ซอฟต์พาววเวอร์ผ้าไทย แก้เกมเมกะเทรนด์โลกหมุนสู่แฟชั่นยั่งยืน

by ประกายดาว แบ่งสันเทียะ , 10 เมษายน 2567

เมกะเทรนด์โลกเปลี่ยนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีบทบาทขับเคลื่อนทุกธุรกิจและอุตสาหกรรม ต่างจะต้องพูดถึงปัจจัยการทำธุรกิจโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเราทุกคนต่างเห็นตรงกันกับปัญหาทรัพยากรขาดแคลนและเสื่อมโทรมลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ร้อนจนสัมผัสได้ ตลอดจนมลพิษฝุ่นควัน PM2.5

ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับที่ 9 ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสภาพอากาศรวน หากภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้น อาจจะเกิดมูลค่าความเสียหายมากจนไม่อาจจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

อุตสาหกรรมสิ่งทอ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบสร้างมลภาวะต่อโลก ในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ต่างเพิ่มพิษ การผลิตสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า ที่เคยเป็นปัจจัย 4 มีมากกว่าความต้องการ ทำให้การผลิตล้น จนเสื้อผ้ากลายเป็นขยะ สร้างมลพิษ นับสัดส่วนขยะที่มาจากสิ่งทอมีมากถึง 92 ล้านตันต่อปี จากเสื้อผ้ามีการผลิต 1 แสนล้านชิ้นต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 134 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือ เพิ่มขึ้นเกือบ 50%

ไม่เพียงการกลายเป็นขยะ แต่ในกระบวนการผลิตกว่าจะได้มาซึ่งสิ่งทอจากกระบวนการฟอกย้อมผ้า รวมถึงการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า สีสันสวยงาม ต้องแลกมากกับการทำให้เกิดน้ำเสียถึง 20% ของน้ำเสียจากอุตสาหกรรมทั้งโลก ประเภทผ้าที่หนักที่สุดคือ ผ้าฝ้าย 1 ตัว จะต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร

มลพิษ ที่เกิดจากขยะสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโลกมากกว่าที่คาดคิด ทำให้ทั่วโลกต่างหันมาเน้นการพัฒนา”แฟชั่นยั่งยืน” Sustain Fashion แทนที่ แฟชั่นมาเร็วไปไว้ ใส่แล้วทิ้ง (Fast Fashion)

 

 

แบรนด์ดังระดับโลก ตบเท้า
ชูการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยถึง ทิศทางอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบัน จะต้องมีการปรับตัว ตามสภาพโครงสร้างการผลิตแบรนด์ขนาดใหญ่ระดับโลก อาทิ อดิดาส (Adidas) , ลีไวส์ (Levi's), เอช แอนด์ เอ็ม (H&M), ซาร่า (ZARA) , และยูนิโคล่ (Uniqlo) ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการปรับปรุงห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทั่วโลก แสดงให้ผู้บริโภค และผู้จัดจำหน่ายกระจายสินค้าทั่วโลกเห็นถึงการตระหนักรู้ ในการผลิตทีไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการชูประเด็นด้านการบำบัดน้ำเสีย ใช้สารเคมีไม่เป็นอันตราย และ มีการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint)

 


นี่คือจุดเปลี่ยน ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มที่เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสในการปรับตัวไปสู่การผลิตสีเขียว หากพัฒนาก่อนก็เข้าไปสู่ตลาดครองใจผู้บริโภคได้ก่อน

“ ถ้าเราปรับตัวได้ เมื่อลูกค้ามองหาผ้า หรือเส้นด้ายในโรงงานที่มีการคำนวณคาร์บอนฟรุตพรินท์ พร้อมกันกับเป็นโรงานที่ได้รับใบรับรองของการใช้สารเคมีปลอดภัย ก็จะเป็นโรงงานที่ยังได้รับคำสั่งซื้อสินค้า ไม่ได้รับผลกระทบห้ามนำเข้าหรือ ห้ามส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า แต่หากไม่ปรับตัวก็จะหลุดออกจากซัพพลายเชน”

 


3 กลุ่มประเทศ รุกสู่การสร้างมูลค่าแฟชั่นยั่งยืน

การปรับตัวไม่เพียงเกิดจากแรงกดดันของสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ยังมีการออกมาตรการกฎระเบียบการค้า และนโยบายต่างๆ จากภาครัฐ ในต่างประเทศหลายแห่ง เป็นแรงผลักดันให้เกิดห่วงโซ่การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยั่งยืน โดยยกเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) มาเป็นจุดขาย ประกอบด้วย

     -สหภาพยุโรป ได้มีเป้าหมาย การวางแผนการลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (ECAP-European Clothing Action Plan)

     -ในสหรัฐ โดยมีนิวยอร์ก เป็นรัฐแรกในการออกกฎรเะเบียบความรับผิดชอบต่อสังคม และความยั่งยืนจากแฟชั่น เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบการ ประเภทเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ในนิวยอร์ก ให้จัดทำแผนที่กระบวนการผลิต ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

     -ในญี่ปุ่น มีการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ มีมูลค่าถึง 50 ล้านล้านเยน พร้อมกันกับเร่งส่งเสริมธุรกิจใหม่ เปิดแอปพลิเคชั่น ขายเสื้อผ้ามือสองและให้เช่าเสื้อผ้า โดยในภาครัฐมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแฟชั่นแห่งอนาคต โดยรวบรวมความเห็นจากภาครัฐ เอกชน และบริษัทผู้ผลิต ดีไซเนอร์ให้หาแนวทางพัฒนาแฟชั่นสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน ขณะที่ภาคเอกชนมีการจัดตั้ง Japan Sustainable Fashiion Alliance (JSFA)เพื่อร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจพร้อมกันกับเป้าหมายคาร์บอนจากแฟชั่นเป็นศูนย์ ในปี 2050

สิ่งทอ ขาดเงินทุน แบงก์ไม่หนุน
โรงงานนอกตลาดหุ้น เปลี่ยนผ่าน สีเขียว

ปัญหาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มของไทย ถือว่าต้องเผชิญกับการปรับตัวหลายช่วงเวลา หลังจากที่ผ่านมาเผชิญกับวิกฤติในการแข่งขันราคาและต้นทุนมาตลอด จนทำให้ต้องปรับตัวและลงทุนด้านการผลิตมาหลายปี เพื่อยังรักษาคำสั่งซื้อ (ออเดอร์)จากลูกค้า ท่ามกลางกระแสการย้ายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเครื่องนุ่งห่ม จึงเผชิญกับการขาดทุนมาหลายปี ตั้งแต่ปี 2009 มีหลายโรงงานต้องหายไปจากตลาด เพราะมีการเพิ่มมาตรฐานคุมเข้ม รับรองโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว และขยายมาสู่การยกระดับการผลิตตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการ ขาดแคลนเงินทุนในการปรับตัวสู่การผลิตสีเขียว รองรับเทรนด์โลกใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการลดการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีเพียงหลักร้อยโรงงานที่มีการพัฒนายกระดับขีดแข่งขัน จาก 2,000 กว่าโรงงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

“ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่อยูํ่ในไทยถูกบีบให้ทำเรื่องนี้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตมาโดยตลอด มีการลงทุนเครื่องจักรและนำเข้าสารเคมีที่ปลอดภัยในการผลิต ซึ่งมีต้นทุนสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า การลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งขาดแคลนเงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่การผลิตสีเขียว โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ”

ผู้ประกอบการไม่ถึงครึ่ง ทำ ESG

จนกระทั่งล่าสุดมีการผลิตในอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในด้านความยั่งยืน ตามหลัก ESG สมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ยังถือว่ามีสัดส่วนผู้ประกอบการส่วนน้อยที่ให้ความสนใจกับการเข้าไปอบรมพัฒนายกระดับขีดความสามารถการแข่งขันก้าว สู่ยุคแห่งการผลิตสีเขียว ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันในสภาพยุโรป เริ่มมีกฎระเบียบที่เข้มข้นขึ้น และตามมาด้วยในสหรัฐอมเริกา ขณะที่ไทย ผู้ประกอบการภายในประเทศ ยังให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวสัดส่วนยังไม่ถึงครึ่ง

“ในประเทศไทยมีหลายระดับในการปรับตัว บางคนก็ให้ความสำคัญนำร่องทำไปก่อน แม้จะต้องลงทุนสูง เพราะมีตลาดหลักอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ยุโรป แต่บางคน หากตลาดยังอยู่ภายในประเทศ หรือคู่ค้าที่ยังไม่มีมาตรการเข้มงวดก็จะยังไม่รีบปรับตัว เพราะมองว่าการปรับตัวพัฒนาการผลิต เป็นการเพิ่มภาระต้นทุน”

 

 

สิ่งทอ ไทยยังครองแชมป์อาเซียน
ขณะที่เวียดนาม แซงผลิตเสื้อผ้า

ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งทอมองว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยยังครองความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มพัฒนาต้นน้ำจากเส้นใย เส้นด้าย ขณะที่การผลิตเครื่องนุ่มห่ม เวียดนาม ได้แซงหน้าไทยมาหลายปีแล้ว เนื่องมาจากแข่งขันค่าแรงและต้นทุน

โดยภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2567 มีมูลค่า 482.0 ล้านเหรียญร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 318.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.5 % และการส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 164.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.1%

นี่ถือเป็นการขยายตัวในเดือนแรก หลังจากลดลงต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 15 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากคู่ค้าสำคัญ อย่างเช่น สหรัฐ ยุโรป จีน และ ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม (CLMV)

 

 


ปั้นสิ่งทอ คู่ซอฟต์พาวเวอร์อัตลักษณ์ไทย

สำหรับแนวทางการยกระดับ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศไทย ผอ.ชาญชัย แนะนำในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะต้องเชื่อมโยงต้นน้ำการผลิต ควบคู่กันกับ พลังอ่อนนุ่ม (Soft Power) จุดขายอัตลัษณ์ความเป็นไทย ่โดยเริ่มต้นจากากรพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัลมาช่วยในกระบวนการผลิต ลดคน ลดต้นทุน เพื่อแข่งขันด้านราคาและประสิทธิภาพการผลิต รวมไปถึงรัฐบาลควรมีการสนับสนุนลดดภาษีนำเข้าเครื่องจักร เข้ามาช่วยในการปรับประสิทธิภาพการผลิต

“คนไทยเก่ง มีจุดแข็งในด้านการออกแบบอยู่แล้ว จึงเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วยด้านการผลิต การสื่อสารรวบรวมข้อมูลด้านไอทีมากขึ้น เพื่อให้ลดต้นทุน และเข้าใจความต้องการตลาด รวมไปถึงมุ่งเน้นซอฟต์พาวเวอร์ โดยการพัฒนาผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยรีไซเคิล ซึ่งผู้ประกอบการไทยถือว่ามีความเขัาใจด้านอุตสาหกรรมสีเขียว มีการปรับตัวอย่างดี อันดับต้นๆ ของโลก “

แนวทางการพ็ฒนาผู้ประกอบการไทยให้ปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจสีเขียว มี 4 ด้าน ประกอบด้วย

      1 . ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิ่งทอและการพัฒนานวัตกรรม
      2 . ส่งเสริมคุณค่าการสร้างซอฟต์พาวเวอร์จากผ้าไทย สิ่งทอไทย ที่จะเป็นจุดแข็งสำคัญที่สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าในตลาด เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย โดยเข้าไปเชื่อมโยงกับการทำการลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยว
      3 มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้ยกระดับการยอมรับสินค้าผลิตจากไทย ติดป้าย Made In Thailand ส่งเสริมสินค้าและอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นส่วนประกอบ เช่น ผ้าและเส้นด้ายภายในประเทศ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงซัพลายเชนการผลิตภายในประเทศ
      4. การปกป้องสินค้าไทยผ่านการตั้งมาตรฐานควบคุมสินค้านำเข้า ให้มีมาตรฐานป้องกันสินค้าไม่มีคุณภาพราคาต่ำเข้ามาดัมป์ราคา เช่น ผลิตจากผ้าและสารเคมีก่อมะเร็ง

 

 

เปิดแพลตฟอร์ม แมชชิ่ง
ระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังจะมีการนำยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ BCG Model ย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy ซึ่งเป็นรูปแบบการมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากการจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม เชื่อมกับหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง เข้าไปส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ มุ่งเน้นการใช้วัสดุรีไซเคิล

ทั้งนี้ สถาบันสิ่งทอฯ จึงได้เปิดแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการเชื่อมโยงผู้ผลิตนำเสื้อผ้าเก่ามาผลิตใหม่เป็นวัตถุดิบเส้นใย และส่งเสริมเส้นใยจากธรรมชาติ เช่น ใยบัว ใยสับปะรด ที่เป็นผลผลิตของวิสาหกิจชุมชนซึ่งถือเป็นโอกาสทางการตลาด ที่สถาบันพัฒนาสิ่งทอ “พัฒนาแพลตฟอร์มสิ่งทอเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ชื่อ www.textilescircle.com “ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เป็นสื่อกลาง สร้างฐานความรู้ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านวัตถุดิบ สร้างโอกาสช่องทางการตลาด รวบรวมผู้ซื้อ ผู้ขาย นักออกแบบ ในการต่อยอดการผลิตสิ่งทอหมุนเวียนในซัพพลายเชน (ห่วงโซ่อุปทาน)ให้ครบวงจร ทั้งในประเทศ ก่อนเชื่อมยังต่างประเทศ จะสามารเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการผลิตทั่วไปหลายเท่า