตรฐาน 14 จังหวัด

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ณ 12:00 น สรุปดังนี้ ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ลำปาง พิษณุโลก สระบุรี อ่างทอง ราชบุรี สมุทรสงคราม หนองคาย และ จ.กาฬสินธุ์

>ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 18.4 - 41.0 มคก./ลบ.ม.

>ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 16.3 - 58.9 มคก./ลบ.ม.

>ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 27.3 - 58.2 มคก./ลบ.ม.

>ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 10.1 - 30.8 มคก./ลบ.ม.

>ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 8.3 - 20.3 มคก./ลบ.ม.

>กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. เกินค่ามาตรฐาน 32 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 23.2 - 61.3 มคก./ลบ.ม.

พบจุดความร้อน 102 จุด

จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 102 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่การเกษตร 64 จุด ตามด้วยพื้นที่สปก. 18 จุด ชุมชนและอื่นๆ 12 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 6 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 2 จุด จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ #อุตรดิตถ์ 1 จุด ตามด้วย #ร้อยเอ็ด 9 จุด และ #กาฬสินธุ์ 8 จุด

นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อน 3 อันดับแรกได้แก่ กัมพูชา 183 จุด รองลงมา เวียดนาม 116 จุด ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับ 3 พบ 102 จุด ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น”

หมอเตือนวิธีรักษาสุขภาพในช่วงฝุ่นมาก

ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กองประเมินผลกระทบทางสุขภาพจัดทำข้อมูลความรอบรู้สุขภาพเรื่อง PM 2.5 สื่อสารกับประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคำแนะนำการดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM2.5 ในเบื้องต้น ดังนี้

1.ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง
2.ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน
3.หากต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก หรือใส่หน้ากากกรองฝุ่น
4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนัก เมื่ออยู่นอกบ้าน
5.ดื่มน้ำมาก ๆ และไม่สูบบุหรี่ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
6.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่มีฝุ่นละออง
7.ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
8.ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสีย ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง