‘หาดทิพย์’สร้างวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนในน้ำดำ ลงทุน 800 ล้าน ตั้งโรงงานผลิตขวดแก้ว

by ESGuniverse, 7 มีนาคม 2567

บมจ.หาดทิพย์ ผู้ผลิตและจำหน่ายโค้กภาคใต้ ตั้งปณิธาน เป็นอุตสาหกรรมน้ำดี ลดใช้พลาสติก ย้อนกลับสู่ยุคคืนขวด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลงทุน 800 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตขวดแก้ว ทบทวนแพคเกจจิ้งรักษ์โลก ลดขยะ หนุนวาระแห่งชาติ

ทุก ๆ วินาทีมีจะมีขวดพลาสติกรวมกว่า 20,000 ขวด ถูกขายไปทั่วโลก หากรวมกัน 1 นาทีจะมีถึง 1 ล้านขวด และหากคิดเป็นปี จะมีขวดพลาสติกกว่า 500,000 ล้านขวดต่อปี ที่ถูกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastic) เป็นอัตราที่น่ากลัวมาก เพราะมากกว่าจำนวนประชากรโลกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะเมื่อขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยการฝังกลบ และลงสู่มหาสมุทร ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย
แบรนด์อันดับแรก ที่ขายดีที่สุด แต่ก็เป็นผู้ปล่อยผลิตขยะจากพลาสติกติดอันดับมากที่สุดเช่นกัน นั่นก็คือ โคคา-โคล่า หรือในเมืองไทยเรียกว่า โค้กนั่นเอง


จากรายงานของ Break Free From Plastic Global Brand Audit 2023 ปีที่ผ่านมา โคคา-โคล่า คือ ผู้ที่ผลิตและขายขวดพลาสติกมากกที่สุดถึง 100,000 ล้านขวด โค้กจึงต้องทำหน้าที่รับผิดชอบต่อการผลิต พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง


โคคา-โคล่า จึงทบทวนเส้นทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก พร้อมกันกับบริหารจัดการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ หลายเสียงเรียกร้องว่านั่นยังไม่พอ ต่างกดดันให้ลดการพึ่งพาพลาสติก และลงทุนการพัฒนาด้านความยั่งยืน


จึงเป็นที่มาของดีลเลอร์โค้กทั่วโลก ต่างจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการวงจรบรรจูภัณฑ์โคคา โคล่า อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC ผู้รับลิขสิทธิ์การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเครือโคคา-โคล่าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จากเดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี (ประเทศสหรัฐอเมริกา)

พลตรี พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC เปิดเผยถึงแนวคิดการพัฒนายั่งยืน โดยได้วางวิสัยทัศน์ในอีก 10 ปีข้างหน้าของหาดทิพย์ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่มุ่งกำจัดขยะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตอยู่ภาคใต้ เพราะถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และของโลก จนถือเป็นวาระแห่งชาติ ในการจะต้องมีวิธีการกำจัดขยะอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางการเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ

“เราอยู่ภาคใต้มานานมีพนักงานกว่า 2,500 คน จึงต้องการมีส่วนในการแก้ไขปัญหาให้กับท้องทะเลในภาคใต้ เรื่องขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่เราจะต้องร่วมมือเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะเราใช้พลาสติกมากอยู่แล้ว เราจึงเป็นบริษัทที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะและดูแลสังคม ไม่ใช่เพียงจัดการด้านบรรจุภัณฑ์ ยังต้องให้ความรู้กับการคัดแยกขยะกับคนทั่วไป เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาของเรา”เขากล่าว

ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เรื่องของบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อหาทางลดปริมาณขยะ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบหรือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการช่วยเหลือสังคม และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมกันกับบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ
“เรามีความจริงใจในขีดความสามารถ คืนกำไรสู่สังคม ตระหนักเสมอว่าสังคมอยู่ได้เราก็อยู่ได้ ภูมิใจที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้พี่น้องผู้บริโภค มุ่งมั่นเป็นคนดีของสังคม”

 


ลงทุน 800 ล้าน
ขยายโรงงานผลิตขวดแก้ว

สำหรับแผนการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จะมีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วมากขึ้น โดยการลงทุนรวมมูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสายการผลิตของผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ชนิดขวดแก้ว เพราะการส่งเสริมให้ใช้ขวดแก้ว เป็นแนวทางหนึ่งของความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกที่มีความเสี่ยงในการไหลไปจมในท้องทะเล ยังช่วยลดความเสี่ยงเรื่องต้นทุนบรรจุภัณฑ์ในระยะยาวแล้ว

“การก่อตั้งธุรกิจขวดแก้วที่แข็งแกร่งจะทำให้เราสามารถบริหารต้นทุนบรรจุภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเป้าหมายด้านความยั่งยืน เพราะช่วยลดการใช้พลาสติก ก็สามารถช่วยลดเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตขวดพลาสติก ลดคาร์บอนและมลพิษไปพร้อมกัน จึงต้องส่งเสริมตลาดให้หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ด้วยขวดแก้วใช้ซ้ำ”เขากล่าว

 


โรงแรม ร้านอาหารนำร่อง
จุดส่งเสริมวัฒนธรรม “ดื่มแล้วคืนขวด”

พลตรี พัชร รัตตกุล กล่าวเสริมถึงโอกาสในการนำบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วชนิดคืนขวดยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ในช่องทางโรงแรม ร้านอาหาร และภัตตาคาร ซึ่งมีความเหมาะสมกับบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ เนื่องจากผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มภายในร้าน (On-Premise Consumption) และเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เรามีแข่งขันได้ดีในตลาด โดยจะเริ่มต้นให้คนดื่มน้ำแบบคืนขวด จากพื้นที่บน ผ่านกลุ่มตัวแทนจำหน่ายที่สามารถบริหารจัดการห่วงโซ่การกระจายสินค้าได้

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 พลตรี พัชร รัตตกุล มั่นใจว่า หาดทิพย์จะยังคงมียอดขายที่เติบโตขึ้นในอัตรา 6-8% เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีแนวโน้มที่สดใส และจากแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่โดนใจผู้บริโภค อาทิ น้ำชา นม นมถั่วเหลือ เครื่องดื่มชูกำลัง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีน้ำตาลที่เติบโตได้ดีในปีที่ผ่านมา

วางเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเพิ่มในปี 2575
หลังปรับสายการผลิตรักษ์โลก

โดยวางแผนกลยุทธ์ในระยะยาวนั้น บริษัทฯ มุ่งมั่นในการยืนหยัดเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยตั้งเป้าหมายมียอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท และมีมูลค่าส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮล์อย่างน้อย 35% ภายในปี 2575 และผลักดันขวดแก้วแบบคืนขวดให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นปรับเปลี่ยนแพคเกจขวดใหม่ จากของเดิมที่เป็นการพิมพ์สีขวดแก้ว (ACL) เป็นฉลากกระดาษรอบขวด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โดยในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอประกอบไปด้วย “โค้ก”, “แฟนต้า”, “สไปรท์”, “ชเวปส์”, “เอแอนด์ดับบลิว” รูทเบียร์ รวมถึงน้ำส้ม ”มินิทเมด สแปลช”, “มินิทเมด พัลพิ”, น้ำดื่ม “น้ำทิพย์”, น้ำแร่ “บอน อควา” และ”อู-ฮ่า”  และบริษัทฯกำลังกำลังศึกษาตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในอนาคตตั้งเป้าเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวบริษัทฯ จึงใช้กลยุทธ์สร้างการเติบโตของรายได้ ผ่านการกำหนดขนาด รูปแบบผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่ายที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่องทางธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อที่มีการเติบโตของยอดขายสูงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็มีการปรับราคาขายขึ้นเล็กน้อย พร้อมทั้งเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตควบคู่กันไป ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตสูงถึง38.8%